จากที่วันนี้ (9 ก.ค.63) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์รายวันว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 5 รายนั้น
ทั้งนี้ หายป่วยแล้ว 3,085 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,202 ราย เสียชีวิตสะสม 58 ราย สำหรับผู้ติดเชื้อเพิ่ม 5 ราย เป็นผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และอยู่ในสถานกักกันของรัฐ โดยทั้ง 5 รายนั้น เดินทางกลับมาจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4 ราย แยกเป็น เพศชาย 3 ราย หญิง 1 ราย อาชีพรับจ้าง ส่วนอีก 1 ราย เป็นนักศึกษาชาย อายุ 22 ปี เดินทางกลับมาจากประเทศอียิปต์
สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 12,164,173 ราย อาการรุนแรง 58,319 ราย รักษาหายแล้ว 7,030,006 ราย เสียชีวิต 552,029 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 3,158,932 ราย 2. บราซิล จำนวน 1,716,196 ราย 3. อินเดีย จำนวน 769,052 ราย 4. รัสเซีย จำนวน 700,792 ราย และ 5. เปรู จำนวน 312,911 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 99 จำนวน 3,202 ราย
ด้านนายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศติดต่อกันเป็นวันที่ 44 แล้ว ทำให้สิ้นสุดการระบาดระลอกที่ 1 แล้ว แต่ไทยก็ยังต้องเตรียมการให้พร้อมเพื่อรองรับการระบาดระลอก 2 เนื่องจากทั่วโลกขณะนี้ยังคงมีการระบาดเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ขณะนพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ว่า องค์การอนามัยโลกกลับลำอีกแล้ว ยอมรับโรคไวรัสโควิด-19 ติดต่อกันทางอากาศ
ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก คนเริ่มขาดความมั่นใจในคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ล่าช้า และกลับไปกลับมา จากเดิมที่เคยบอกว่าไม่มีหลักฐานยืนยันมากพอว่า หน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาเป็นทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเวลาออกไปในที่สาธารณะ จากเดิมคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถ้าไม่มีอาการ โอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นน้อยมาก เปลี่ยนมาเป็นคนไม่มีอาการก็แพร่เชื้อได้
เนื่องจากองค์การอนามัยโลก ยังยืนยันต่อเนื่องว่าโรคไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้แค่ 2 วิธี คือโดยหายใจรับเชื้อในละอองขนาดใหญ่ (droplet) ที่คนป่วยขับออกมาเวลาพูด ไอ จามในระยะใกล้ชิด 1 เมตรเข้าร่างกายโดยตรง และผ่านละอองใหญ่ที่มีเชื้อไวรัสตกลงบนพื้นผิวเวลาผู้ป่วยพูด ไอ จาม คนอื่นไปสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้วเอามือไปจับตา จับจมูก
องค์การอนามัยโลกให้ความสําคัญกับการติดเชื้อทางมือจากพื้นผิวมากกว่าการหายใจเอาละอองน้ำลายเข้าโดยตรง เน้นให้ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อยๆ และล้างมือบ่อยๆ ขฌะที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ (CDC) ได้ลดความสำคัญของการติดต่อทางสัมผัส ว่าสำคัญน้อยกว่าการติดต่อทางการขับละอองเสมหะออกมาโดยตรงเวลาพูด ตะโกน ร้องเพลง ไอ จาม