ดร.แสงเทียน ปธ.ยุทธศาสตร์วิจัยสถาบันทิศทางไทย สวนกลับโฆษกก้าวไกล อย่าเอาแต่คะแนนเสียงคนรุ่นใหม่ ปม ครูลงโทษนร.คือ อาชญากร

0

บทความพิเศษ : อย่าตีตรา “ครูที่ลงโทษนักเรียนคือ อาชญากร”  โดย รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา ประธานยุทธศาสตร์วิจัยสถาบันทิศทางไทย

รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา
ประธานยุทธศาสตร์วิจัยสถาบันทิศทางไทย

จากกรณี ที่คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ได้ตำหนิครูที่ลงโทษนักเรียนโดยการกล้อนผม แต่ได้กล่าวถึงขนาด ครูที่ทำเป็น “อาชญากร” แม้จะมีกระแสถึงการทำผิดของครูมีอยู่หลายกรณีซึ่งเป็นครูที่ทำผิดกฎหมายจนทำให้ชื่อเสียงของความเป็นครูด่างพร้อยไปไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา แต่สังคมก็รู้และตระหนักดีว่า “ครู” คือคนสำคัญที่นำพาเยาวชนไปสู่เส้นทางที่เหมาะที่ควร เส้นทางของผู้จะมีความรู้เป็นอาวุธ

การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นก็เป็นเรื่องที่น่าจะดีถ้ามีเจตนาที่บริสุทธิ์ในการร่วมกันป้องกันสิ่งที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้นในทุกกลุ่มอาชีพ แต่ถ้าจะเอาผิดก็ควรดำเนินการให้เต็มที่ ให้คำปรึกษาและชี้เอาเหตุผลทางกฎหมายระเบียบของสังคมสำหรับผู้ปกครองหรือน้องนักเรียนก็คงไม่มีใครว่า ทำให้เต็มที่ เอาผิดให้ถึงที่สุด ถ้าเห็นว่าผิดกฎหมาย ผิดระเบียบข้อบังคับ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล

แต่การที่ตำหนิครูที่ทำโทษหรือลงโทษโดยใช้วาทกรรมว่าอาชญากร ดูมันจะเกินเลยไป การที่นำเรื่องจะเอาผิดตามมาตรา ๑๕๗ ก็รีบดำเนินการเลยอย่ารอช้า ว่าครูนั้นปฏิบัติฯ เพื่อให้เกิดความเสียหายแกผู้หนึ่งผู้ใด… แต่อย่าลืมว่าองค์ประกอบภายในของความผิดตามมาตรานี้คือนอกจากจะต้องปฏิบัติมิชอบแล้วก็ต้องดูเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดแก่ผู้หนึ่งผู้ใดคือจำเพาะว่าต้องเป็นนักเรียนที่ชื่อนั้นชื่อนี้หรือไม่ (ยุทธพงศ์ ปิ่นอนงค์, มิถุนายน ๒๕๕๙)

แต่ก็เป็นเรื่องทางการกฎหมายถ้าเหตุการณ์นี้เป็นการลงโทษที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎระเบียบซึ่งมีกำหนดใหม่ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.๒๕๖๓ แต่ คุณวิโรจน์ ก็ต้องไปดูว่าความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงไว้อย่างไรบ้างที่ไม่ขัดต่อระเบียบกระทรวงที่ประกาศเมื่อ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมาในข้อที่ ๗ อย่างไรก็ตามถ้าจะเอาผิดก็ทำให้เต็มที่เลย

เรื่องการทำโทษนักเรียนของครู เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง คิดง่ายๆ คิดเอาแต่ได้ พูดเอาเสียงเชียร์อย่างที่เขาว่ากันก็คงไม่เหมาะสมนัก คิดจะเอาใจนักเรียนซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว อยากทำอะไร ไว้ผมทรงอะไรก็เป็นเรื่องตามดุลยพินิจของผู้เรียนเอง

ใครๆก็รู้ว่าส่วนใหญ่ก็คิดแบบนี้ ลองพิจารณาดูให้ดีว่า ระหว่างดุลยพินิจของครูที่พิจารณาร่วมกับผู้ปกครอง กับดุลยพินิจของผู้เรียน ดุลยพินิจของใครจะมีความรอบคอบเหมาะสมกว่ากัน ถ้าพูดเอาแรงเชียร์มองว่าเป็นการพัฒนาตามยุคตามสมัยควรปล่อยไปตามดุลยพินิจของผู้เรียน มันจริงอย่างนั้นหรือไม่ ควรคิดไตร่ตรองกันให้ดี ทางออกที่ดีก็ควรดำเนินการร่วมกัน ทำข้อตกลงโดยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายทั้งผู้เรียน ผู้ปกครอง ครู ก็จะหาทางออกได้อย่างเหมาะสมมากกว่าแน่นอน

