จากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทั้งเสียชีวิตและป่วย ส่งผลให้หลายประเทศต้องหาทางรักษาโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนเพื่อนำมาใช้ป้องกันโรคโควิด-19
สำหรับประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาวัคซีนไปพร้อมกับต่างประเทศด้วยเช่นกันซึ่งตามประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ขณะนี้ มีรายชื่อวัคซีนที่อยู่ในกระบวนการวิจัยทดลองทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 142 รายการ โดยอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ 13 รายการ และที่เหลืออีกจำนวน 129 รายการ อยู่ในกระบวนการวิจัยในหลอดทดลองและในสัตว์
“ประเทศไทยมีวัคซีนที่อยู่ในรายชื่อตามประกาศขององค์การอนามัยโลกจำนวน 6 รายการ ซึ่งในจำนวนนี้มีวัคซีนจาก 2 หน่วยงานที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนามากที่สุด คือ วัคซีนชนิด mRNA จากศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวัคซีนชนิด DNA ของบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด โดยมีผลการศึกษาในสัตว์ทดลองขั้นแรกเป็นที่น่าพอใจ และจะเริ่มวิจัยในมนุษย์ต่อไป”
ทั้งนี้ นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า อย. ได้เตรียมความพร้อมในการรองรับการขึ้นทะเบียนวัคซีน โดยยึดหลักความรวดเร็ว ขณะเดียวกันต้องเป็นไปตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญต้องมีความปลอดภัย
โดย อย. ได้เข้าร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่ดำเนินการวิจัยตั้งแต่เริ่มโครงการ และมีการติดตามความก้าวหน้าในทุกกระบวนการอย่างใกล้ชิด ทั้งการให้คำแนะนำ รวมถึงวางแผนไปจนจบกระบวนการที่จะสามารถผลิตเป็นวัคซีนออกมาได้ เพื่อให้ทุกขั้นตอนถูกต้องและเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล
อย่างไรก็ตาม อย. ทราบถึงความจำเป็นของสถานการณ์การแพร่กระจายของโรคที่ต้องมีวัคซีนมาใช้โดยเร็ว กรณีบางขั้นตอนหากผู้วิจัยคิดว่าอาจจะไม่จำเป็นหรือสามารถข้ามขั้นตอนนั้นไปได้ อย. พร้อมให้การพิจารณาสนับสนุนให้การพัฒนาวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่เน้นย้ำว่าในการข้ามขั้นตอนนั้นจะต้องมีข้อมูลวิชาการมายืนยัน และต้องมีมาตรฐานไปในทิศทางเดียวกับกติกาสากลขององค์การอนามัยโลก
นอกจากการสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศแล้ว อย. ยังได้ติดตามสถานการณ์การพัฒนาวัคซีนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยได้เตรียมความพร้อมในการรองรับการขึ้นทะเบียนในสถานการณ์เร่งด่วนกรณีที่มีการทดลองวัคซีนในมนุษย์สำเร็จ
“อย.สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 โดยวัคซีนต้องมีความความปลอดภัย และได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ดังนั้นขอให้เชื่อมั่นในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติทะเบียนเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค”