ถอดบทเรียนโควิด -19จากจีน!?! ทำไมยอดติดเชื้อลดลงมากกว่า50%

0

(1) 4 มี.ค.63 หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกบทความ “บทเรียนจากประเทศจีนที่เราละเลยหรือเปล่า ?” ระบุว่า เป็นเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้นนับตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562 ที่เกิดมีผู้ป่วยรายแรกในประเทศจีนที่อู่ฮั่น โดยมีสาระสำคัญบางส่วนระบุว่า…

(2) บทเรียนแรก การตื่นตระหนก หรือการเตือนภัยแต่เริ่มต้น ? ความใส่ใจในปรากฏการณ์ที่แปลกและน่ากลัวจากหมอจีนไม่กี่คน และทำให้มีการส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการเอกชนที่สามารถทำการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสได้ทั้งตัว สองแห่ง

(2.1) แห่งแรกพบว่าเป็นไวรัสคล้ายซาร์ส แห่งที่สองเป็นซาร์ส และนำมาซึ่งการเตือนกันเอง  ให้ระมัดระวังตัว จนถูกตำรวจสอบสวนให้ปิดปาก  ผลสรุป ในวันที่ 27 ถึงวาคม  2562 เป็นไวรัสคล้ายซาร์ส

(2.2) ในเดือนธันวาคมนั้นเอง มีการระบาดระลอกแรก พบว่าผู้ป่วยรายแรกเป็นการติดต่อจากคนสู่คนโดยประเมินกันว่าการติดต่อจากสัตว์สู่คนน่าจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนและพัฒนาอย่างรวดเร็ว

(2.3) ความกลัวในการที่จะมีความตื่นตระหนกทำให้เกิดความล่าช้าไปประมาณสองถึงสามสัปดาห์ ซึ่งก็เพียงพอแล้วสำหรับไวรัสตัวนี้ในการแพร่ออกไปจากแหล่งเดียว  การกลัวการตื่นตระหนก แทนที่จะรับทราบสถานการณ์และเตือนภัยโดยเร็วที่สุดกลับกลายเป็นสถานการณ์ระดับโลก

(3) บทเรียนที่สอง  การยึดถือมาตรฐานการวินิจฉัยด้วยวิธีอณูชีววิทยา : ไม่จำเป็นเสมอไป ประเทศจีนตระหนักถึงข้อจำกัดของการใช้วิธีอณูชีววิทยาหรือ RT PCR ในการวินิจฉัยเนื่องจากมีปัญหาได้ผลไม่คงที่ที่ควรจะเป็นบวกกลับได้ลบ และพลาดโอกาสในการจำกัดการแพร่และการช่วยชีวิต

(3.1) การใช้ CT คอมพิวเตอร์ ตรวจปอดแทนที่จะเป็นเอกซเรย์ธรรมดาแม้ว่าจะมีราคา 3000 บาทแต่ได้ผลไวแม่นยำ พิเคราะห์แยกโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ นั่นก็คือตั้งแต่ระยะที่อาการยังมองไม่เห็นภายนอก และยังให้ข้อมูลทำนายอนาคตของผู้ป่วย ว่าจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ร่วมกับตัวแปรอื่นๆ ในการเริ่มต้นใช้ยารักษาตั้งแต่ยาสมุนไพรจีน และยาต้านไวรัส

(3.2) เหตุผล: โรงพยาบาลในประเทศจีนมีเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกแห่ง ในขณะที่ไม่มีเครื่องตรวจอณูชีววิทยา

(3.3) ผลการใช้ CT คอมพิวเตอร์ ตรวจปอดทำให้ค้นหาผู้เริ่มมีอาการและสามารถแพร่เชื้อได้ครอบคลุมได้กว้างขวางหมดจด  และนำมาสู่การกักกันและการเฝ้าระวังพยายามไม่ให้เสียชีวิต

(3.4) บทเรียนนี้เห็นว่าการใช้  CT แม้ว่าจะแพงกว่า แต่เมื่อหักลบกลบหนี้ หาตัวผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อได้แล้วมีความคุ้มค่ามหาศาล  และยืนยันจากการรายงานทางการแพทย์ภาษาอังกฤษที่ออกมาทั่วโลก

(4) บทเรียนที่สาม ยอมตัดแขนเพื่อรักษาชีวิต การปิดเมืองซึ่งร่วมกับปิดบ้าน อย่างเข้มงวดตั้งแต่ประมาณวันที่ 21 มกราคมถึงกลางกุมภาพันธ์ และในขณะเดียวกันมีการตรวจตราผู้ที่อยู่ในบ้านว่ามีใครเจ็บป่วยจะรีบแยกไปกักกันและรักษาทันที

(4.1) ผลของการปิดอย่างเข้มงวด โดยยอมสละความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่เศรษฐกิจ ส่งผลดีที่ทำให้หยุดการแพร่กระจายและสามารถระบุคนที่ติดเชื้อ แพร่เชื้อและทำการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่ประเมินตั้งแต่ธันวาคมว่ากลุ่มใดหรือตัวใด ควรใช้หรือไม่ควรใช้

(4.2) การตัดสินใจเด็ดขาด มุ่งรักษาชีวิตและความมั่นคงของประเทศในอนาคตแทนที่จะห่วงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้จีนประกาศเป็นประเทศที่ถ้ามีผู้มาจากต่างประเทศจะเป็นกลุ่มเสี่ยง จะต้องถูกจัดการกักกัน 14 วันก่อน