การจะพูดเอาคะแนน พูดเอาเสียงเชียร์จากคนรุ่นใหม่ ใครๆ ก็ทำได้ คือต่อสู้เพื่อให้เป็นไปตามแรงเชียร์ของผู้เรียนคือ ทุกอย่างควรอยู่ใน ดุลยพินิจของผู้เรียน เพียงฝ่ายเดียว ครูห้ามมายุ่ง ห้ามมาทำโทษเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น แน่นอนในช่วงที่ผ่านมา การกระทำผิดของครูก็สร้างรอยด่างพร้อยให้ครูอยู่ไม่น้อย ทั้งเรื่องการทำอนาจารกับนักเรียน การลงโทษด้วยความรุนแรง การใช้อารมณ์กับนักเรียน แต่นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่ทุกคนในสังคมเห็นร่วมกันอยู่แล้วว่า เป็น “ครูชั่ว”

แต่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับครูที่ลงโทษนักเรียนทั่วไป เพราะครูส่วนใหญ่ลงโทษนักเรียนด้วยความรักความปราถนาดี มีความประสงค์ให้นักเรียนซึ่งเป็นเหมือนลูกเหมือนหลาน ครูจำนวนมากทุ่มเทกายใจเพื่อนักเรียน แต่เมื่อนักเรียนทำผิดระเบียบก็จำต้องลงโทษทั้งๆที่บางครั้งลงโทษเสร็จก็ต้องแอบร้องให้ไปด้วย คุณมองเห็นภาพแบบนี้ในหัวใจบ้างหรือไม่ ถ้ามีอะไรก็โทษครูอย่างเดียว ระวังจะเกิด การปล่อยเด็กตามยถากรรมจะทำอะไรก็ช่างไม่เกี่ยวกับครูมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าใส่ใจนักเรียนมาก ลงโทษเพื่อให้ไปได้ถูกทิศ ถูกทางมากขึ้นกลับต้องถูกประนาณหยามหมิ่น เสี่ยงคุกเสี่ยงตารางอยู่ทุกวันที่จะต้องดูแลนักเรียน

ลองนึกดีๆ ครับ เมื่อเราโตขึ้น ย้อนกลับไปดูตอนที่เราเป็นนักเรียน คนจำนวนมากจะจดจำถึงคุณครูที่คอยจ้ำจี้ จ้ำไช ลงโทษเราอยู่เรื่อยๆ เราจะรักคุณครูคนนั้นเป็นพิเศษ จดจำท่านได้อย่างดี เพราะเรามองออกว่า ท่านทำด้วยความรัก ต้องการให้เราได้ดี เป็นคนดีของสังคม หรือจะต้องการครูที่ ให้คะแนนเกือบเต็มกับทุกคน ให้เกรด A หรือ ๔ ทุกคนในวิชานั้นๆ โดยไม่เคยสนใจนักเรียนเลย จะเป็นอย่างไรก็ช่างเห็นดีเห็นงามไปตามนักเรียนทุกอย่าง เด็กนักเรียนไม่มีใครเกลียด ซึ่งแตกต่างกับครูที่ตรงกันข้ามกันแบบข้างต้น ก็ลองคิดดูกันว่าต้องการครูแบบใด

         อย่าเข้าข้างเพื่อไปตามแรงเชียร์ ดูเท่ห์ ในสายตานักเรียน แต่กลับสร้างวาทกรรมเพื่อเหมารวมการทำโทษของครู ถึงขนาดหลุดคำว่า “อาชญากร” ออกมาตีตราครูที่ทำโทษนักเรียน ถ้าผิดก็ว่ากันไปตามผิด แต่ระวังให้ดีจะเกิดการปล่อยเด็กไม่ใส่ใจนักเรียนของครู ทุกวันที่โรงเรียนสอนแต่วิชาความรู้อย่างเดียว แม้จะกล้ำกลืนเพราะในใจครูทุกคนรู้ว่า ครู จะต้อง “สอน” ความรู้ และ “อบรม” บ่มนิสัยให้ศิษย์เป็นคนดีด้วย