นักวิชาการทิศทางไทยเตือน!อย่าให้ “วิกฤตโรคร้ายกลายเป็นวิกฤตชาติ”

0

อย่าให้ “วิกฤตโรคร้ายกลายเป็นวิกฤตชาติ”

รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา อาจารย์ด้านเวชสารสนเทศ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิชาการสถาบันทิศทางไทย

 

จากกรณีที่มีการเกิดภัยพิบัติโรคร้ายของโลกจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากประเทศจีนแม้ในขณะนี้ (๑๔ มีนาคม ๒๕๖๓) ประเทศจีนจะมียอดผู้ติดเชื้อเกิน ๘๐,๐๐๐ แต่การติดเชื้อเพิ่มมีจำนวนน้อยลงมากและสามารถรักษาหายไปได้ถึงเกือบ ๖๕,๐๐๐ แต่จำนวนจนลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศอิตาลีที่มีผู้ติดเชื้อเกิน ๑๕,๐๐๐ และผู้ที่เสียชีวิตถึงพันกว่าคนใกล้เคียงกับผู้ที่สามารถรักษาหายแล้ว รวมทุกประเทศนอกประเทศจีนมีผู้ติดเชื้อเกือบ ๕๕,๐๐๐ คนซึ่งน่าสนใจก็คือมีผู้เสียชีวิตมากถึงเกือบ ๒,๐๐๐ คนแล้วในขณะที่จีนเสียชีวิตทั้งหมดเพียง ๓,๐๐๐ กว่าคนเท่านั้นซึ่งถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้อาจมีผู้เสียชีวิตนอกประเทศต้นตอของการระบาดโรคมีจำนวนมากกว่าก็อาจเป็นไปได้สูง ส่วนในประเทศไทยก็มีที่คงจำนวนไม่เกิน ๕๐ คนมาได้อย่างต่อเนื่องแต่ก็ต้องปรับเพิ่มจนใกล้เคียงหลักร้อยมากขึ้นจากการพบการป่วยแบบกลุ่มก้อน และเริ่มสืบย้อนไปยังต้นตอของผู้ที่แพร่เชื้อได้ยากมากขึ้นและยังมีความยุ่งยาก ซับซ้อนในการสอบสวนโรคมากขึ้น จนหลายฝ่ายอาจมีความกังวลว่านี่คือ การก้าวเข้าสู่ระยะที่ ๓ ของการระบาดในประเทศไทยแล้วหรือไม่

จากสถานการณ์ดังกล่าวนับว่าน่าจะมีกังวลต่อพี่น้องประชาชนโดยทั่วไปอยู่พอสมควร เนื่องจากการได้รับข้อมูลว่าประเทศไทยมีการเตือนภัยในระดบ ๓ แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องให้ควาทมรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนว่า ระดับที่เกี่ยวข้องกับภัยโรคร้ายโควิด-19 ในครั้งนี้ มีระยะและระดับมีหลายประเภทดังนี้

๑) ระยะของการระบาด แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือระยะที่ ๑ แค่มีความเสียงที่จะระบาดเข้ามาสู่คน หรือจากพื้นที่ต้นตอ ระยะที่ ๒ ระบาดจากคนสู่คนแล้วเข้ามาในพื้นที่แล้วแต่ยังอยู่ในวงจำกัดหรือวงแคบ ยังสามารถสืบหาต้นตอของการระบาดและจำกัดวงของการระบาดได้ ส่วนระยะที่ ๓ จะเป็นระยะที่มีการระบาดออกไปในวงกว้างของประเทศ โดยไม่ทราบว่าติดมาจากใคร จากแหล่งใดในประเทศแล้ว

๒) ระดับของการเตือนภัย รูปแบบของการจัดระดับการเตือนภัยมีหลากหลายประเภททั้งการเตือนภัยพิบัติทั่วไป ที่เกี่ยวข้องกับ สบ.อช. หรือ สำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ กบอ.หรือกองบัญชาการและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และศูนเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก็จะมีระดับการเตือนภัย ๔ ระดับคือ ระดับที่ ๑-๔ คือ สาธารณภัยขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่-และร้ายแรงอย่างยิ่ง แต่ในสถานการณ์ของภัยจากโรคระบาดก็จะมีการประกาศในลักษณะของจำนวนระดับเหมือนกัน แต่๑-๒ จะให้ระมัดระวัง โดยมีความสำคัญอยู่ที่ระดับ ๓ คือ หลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง และในระดับที่ ๔ คือห้ามเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำหนดระดับของการเตือนภัยอยู่ที่ระดับ ๓ และอาจยกระดับขึ้นสู่ระดับ ๔ หากสถานการณ์เลวร้ายขึ้น

