ผู้ป่วยจาก 17 ประเทศ รวม 1,700 รายจองรักษากับหมอไทย ย้ำไม่ใช่เปิดให้นทท.มาแบบเสรี

0

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้อธิบายถึงแผนการนำเสนอร่างการจัดการข้อปฏิบัติการรับผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศ หรือ Medical and wellness Program ที่เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.

โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. จะเปิดให้มีการเข้าประเทศไทยในลักษณะของ Medical and wellness Program สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ใช่จากโควิด-19 ที่ต้องการเดินทางมารักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งจะเรียกว่า Hospital Quarantine คือ ผู้เดินทางเข้ามาต้องถูกกักตัวในโรงพยาบาล 14 วัน แม้ว่าการรักษาพยาบาลจะเสร็จสิ้นแล้ว

ทั้งนี้ ระยะต่อไปถ้าทำได้ดีในวันที่ 1 ส.ค.นี้จะวางแผนรับผู้ป่วยที่ไม่ใช่จากโควิด-19 เช่น เสริมความงาม หรือรักษาโรคระยะสั้น แต่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลอย่างน้อย 14 วัน หากอยู่ต่ออยากไปเที่ยวก็ถือว่ามั่นใจได้ว่าปลอดเชื้อจะให้เดินทางไปได้ทุกที่ เป็นการขยายโปรแกรม “การท่องเที่ยวสุขภาพดีวิถีใหม่” ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น สปา รีทรีท สมุนไพร หรืออยู่ในโรงแรมที่แยกออกมาชัดเจน

ส่วน Travel Bubble คาดว่าจะเริ่มในวันที่ 1 ก.ย. ถ้าระยะแรก ระยะสองผ่านไปได้ดี โดยให้เพียงกลุ่มเฉพาะที่รัฐบาลมั่นใจจะสามารถดูแลได้ ซึ่งตรงนี้เน้นย้ำว่าไม่ใช่การเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเสรี แต่ให้เข้ามาเฉพาะ 11 กลุ่มเท่านั้น เพื่อมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งอนุญาตให้เฉพาะผู้เดินทางเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น นักธุรกิจ โดยไม่รวมถึงการมาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมโรงพยาบาลไว้ โดยผู้ที่เข้ามารักษาต้องอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่รัฐบาลอนุญาต ต้องอยู่ในโรงพยาบาล 14 วัน

โดยขณะนี้มีโรงพยาบาลสมัครเข้าร่วม 62 แห่งแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า มีคนลงทะเบียนแล้ว 17 ประเทศ เช่น เมียนมา 478 คน กัมพูชา 477 คน เวียดนาม 39 คน จีน 69 คน การ์ตา 95 คน ซาอุดีอาระเบีย 14 คน โอมาน 187 คูเวต 137 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 223 คน รวมแล้วกว่า 1,700 คน

อย่างไรก็ตาม ส่วนกรณีที่กังวลคนเข้ามาประเทศไทยกันจำนวนมาก หากเกิดการระบาดรอบ 2 จะทำอย่างไร เรื่องนี้ได้ให้ฝ่ายสาธารณสุขดูแลทรัพยากร เตียง บุคลากร เผื่อไว้ด้วย ถ้ามีการระบาดต้องไม่เกิดแย่งใช้ทรัพยากรซึ่งกันและกัน (นพ.ทวีศิลป์ กล่าว)