แถลงการณ์สถาบันทิศทางไทยถึงรัฐบาลและสังคมไทย
เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในสถานการณ์วิกฤต Covid-19
สืบเนื่องจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการตามปกติในยามที่เศรษฐกิจหดตัว ที่ต้องมีการดำเนินนโยบายทางการคลังแบบขยายตัว (Expansion Monetary Policy) นโยบายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในภาวะชะลอตัวในหลายภาคส่วนและมุ่งช่วยเหลือเกษตรกร คนยากจน คนตกงาน ซึ่งมีผลดีในการเยียวยาความเดือดร้อนในระยะสั้น
สถาบันทิศทางไทยในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมตระหนักในความหวังดีของรัฐบาล ที่มีต่อประชาชน แต่ก็มีข้อสังเกตที่ขอนำเสนอต่อสังคมไทยและรัฐบาลไทยดังนี้
1. การช่วยเหลือประชาชนดังกล่าวไม่อาจก่อผลทวีคูณทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นการหมุนเวียนได้มากเมื่อเทียบกับตัวเงินที่ลงไปมหาศาล เพราะเป็นการจับจ่ายในภาวะที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้โรงงานและระบบการผลิตหยุดชะงักลงจึงยากที่จะเกิดการหมุนเวียนได้จริง
2. ความจำเป็นเร่งด่วนในวิกฤต Covid-19 คือต้นตอของปัญหาทางเศรษฐกิจ ภาครัฐควรนำเงินดังกล่าวมาแก้ไขปัญหาฉุกเฉินนี้เป็นลำดับแรกสุด
จากงบประมาณปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้งบประมาณ 1.38 แสนล้าน แต่งบประมาณการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อยู่เฉพาะในส่วนของ “โรคอุบัติใหม่” เท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ได้ทำไปแล้วก็คือการอนุมัติให้โรคโควิด-19 อยู่ในประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยมีงบประมาณ
1. งบประมาณจำนวน 1,020 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายในกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
2. (จะ)ขอเพิ่มงบกลางปีจำนวน 3,500 ล้านบาท มาใช้เป็นค่ารักษาโรคนี้ในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปีงบ ประมาณ 2563
3. โครงการ “พลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรน่า” 225 ล้าน เพื่อผลิตหน้ากาก
4. กองทุนรับบริจาคโควิด-19 (เพื่อให้ ครม.บริจาคเงินช่วยเหลือได้โดยไม่ติดขัดข้อระเบียบปฏิบัติ)
(หมายเหตุ: ตัวเลขค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย(ตามจริง) อยู่ที่ 80,000 บาท(ขั้นต่ำ) และ ในบรรดาผู้ป่วย 48 รายมีเพียงรายเดียวที่มีสิทธิใช้บัตรทอง)
ทั้งนี้รัฐบาลควรมีแบบจำลองของการแพร่ระบาดในประเทศที่ชัดเจนเพื่อประเมินการรับมือและการบริหารจัดการวิกฤติได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นลำดับแรก เพราะเป็น “แนวหน้า” ในวิกฤต Covid-19 หากแก้ไขปัญหาได้ไว การติดเชื้อไม่ขยายตัว ผลในทางเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็วเองแบบในกรณีประเทศจีน
3. โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวใช้เม็ดเงินมหาศาลเป็นการให้เปล่า ซึ่งหากนำไปพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร รองรับวิกฤตทั้งช่วงสั้นและช่วงยาว จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะวิกฤตที่ภาคชนบทกำลังดูดซับแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ปิดตัวลงจากผลกระทบของวิกฤตการกวาดล้างทางเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีใหม่และวิกฤต Covid-19 รวมถึงการจัดการวิกฤตภัยแล้งที่จะเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเมื่อเกิดวิกฤต Covid-19 ซ้ำเติม
ซึ่งจากตัวเลขผลกระทบต่อภาคเกษตรในปี 2562 มีพื้นที่เสียหาย 19 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 100,041 ราย พื้นที่เสียหาย 990,792 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 878,751 ไร่, พืชไร่ 111,546 ไร่ พืชสวน 495 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 1.1 พันล้านบาท
ประเมินผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 อาจทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงจาก 131 ล้านตันอ้อยเหลือ 75 ล้านตันอ้อย (กว่า40%) สำหรับภาพรวมจะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 17,000-19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นราว 0.10-0.11% ของ GDP
ซึ่งตัวเลขนี้เป็นการประเมินโดยไม่รวมสถานการณ์วิกฤต Covid-19 เข้าไปด้วย ซึ่งหากผลกระทบต่อภาคเกษตรเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ความหนักหน่วงของปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตามมาก็จะมากยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งในครั้งนั้นภาคเกษตรไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
สถาบันทิศทางไทยจึงขอฝากความห่วงใยและแสดงความคิดเห็นเป็นข้อทักท้วงแก่สังคมและรัฐบาลเพื่อร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
สถาบันทิศทางไทย