(5) นั่นคือบทเรียนที่หมอธีระวัฒน์ ถอดออกมาเพื่อหวังว่าประเทศไทยจะได้นำมาพิจารณาปรับใช้ ขณะเดียวกันก็มีข้อความของนักเรียนไทยที่จีน เขียนออกมาซึ่งดูสอดคล้องกัน โดยมีเนื้อหาบางช่วงที่น่าสนใจว่า…

(6) ทำไมยอดติดเชื้อ covid19 ลดลงมากกว่า50% ของจีนมาดูกัน โดยนักเรียนไทยที่จีน เขียนมาตรการเข้มงวดของจีนช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ…

(7) คอลัมน์เรียนแบบเศรษฐีในบล็อค Blockdit วันที่ 29 ก.พ.63 ระบุ จีนรับมือกับ Covid-19 ยังไง…? สถานการณ์ตอนนี้เลยดีขึ้นมาก

(8) ขอมาเล่าสถานการณ์ จีน…ประเทศที่เป็นต้นตอและมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นมาก ยอดผู้ติดเชื้อรายวันถือว่าน้อยมาก ยอดรักษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค. จากผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 79,394 คน ตอนนี้ลดเหลือติดเชื้อ 37,357 คน พูดง่ายๆว่า ลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว คือ 53% (ข้อมูลวันที่ 29-02-2020)

(9) จีนค่อนข้างเข้มงวดมาก และน่าจะมีบางอย่างที่มาปรับมาใช้กับเราได้ มาดูว่าจีนรับมือยังไงบ้าง…?

(10) จีนออกมาตรการให้คนออกมาซื้อของกินของใช้ได้ 2 วัน 1 ครั้งเท่านั้น และครอบครัวนึงออกได้แค่ 1 คน ส่วนคนเด็กที่อยู่หอคนเดียว ให้ออกได้ 3 วัน 1 ครั้ง ทุกคนจะต้องมีบัตร ให้เจ้าหน้าที่ตรวจว่าออกไปวันไหน กี่โมงกลับกี่โมง ไม่มีการมั่ว

(11) ทุกคนออกจากบ้านต้องใส่หน้ากากตลอด มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจ ใครไม่ใส่จะโดนประกาศให้ใส่ จนกว่าจะใส่

(12) สำหรับนร.ต่างชาติที่ยังพักที่หอมหาลัย Hangzhou normal university มีการแจกหน้ากากใต้หอให้อาทิตย์ละ 1 อัน ต่อ 1 คน

(13) ใช้เทคโนโลยีในการช่วยกรองประเภทคน ทุกคนจะมีแอป Alipay อยู่แล้ว ต้องเข้าไปลงทะเบียน เรียกว่า Health cod จากนั้นโทรศัพท์จะ Track เราเลย ว่าไปไหนมาบ้าง ถ้าอยู่แต่ในพื้นที่ปลอดภัย Code เราจะขึ้นเป็นสีเขียว

(14) แต่ถ้าเกิดเข้าไปพื้นที่สุ่มเสี่ยงมา Code จะเปลี่ยนเป็นที่ส้ม (ต้องกักตัว 7 วัน) หนักหน่อยสีแดง (กักตัว 14 วัน) ต้องรอจนกว่าจะเป็นสีเขียวถึงออกไปไหนได้

(15) คนไปทำงาน ก่อนเข้างานต้องตรวจ Health code กับอุณหภูมิก่อน (ถ้าเป็นสีเขียว + อุณหภูมิปกติ ถึงอนุญาตให้เข้าตึกได้)

(16) การขึ้นลิฟท์ ปุ่มกดจะมีแรฟพลาสติกติดไว้ ซึ่งจะมีแม่บ้านมาเปลี่ยนทุกชม. จำกัดคนเข้าไม่ให้แออัด

(17) การต่อแถวซื้ออาหาร จะมีสติกเกอร์ติดที่พื้นเพื่อให้ยืนเว้นระยะห่างกัน

(18) Taxi จะมีพลาสติกกั้นระหว่าง คนขับและคนโดยสาร

(19) ผมต้องส่ง Report ให้มหาลัยทุกวัน จะมี QRcode ให้แสกนแล้วติ้กตอบคำถาม เช่น วันนี้มีอาการป่วยไรมั้ย ไอ จาม หวัด ไข้ หรือสบายดี ได้ไปหาหมอ รพ.มั้ยช่วงนี้ ได้ติดต่อสัมผัสกับคน บริเวณที่ต้องสงสัยมั้ย

(20) จีนคัดแยก และหาผู้มีโอกาสติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุด โดยใช้ Track แยกออกมาเฝ้าระวัง และไม่ให้ไปติดใครต่อเพิ่ม

(21) วันนี้ยอดผู้ติดเชื้อที่จีนลดลงครึ่งนึงแล้ว ยกเว้นมณฑล Hubei ที่มีเมืองอู่ฮั่นที่ยังติดสะสมอยู่เยอะ (34,617 คน) ส่วนใน Hangzhou ล่าสุดเข้าไปเช็ค เหลือผู้ติดเชื้อเพียง 10 คน

(22) มาตรการต่างๆเข้มงวดและยุ่งยากสำหรับบางคน แต่ต้องยอมรับทำให้ผลลัพธ์ในจีนดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน

(23) สุดท้ายนักเรียนไทยในจีน ยังฝากข้อเสนอแนะน่าจะมีมาตรการบางของจีน ที่นำมาปรับใช้กับประเทศที่กำลังเข้าสู่การแพร่ระบาดของ Covid-19 นี้ได้ และที่สำคัญดีที่สุดคือ ทุกคนช่วยกันรับผิดชอบตัวเอง

 

#ปอกเปลือก#ปอกให้เห็นความจริง