จากกรณีที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศูนย์วิจัยวัคซีน พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ชื่อว่า CU-Cov19 พบผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็มที่สองได้ผลดี และจะเดินหน้าทดสอบในคนจิตอาสาต่อไป
โดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ แถลงตั้งแต่ปลายปีจนถึงปัจจุบันว่า การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลก สิ่งที่ทางทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้คิดค้นมาโดยตลอดคือการป้องกันซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
จากผลการทดลองที่หนูได้รับวัคซีนเข็มแรกระดับภูมิคุ้มกันขึ้นมาในระดับร้อย และฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นถึง 40,000 ซึ่งได้ทำการทดลองควบคู่กับลิง โดยฉีดในลิงเข็มแรกวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน ในวันที่ 22 มิถุนายน 2563 มีลิงทดลองทั้งหมด 13 ตัว และมีการเจาะเลือดติดตามทุก 15 วัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกลิง 5 ตัว จะได้รับวัคซีนโดสสูง คือมีความเข้มข้นระดับ 50 ไมโครกรัม กลุ่มที่ 2 ลิง 5 ตัว ที่จะได้รับวัคซีนเข้มข้นระดับ 5 ไมโครกรัม และกลุ่มที่ 3 ลิง 3 ตัว ซึ่งเป็นกลุ่ม Negative Control จะไม่ได้รับวัคซีน
สำหรับผลการตรวจเลือดลิงหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน CU-Cov19 กระตุ้นเข็มที่ 2 พบว่าลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น สุขภาพแข็งแรง และไม่มีผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน โดยเฉพาะในลิงกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนโดสสูงที่ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นกว่า 5,000
ความแตกต่างระดับภูมิคุ้มกันของหนูและลิงนั้นตกไปถึง 20 เท่า เพราะขนาดของตัว ระดับการตอบโต้ของภูมิคุ้มกัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่อาศัย เพราะหนูอาศัยอยู่ที่สกปรกอาจจะมีภูมิคุ้มกันได้ดี ซึ่งคาดว่าถ้าทดลองในคนอาจจะมีระดับภูมิคุ้มกันลดลงจากลิงไปอีก
ขั้นตอนต่อไปคือการเตรียมผลิต โดยอาทิตย์หน้าจะนำวัคซีน mRNA 2 ตัวที่ดีที่สุด ไปให้ 2 โรงงานได้ทำการผลิต แบ่งเป็น โรงงานที่ผลิตวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ทำโดยบริษัท TriLink สหรัฐอเมริกา และอีกโรงงานที่ผลิต LNP ส่วนผสมวัคซีน เพื่อใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เป็นของบริษัท Evonik ประเทศเยอรมันนี แต่ตั้งอยู่ในประเทศแคนาดา และได้เตรียมโรงงานไทย บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จํากัด ในการผลิตวัคซีน mRNA และตัวเคลือบวัคซีนด้วย จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต
ขณะที่เมื่อตรวจสอบทางสหรัฐอเมริกา พบมีรายงานว่าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ภายใต้โครงการ Operation Warp Speed ของรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งเป้าผลิตวัคซีนให้ได้ 300 ล้านโดส ช่วงเดือนมกราคมปีหน้า จากเดิมที่ปกติแล้ววัคซีนทั่วไปจะต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปีหรือมากกว่านั้นในการพัฒนา
รัฐบาลสหรัฐฯได้ทุ่มเงินกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ในการสนับสนุนการทดสอบวัคซีนของบริษัทยาหลายแห่ง ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 14 ชนิดที่ได้รับการพิจารณา และสหรัฐฯจะเลือกมาเพียง 7 ชนิดเพื่อนำมาผลิตวัคซีนให้ทันตามเป้าหมาย ขณะที่สภาสหรัฐฯ ได้อนุมัติงบประมาณเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับการพัฒนาวัคซีน การรักษา และการวินิจฉัยโควิด-19 โดยเฉพาะ
ด้านจีน ไชนาเนชันนัลไบโอเทคกรุ๊ปหรือซีเอ็นบีจี (CNBG) ของจีนเปิดเผยว่า วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่กำลังทดลองอยู่ผ่านการทดลองทางคลินิกกับคนในระยะหนึ่งและระยะสองแล้ว มีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของอาสาสมัคร โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นเชื้อตายของไวรัส Sars-CoV-2 ที่ทำให้เป็นโรคโควิด-19 พัฒนาโดยสถาบันผลิตภัณฑ์ชีววิทยาอู่ฮั่นในเครือซีเอ็นบีจี
เริ่มทดลองทางคลินิกในมณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางของประเทศเมื่อเดือนเมษายนด้วยการฉีดปริมาณน้อย ปานกลาง และมากให้แก่อาสาสมัครอายุ 18-59 ปี ก่อนฉีดซ้ำในอีกสองสัปดาห์ สามสัปดาห์ และสี่สัปดาห์ต่อมาเพื่อศึกษาความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ พบว่าอาสาสมัครทุกคนมีสารภูมิต้านทานสูง ช่วยยับยั้งไม่ให้ไวรัสทำให้เซลล์ติดเชื้อ และไม่เกิดผลไม่พึงประสงค์
ปัจจุบันจีนกำลังทดลองทางคลินิกกับวัคซีน 5 ขนาน ในจำนวนนี้ 4 ขนานเป็นการใช้เชื้อตาย ส่วนอีกหนึ่งขนานเป็นการใช้ไวรัสอะดีโนเป็นพาหะ ชิโนแวกไบโอเทค ผู้ผลิตวัคซีนในกรุงปักกิ่งของจีนเปิดเผยว่า วัคซีนที่กำลังทดลองทางคลินิกในระยะหนึ่งและระยะสองทำให้อาสาสมัครกว่าร้อยละ 90 สร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ หลังจากรับการฉีดไปสองครั้ง ห่างกันสองสัปดาห์ เตรียมยื่นขอทดลองระยะสามในต่างประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตาม พบว่า ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยรักษาผู้ป่วยโควิด -19 หาย 3,000 กว่าราย