ปลอดประสพ ขรก.ผู้ทำลายคุณธรรมข้าราชการ !?! ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว???

0

(1) 26 ก.พ.63 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ที่วิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นจำเลย

(2) ทั้งนี้ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

(3) ในวันนี้เป็นการนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งที่ 2 เคยมีการเลื่อนอ่านคำพิพากษามาแล้ว ปรากฏว่า ปลอดประสพ ไม่มาศาล โดยยื่นคำร้องขอเลื่อนอีกระบุว่ามีอาการป่วย แต่ศาลพิจารณายกคำร้องของนายปลอดประสพ และมีคำสั่งปรับนายประกัน 400,000 บาท พร้อมให้ออกหมายจับปลอดประสพ มาฟังคำพิพากษาฎีกา 7 เม.ย.63

(4) 5 มี.ค.63 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ปลอดประสพ อายุ 75 ปี ได้เดินทางมารายงานตัวต่อศาลก่อนถึงกำหนดนัดวันที่ 7 เม.ย.พร้อมขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งปลอดประสพมีอาการป่วย ใส่หน้ากากอนามัยและนั่งรถเข็นมาศาล

(5) ต่อมาเวลา 14.25 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ โดยคำฟ้องโจทก์ระบเมื่อ 4 ก.ย. 2546 บรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรฯขณะนั้น แต่งตั้ง วิฑูรย์ โจทก์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรฯ

(6) 1 ต.ค. 2546 – 12 พ.ย. 2556 จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2546 ให้ระงับแต่งตั้งโจทก์โดยให้ถือว่าเป็นการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อนอันเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบเพื่อยังยั้งไม่ให้ โจทก์ได้เลื่อนตำแหน่ง สาเหตุเนื่องจากโจทก์กับจำเลยมีเรื่องโกรธเคืองในเรื่องส่วนตัวกันมาก่อน

(7) 12 พ.ย. 46 จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ ด้วยการให้ดำรงค์ พิเดช ออกคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 543/2546 ย้ายโจทก์ไปตำแหน่ง “ป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ” ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 8 เป็นการย้ายให้ปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม และไม่ใช่ความจำเป็นที่ต้องรีบดำเนินการ และจำเลยก็ทราบดีว่า ดำรงค์ ไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์

(8) ดังนั้นคำสั่งย้ายที่จำเลยให้ความเห็นชอบนั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นผลให้โจทก์ ได้รับความเสียหายต่อเสียชื่อเสียง และเสียสิทธิไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นระดับ 9 จึงขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท โดยปลอดประสพ จำเลย ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีโดยตลอด

(9) 29 มี.ค.60 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหายทั้งที่โจทก์มีคุณสมบัติจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารได้ จึงให้จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา ไว้ 2 ปี และให้จำเลย ชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย 1.4 ล้านบาท

(10) 17 เ.ม.ย.61 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา โจทก์กับจำเลยเคยมีข้อพิพาทกันเมื่อปี 2541 การที่จำเลยให้ยกเลิกคำสั่งนั้นจึงกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายและน่าเชื่อว่ามาจากกรณีจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองโจทก์มาก่อนและเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ การกระทำของจำเลยอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการได้ พฤติการณ์นับว่าเป็นความผิดร้ายแรง

(10.1) จึงไม่เห็นสมควรรอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ฯ จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิด ตาม ม.157 ประกอบมาตรา 84 อีกกรรมหนึ่งที่ใช้ให้ดำรงค์โยกย้ายโจทก์ จึงให้จำคุก 2 กระทงๆ ละ 1 ปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ

(11) ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกา ชี้ว่าการที่จำเลยอ้างว่ามีปัญหาเรื่องตำแหน่งใหม่ของโจทก์ เมื่อมีการโอนย้ายสังกัดกรมป่าไม้จากกระทรวงเกษตรฯ มาสังกัดกระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งตำแหน่ง ผอ.สำนักงานวิชาการ 9 นั้น ก็จะมีกระบวนการสรรหาผู้มีคุณสมบัติซึ่งโจทก์ก็มีคุณสมบัติ ต่างจากที่จำเลยอ้าง

(11.1) ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายระบบราชการนอกจากความเหมาะสมแล้วจะต้องคำนึงถึงคุณธรรมและธรรมาภิบาล แต่เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ของจำเลยแล้ว เป็นการกระทำที่ทำลายระบบคุณธรรมและธรรมาภิบาลในระบบราชการ จึงไม่ควรรอการลงโทษ

(11.2) ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ให้จำคุกรวม 1 ปี 8 เดือน

(12) สำหรับ ปลอดประสพ เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคติดตามการทำงานของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

(13) ปลอดประสพ รับราชการในกระทรวงเกษตรฯ ได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมประมง  เป็นรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ต่อมาได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ

(14) ในปี 2548 ปลอดประสพ เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากคณะกรรมการของคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ พิจารณาไม่มีผิดทางวินัยจากอนุมัติการส่งออกเสือโคร่ง 100 ตัวไปยังประเทศจีน

(14.1) แม้ว่าก่อนนั้นคณะกรรมการของ พันตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย จะวินิจฉัยว่าปลอดประสพ มีความผิด และในปีต่อมาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรฯ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรมตามลำดับ

(15) สมัย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งปลด ปลอดประสพ ออกจากราชการ 15 ธ.ค. 50 ให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ 28 มี.ค. 2548 โดยการชี้มูลความผิดจากป.ป.ช. ปลอดประสพ ลงนามอนุมัติคำขอส่งออกเสือโคร่ง 100 ตัวไปยังสวนสัตว์ซอนยาประเทศจีน

(15.1) โดยป.ป.ช. พิจารณาว่าเจตนาดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อการวิจัยตามกล่าวอ้างและถือเป็นความผิดขั้นร้ายแรง แต่ปลอดประสพได้นำ พ.ร.บ. ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 เพื่อขอใช้สิทธิลงสมัครส.ส.พรรคพลังประชาชน

(16) ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาว่า พรบ.ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 มาตรา 6 ระบุมิให้ลงโทษกับผู้ซึ่งได้รับการลงโทษหรือได้รับพิจารณาว่าไม่มีความผิดไปแล้ว กรณีนี้ปลอดประสพ เคยได้รับการพิจารณาว่าไม่มีความผิดและนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ให้ความเห็นชอบและยุติเรื่อง

(17) ปลอดประสพ ถือครองที่ดินมากที่สุดในคณะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมมูลค่า 807,542,000 บาท

(18) 7 พ.ค.57 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ จากกรณีย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาฯสมช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(18.1) รวมทั้งครม.ที่ร่วมเห็นชอบโยกย้าย 9 คน คือ ที่ต้องสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรีไปด้วย และหนึ่งในนั้นก็เป็น ปลอดประสพ ที่วันนี้ต้องเข้าไปนอนในคุกด้วยวัย75ปี!?!

 

#ปอกเปลือก#ปอกให้เห็นความจริง