ปรับครม.ถึงเวลาพรรคเล็ก!?! ปชป.ระทึก – พปชร.ต้องสละเก้าอี้???

0

(1) 1 มี.ค.63 ปรากฏรายงานข่าวหลังเสร็จลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหารือที่ห้องรับรอง รัฐสภา มีแกนนำพรรคร่วม

(2) อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร่วมหารือ โดยรายงานแจ้งว่านายกฯว่าจะปรับ ครม. แต่จะเป็นเมื่อไหร่ ยังบอกไม่ได้

(3) ขณะอนุทินแจ้งต่อนายกฯว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยขอรักษาโควตาเดิม ไม่ขอขยับเปลี่ยนแปลง แม้ขณะนี้จะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นมา

(4) 2 มี.ค.63 เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณเตรียมปรับครม. ว่า ยังไม่มีการพูดถึง และนายกฯ ยืนยันแล้วว่าไม่มี และปชป.เชื่อว่าไม่มี

(4.1) ผู้สื่อข่าวถามว่าโควตา ปชป. แนวโน้มจะสลับเก้าอี้รัฐมนตรีหรือไม่ เฉลิมชัย กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุย ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม

(5) 2 มี.ค. 63 วันเดียวกัน วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงสัญญาณปรับครม. ว่า สัดส่วนรัฐมนตรีของพรรคใดก็ว่ากันไป ไม่ได้มีอะไร เราก็เชื่อตามข่าว โดยที่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณอย่างอื่นออกมา

(6) 1 มี.ค.63 สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กระบุ “เล่นการเมืองแบบเดิมๆจะเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างไร?

(6.1) กรณีมีข่าวออกมาเป็นระยะว่าจะมีการปรับ ครม.หลังอภิปราย และมีชื่อตนติดอยู่ในโผถูกปรับออกด้วยเหตุผล (ตามข่าว) อยู่ 3 ข้อ คือ

(6.2) 1.ผมขาลอยในพรรค ไม่ได้เป็น ส.ส. และไม่ได้จ่ายเงินให้พรรค 2.ผมไม่มีฐานเสียงส.ส.ในมือ และ 3.ผมไม่เข้าพรรค และไม่มีพวกในพรรค

6.3) “หากมีปรับ ครม. และคัดเลือกรัฐมนตรีด้วย 3 เหตุผลนี้ ประเทศไทยคงไม่มีทางหลุดจากวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ที่สร้างปัญหาซ้ำซากแบบเดิมที่ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้”

(7) นั่นคือความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวที่ลือสะพัด ซึ่งที่น่าจับตาคือ หากมีการปรับครม.จริง จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อเรือเหล็กขนาดไหน???

(8) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาพรรคเล็กที่รวมตัวกันหวังเก้าอี้รัฐมนตรี หากมีการจัดสรรตามจำนวนส.ส.ต่อ1ตำแหน่ง!!!

(9) ย้อนไปครั้งการจับขั้วตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ก็ปรากฏถึงการใช้สูตร 7 ส.ส. แลก 1 เก้าอี้รัฐมนตรี ซึ่งเป็นโควต้าการจัดสรรให้กับพรรคร่วมรัฐบาล

(10) ซึ่งพรรคพปชร. มี ส.ส. 115 เสียง จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างน้อย 16 คน พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ส.ส. 52 เสียง จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรี 7 ที่นั่ง เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย ที่มี ส.ส. 51 เสียง จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรี 7 ที่นั่ง

(11) พรรคชาติไทยพัฒนา มี ส.ส. 10 เสียง จะได้รัฐมนตรี 2 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา มี ส.ส. 3 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)มี ส.ส. 5 เสียง จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรี 1 ที่นั่ง

(12) 26 พ.ค.62 มีรายงานความคืบหน้าโควต้ารัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่ 6 ตำแหน่ง คือ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ รมว.เกษตรฯ รมว.การพัฒนาสังคมฯ รมช.ศึกษาฯ รมช.มหาดไทย

(13) พรรคภูมิใจไทยคว้าไป 6 มีรองนายกฯ ควบ รมว.สาธารณสุข รมว.คมนาคม รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา รมช.เกษตรฯ และ รมช.มหาดไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ 2 เก้าอี้ คือ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ และ รมช.เกษตรฯ

(14) 10 ก.ค.62 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” มีจำนวนทั้งสิ้น 36 คน รวม 39 ตำแหน่ง ประกอบด้วยรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค

(15) พลังประชารัฐ 18 คน ประกอบด้วย รองนายกฯ 3 คน, รมว. 11 คน, รมช. 4 คน (นายกฯ ควบตำแหน่ง รมว. กลาโหม)

(15.1) ประชาธิปัตย์ 7 คน 8 ตำแหน่ง ประกอบด้วย รมว. 3 คน, รมช. 4 คน (รองนายกฯ ควบตำแหน่ง รมว. พาณิชย์)