๓) ระดับของการระบาดที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) มีจำนวน ๖ ระดับ โดยแบ่งเป็น ๓ ระดับใหญ่ คือ ระดับใหญ่ที่ ๑ มีระดับอยู่ที่ระดับ ๑-๒ เป็นระยะ Interpandemic period ซึ่งเป็นระยะที่พบในสัตว์ และระยะที่เสี่ยงจะติดในคน ระดับใหญ่ที่ ๒ มีระดับอยู่ที่ระดับ ๓-๕ เป็นระยะ Pandemic alert period ซึ่งเป็นระยะที่กระจายจากคนสู่คนทีสัมผัสใกล้ชิด, อยู่ในวงจำกัด และเป็นระยะที่ไวรัสปรับเข้าร่างกายได้มากขึ้น ส่วนระดับใหญ่ที่ ๓ เป็นระยะ Pandemic period ซึ่งมีระดับอยู่ที่ระดับสุดท้ายคือระดับ ๖ เป็นระยะที่ไวรัสมีการปรับตัวแพร่เข้าสู่มนุษย์รุนแรงขึ้นกระจายโดยมีการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลกเพิ่งประกาศไปเมื่อ ๑๑ มีนาคม ที่ผ่านมา

(WHO cited by China daily (http://www.chinadaily.com.cn/), 14 Mar 2020)

เมื่อพิจารณาจากระดับต่างๆ แล้วก็ต้องทำความเข้าใจให้ประชาชนรับรู้อย่างข้อมูลที่ถูกต้องออกไปในวงกว้างเกี่ยวกับระดับต่างๆ ที่อาจมีการยกระดับมากขึ้นในอนาคต และควรมีการชี้แจงการดำเนินการตามแผนเมื่อมีการยกระดับขึ้นในอนาคต เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและไม่ตื่นตระหนก ต้องมีการสื่อสารจากสถานการณ์ที่อาจเกิดกรณีเลวร้าย (Worst Case) เพื่อเตรียมความพร้อมของประชาชน พื้นที่ และการจัดการในทุกมิติทั้งด้านการแพทย์ การป้องกันการกักตุนสินค้า การชี้แนวทางการดำเนินการเมื่อเผชิญเหตุ ทำให้สังคมได้ตระหนักรู้ควบคู่ไปกับการแถลงสถานการณ์จริงของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข

การดำเนินการให้ประชาชนได้รับทราบวิธีการดำเนินการหรือแนวทางการปฏิบัติตั้งแต่ยังไม่เกิดเหตุการณ์นับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะประเทศไทยอาจมีข้อจำกัดมากมายที่ไม่อาจดำเนินการปิดพื้นที่อย่างเด็ดขาด การระดมสรรพกำลังในทุกด้านอย่างประเทศใหญ่แบบจีนได้ ประเทศไทยอาจเป็นเช่นที่ประเทศอิตาลีประสบอยู่ในณะนี้

 

ขอให้ช่วยกันทุกฝ่าย อะไรที่สามารถช่วยได้ก็ต้องช่วยอย่างเต็มความสามารถ ไม่รอการช่วยเหลือจากรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว ผู้ที่มีความรู้ก็พยายามให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน เพราะในขณะนี้การมีวิกฤตซ้อนวิกฤตหลายด้านมากทั้งวิกฤตฝุ่นควัน-วิกฤตภัยแล้ง-ฯลฯ แล้วยังมีการพยายามสร้างวิกฤตจากการต่อสู้กันทางการเมือง ที่มุ่งให้เกิด วิกฤตศรัทธาต่อผู้นำประเทศ และต่อรัฐบาล

 

สถาบันทิศทางไทย ขอเรียกร้องให้มีการดำเนินการให้ความรู้ความเข้าใจ มีการจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ร้ายโดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและสื่อสารไปยังประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา ทุกฝ่ายทุ่มเททำงานโดยไม่เห็นแก่ความได้เปรียบทางการเมือง การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนไป เพื่อไม่ให้ “วิกฤตโรคร้ายกลายเป็นวิกฤตชาติ”