แถลงการณ์สถาบันทิศทางไทยถึงรัฐบาลและสังคมไทย
.
เรื่อง เสนอให้รัฐบาลใช้กฎหมายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อจัดการวิกฤติ Covid-19 ในเชิงรุกและเป็นบูรณาการ
.
นับจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในวันที่ 22 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลโดยเฉพาะหน่วยงานและบุคลากรด้านสาธารณสุขได้รับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างดี จนได้รับคำชมจากนานาประเทศ อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังได้รับฟังคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์หลายท่านด้วยการเข้าพบปะหารือพูดคุยด้วยตัวเอง ตลอดถึงล่าสุดนั้นนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายกับศูนย์ Covid-19 เพื่อเตรียมรับมือการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 และพร้อมปิดเมืองทันทีถ้าสถานการณ์รุนแรงแล้ว
.
ทั้งนี้มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ออกมาแล้วนั้นรวมถึงส่วนที่เตรียมการล่วงหน้าเอาไว้แล้ว สะท้อนว่ารัฐบาลประเมินสถานการณ์และวิธีการรับมือมาถูกทางแล้ว โดยเฉพาะในสถานการณ์ในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” คือ
.
1. ล่าสุด(18 มีนาคม 2563) มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละกว่า 30 คนเป็นเวลา 4 วันต่อเนื่อง คือเพิ่มขึ้นจากช่วงแรก (22 มกราคม 2563-11 มีนาคม 2563) 30 เท่า ซึ่งถ้ามีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อเท่าตัวต่อเนื่องกัน 3 วันขึ้นไปก็ถือว่ามีความเสี่ยงแล้ว
.
2. มีการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 กระจายไปในหลายพื้นที่นอกกรุงเทพฯและปริมณฑล คือ ขอนแก่น สมุทรปราการ เชียงใหม่ สุโขทัย นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เพชรบูรณ์
.
3. ตามหลักระบาดวิทยามีความเป็นไปได้ของตัวเลขผู้ติดเชื้อแฝง(ที่ไม่แสดงอาการ แต่เป็นพาหะได้)มากกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยืนยัน(confirm cases) 30 เท่า คือถึงวันที่ 18 มีนาคม 2563 มีรายงานผู้ติดเชื้อ 212 คน เท่ากับ อาจมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ 6,360 คน ที่พร้อมจะทำให้อัตราการแพร่ระบาดของเชื้อ “เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด” (Exponential) ภายในเวลาอันรวดเร็ว
.
4. จากข้อมูลของ 9 ประเทศ คือ จีน เกาหลี อิตาลี อิหร่าน ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน อเมริกา อังกฤษ ที่เปิดเผยโดย www.worldometers.info พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นจาก 100 เป็น 1,000 ภายในค่าเฉลี่ยคือ 7 วันเท่านั้น
.
ตาม “แผนคาดการณ์การระบาดและมาตรการในระยะที่ 3 ของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข” เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในระยะที่ 3 อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมานั้นเป็นการดำเนินการแบบตั้งรับที่เหมาะสมกับช่วงแรกที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่มาก ซึ่งอาศัยอำนาจทางกฎหมายตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พศ.2558 เป็นหลัก แต่อาจไม่เหมาะสมกับอัตราการแพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกในการรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของการลดขั้นตอนการสั่งการในระบบราชการ รวมถึงเพิ่มอำนาจในการจัดการกับความล่าช้าของเจ้าหน้าที่หรือการกักตุนสินค้าควบคุม การบูรณาการยุทธศาสตร์เชิงรุกจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาในทุกมิติไปพร้อมๆกัน การพร้อมรับมือด้านความมั่นคง อันเนื่องจากความโกลาหล อาชญากรรม อันอาจจะเกิดขึ้นได้
.
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะพิจารณาประกาศใช้ “พ.ร.ก. ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548” ซึ่ง “สถานการณ์ฉุกเฉิน” (State of Emergency)หมายความว่า “…สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน…ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ…” (ม.4)
.
ซึ่งข้อดีของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ การรวมศูนย์อำนาจบัญชาการแก้ไขสถานการณ์ไว้ที่ “ศูนย์เดียว” กล่าวคือ “…ในพื้นที่ใดที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งหรือหลายกระทรวง หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายใดก็ตาม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน จะโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว…” (ม.7 ว.1)
.
รวมถึง “…คณะรัฐมนตรียังมีอำนาจกำหนดให้ อำนาจหน้าที่บางส่วนหรือทั้งหมดที่กฎหมายมีให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใด กลายมาเป็นของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวด้วย…” (ม.7 ว.2)
.
หรือ “…นายกรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนหนึ่งหรือหลายคน เป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีแทน หรือมอบหมายให้เขาเหล่านั้นเป็นผู้กำกับการปฏิบัติการของผู้เกี่ยวข้องได้ โดยในกรณีหลังนี้ ให้ถือว่าเขาเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว…” (ม.7 ว.6)
.
ซึ่งตาม ม.9 นายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจในการออกข้อกำหนดต่างๆได้ เพื่อให้จัดการสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
.
1. ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น เช่น ทูตหรือผู้แทนต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ
.
2. ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
.
3. ห้ามการเสนอข่าว…ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (เช่น fakenews) จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร
.
4. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
.
5. ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
.
6. ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด
.
โดย การประกาศว่าพื้นที่ใดกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และสมควรใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เข้าร่วมกันเยียวยาสถานการณ์นั้น เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยจะประกาศทั้งราชอาณาจักรหรือบางท้องที่ก็ได้ และประกาศนี้มีอายุใช้บังคับสามเดือนนับแต่วันประกาศ แต่นายกรัฐมนตรีอาจขยายอายุดังกล่าวได้คราวละไม่เกินสามเดือนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ม.5)
.
พึงต้องเข้าใจว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ เกิดการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 เกิดขึ้นก่อนถึงค่อยประกาศ และ ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงเกิดวิกฤติการเมืองจากการชุมนุม รัฐบาลในขณะนั้นก็ประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน แต่วิกฤติ Covid-19 ที่กำลังเกิดขึ้นนี้รุนแรงและร้ายแรงกว่าวิกฤติการเมืองมากมายนัก
.
ในวิกฤติที่เกิดขึ้น สังคมต้องการผู้นำที่กล้าตัดสินใจ เข้มแข็ง เด็ดขาด การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้เป็นไปด้วยจุดประสงค์นั้นคือ เพื่อให้อำนาจการสั่งการตามกฎหมายอยู่กับนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการมาตรการเชิงรุกและเป็นบูรณาการ ทั้งควบคุม และ ป้องกันโรค ดูผลกระทบต่อคนหาเช้ากินค่ำ สนับสนุนกลุ่มธุรกิจให้เดินไปได้อย่างช้าๆ อย่าให้หยุด รวมถึงการเตรียมแผนเชิงรุกรองรับเมื่อโลกเกิดภาวะถดถอยครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจ การรับมือกับต้องการอาหาร (ข้าว, หมู, ไก่, อาหารทะเล ฯลฯ) ของไทยและของโลก และปัญหาด้านอื่นๆรอบด้านที่อาจตามมา
.
เพื่อให้สังคมไทยเราก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน และ ประเทศไทยต้องชนะตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเอาไว้แล้ว
.
ด้วยความเคารพ
สถาบันทิศทางไทย