(15.2) ภูมิใจไทย 7 คน 8 ตำแหน่ง ประกอบด้วย รมว. 3 คน และ รมช. 4 (รองนายกฯ ควบตำแหน่ง รมว. สาธารณสุข)

(15.3) ชาติไทยพัฒนา 2 คน 2 ตำแหน่ง ประกอบด้วย รมว. 1 คน และ รมช. 1 คน

(15.4) รวมพลังประชาชาติไทย 1 คน 1 ตำแหน่ง คือ รมว. แรงงาน

(15.5) ชาติพัฒนา 1 คน 1 ตำแหน่ง คือ รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

(16) ภายหลังจากมีประกาศนี้ก็เกิดแรงกระเพื่อมจากบรรดาพรรคเล็กที่มีส.ส.อยู่ในถือ ที่แม้จะได้ที่นั่งในสภาฯแต่กลับไม่มีที่นั่งในทำเนียบฯ

(17) 6 ม.ค. 63 ชัชวาลย์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท และหัวหน้ากลุ่มกิจสังคมใหม่ หากมีการปรับคณะรัฐมนตรีก็หวังเก้าอี้รัฐมนตรี

(17.1) พรรคพลังท้องถิ่นไท มี ส.ส. 5 คน ขณะที่กลุ่มกิจสังคมใหม่มี ส.ส.ทั้งหมด 9 เสียง เป็นของพรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง พรรคไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง และพรรคประชาธรรมไทย 1 เสียง

(18) 21 ม.ค.63 ชัช ในฐานะหัวหน้ากลุ่มกิจสังคมใหม่ เปิดเผยอีกครั้งหลังพรรคพลังท้องถิ่นไท นับเป็นพรรคการเมืองที่มีความน่าสนใจเมื่อส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่สองคนย้ายเข้ามา ทำให้ “กิจสังคมใหม่” มีส.ส.รวมกันถึง 10 คน

(19) นี่เองที่ต้องจับตาหากมีการปรับครม.เที่ยวนี้จะมีคนจากกลุ่มกิจสังคมใหม่ที่มีส.ส.10คน จะได้เข้าไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีหรือไม่ เพราะถ้ายึดโควตาเดิม คือ 7 ต่อ1 เช่นนี้ก็มีโอกาสสูง

(20) แต่ประเด็นคือ แล้วจะแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีมาจากใคร-พรรคไหน ซึ่งก็อาจมีสองทางนั่นคือ 1. จากพรรคร่วมรัฐบาล และจะเป็นพรรคใด ประชาธิปัตย์ที่กุมสภาพเสียงส.ส.ภายในไม่ได้หรือไม่ เพราะมักมีปัญหาการพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโหวตเสียงในสภาฯมาหลายครั้ง???

(21) หรือจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ซึ่งแนวโน้มน่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะจำนวนส.ส.ของพรรคเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วยซ้ำ นั่นความหมายว่า ยังใช้เป็นข้อต่อรองขอเพิ่มได้อีกต่างหาก!?! ไม่ใช่ถูกลด!!!

(22) ฉะนั้นเป้าที่พุ่งไปนอกจากประชาธิปัตย์แล้ว หวยจะออกที่ชาติพัฒนาหรือไม่ หรือเป็นพลังประชารัฐเองที่จะต้องเสียสละ ไม่ไปแตะเก้าอี้พรรคร่วม ยอมแบ่งให้พรรคเล็กที่รวมกลุ่มกัน???

(23) ตัวเลขของฝ่ายรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการจากเดิม 263 และที่เพิ่งได้มาอีก9 จากอดีตอนาคตใหม่ที่เข้าซบภูมิใจไทยก็จะทำให้ รัฐบาลมีเสียงอยู่ที่ 272 เสียง ซึ่งจะต้องคลี่ออกมาจัดเขย่าโควตารัฐมนตรีใหม่กันอย่างไร???

(24) และนั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า หากโควตาที่สูญไปมาจากพลังประชารัฐ จะเกิดแรงกระเพื่อมขนาดไหน เพราะต่างรู้กันดีว่าภายในพรรคแบ่งเป็น5กลุ่ม และต่างก็มีส.ส.ใช้เป็นพลังต่อรองทั้งสิ้น???

(25) เช่นนั้นเองที่น่าจับตาถ้านายกฯจะปรับครม.จริง กลุ่มกิจสังคมใหม่ที่รวมพรรคเล็กรวมตัวกันจะมีโอกาสได้เก้าอี้หรือไม่ โดยเฉพาะพลังประชารัฐคนของใคร-กลุ่มไหนจะถูกริบเก้าอี้คืน นั่นก็ยิ่งสร้างรอยร้าวและแรงกระเพื่อมไม่มากก็น้อย?!?

 

#ปอกเปลือก#ปอกให้เห็นความจริง