ทุกฝ่ายต้องฟังและสนับสนุนขบวนการนักศึกษา และช่วยกันขวาง “องค์กรต่างชาติแทรก-นักการเมืองหนุน-หมกมุ่นคำหยาบโลน-โหนเรื่องไปเบื้องสูง”

0

ทุกฝ่ายต้องฟังและสนับสนุนขบวนการนักศึกษา และช่วยกันขวาง “องค์กรต่างชาติแทรก-นักการเมืองหนุน-หมกมุ่นคำหยาบโลน-โหนเรื่องไปเบื้องสูง”

รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย

จากกรณีที่มีนักศึกษาออกมาชุมนุมในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อแสดงออกทางการเมือง นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่านักศึกษากำลังคิดอะไร มีแนวทางในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองเพราะเหตุใดอย่างไร การมองว่า อยุติธรรม ต้องการประชาธิปไตย คัดค้านเผด็จการ เพราะนักศึกษามีแนวคิดในเรื่องดังกล่าวอย่างไร มีกระบวนการในการกดดันกันระหว่างสถาบันการศึกษาเพื่อให้ตัวแทนดำเนินกิจกรรมหรือไม่อย่างไร ตัวแทนมีการจัดการเพื่อการแสดงความคิดเห็นอย่างไร มีข้อเรียกร้องใดหรือไม่ ล้วนเป็นคำถามที่น่าสนใจทั้งสิ้น

การเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษาน่าสนใจอย่างมากเพราะจากผลการศึกษาที่ผู้เขียนได้เคยทำการศึกษาและเขียนหนังสือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของนักศึกษามหิดล พบว่า คนที่เคยมีส่วนร่วมในการต่อสู้หรือเรียกร้องทางการเมืองจะเป็นผู้ที่ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์บ้านเมือง มีความเข้าใจต่อสถานการณ์บ้านเมืองมากขึ้นด้วยในอนาคต ดังนั้นเมื่อเกิดขบวนการนักศึกษาขับเคลื่อน เรียกร้อง เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองไม่ว่าเรื่องใด ทุกฝ่ายจึงควรให้ความสำคัญ ในการเข้ามามีส่วนร่วมของนักศึกษาในช่วง ๒๕๑๖ และ ๒๕๑๙ ที่มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกิดขึ้นถึง ๒ ครั้ง จนกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม เหตุการณ์ตุลา ทั้ง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หลังจากนั้นขบวนการนักศึกษาก็ห่างหายมาก ในการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองในช่วงอื่นๆ ก็พอมีให้เห็นบ้างแต่ไม่ได้มีอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ที่มีอยู่ก็อย่างเช่นการเกิดขึ้นของเยาวชนกู้ชาติ (Young PAD) ตอนการเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การเรียกร้องนำโดยนักศึกษารามคำแหงและสถาบันอื่นทั้งการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองของเสื้อแดงและเสื้อเหลือง แต่จะมากที่สุดก็ตอนมีการแสดงออกจากความไม่เป็นธรรมตอน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่เรียกว่า กรณีนิรโทษสุดซอย

เมื่อมีการเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษาไม่ว่าจะมาจากอะไร เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องรับฟัง อยากเรียกร้องไปถึงผู้เกี่ยวข้องที่จะให้มีการรับฟังอย่างเป็นระบบ มีการจัดทำแผนการรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา เยาวชน จากทุกสถาบันหรือตัวแทนที่มาจากการยอมรับจากทุกสถาบันการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม มีการผลักดันกฎหมายของการเข้าไปมีอำนาจและบทบาทของนักศึกษา และส่งเสริมขบวนการนักศึกษาอย่างเปิดเผยและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็จะขึ้นอยู่กับครู อาจารย์ ที่อาจมีแนวคิดที่จะส่งต่อความคิดไปยังศิษย์ถึงข้อมูลเพียงด้านเดียว หรือเอาแนวคิดของการเกลี่ยดชังผู้ปกครองตามแนวทางของตนแต่เพียงด้านเดียว การเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้ามามีบทบาทจึงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่จะต้องส่งเสริม

แต่ในขณะเดียวกันการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง โดยการชุมนุมของ นิสิต นักศึกษา ในช่วงที่พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาพรรคหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นพรรคที่ีได้รับการยอมรับว่ามีการใช้การสื่อสารกับผู้สนับสนุนและประชาชนโดยทั่วไปทางช่องทางออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การรณรงค์อยากเลือกตั้ง เข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง การตรวจสอบ กกต. การได้รับคะแนนเสียงอย่างมากมายแม้จะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ จนมาถึงช่วงของการทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองจากการให้ยืมเงินของหัวหน้าพรรคหลายล้านบาทไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การดำเนินการด้วยยุทธศาสตร์ข้อมูลข่าวสารเพื่อแย่งชิงมวลชนด้วยการสร้างประเด็นเพื่อให้เกิดกระแสร่วมกันในสังคมออนไลน์นับว่าได้ผลอย่างมาก การมีส่วนร่วมของนักศึกษาตอนนี้หลายฝ่ายจึงมีความกังวลว่า การสร้างประเด็นเพื่อให้เกิดกระแสร่วมในการชุมนุมก็อาจทำให้การมีส่วนร่วมดังกล่าวมีความผิดเพี้ยนไปตามความต้องการที่บางกลุ่มต้องการให้เป็น

สิ่งที่ทุกฝ่ายควรต้องให้ความสนใจไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษาก็คือ ต้องขัดขวางทุกรูปแบบที่จะไม่ให้เกิดการสร้างข่าวปลอมเพื่อจุดชนวนความรุนแรง และต่อต้านทุกวิถีทางที่จะไม่ให้มี ๔ ประเด็นสำคัญคือ

๑) การแทรกแซงขององค์กรต่างชาติ ให้นักศึกษาต่อสู้ไปตามแนวทางที่องค์กรต่างชาติเหล่านั้นต้องการ ดังปรากฏที่หลายฝ่ายเห็นว่าเกิดขึ้นใน การต่อสู้เรียกร้องของนักเรียน นักศึกษาในฮ่องกง ดังที่เรียกกันว่า “ฮ่องกงโมเดล”

๒) มีนักการเมืองเข้ามามีบทบาทนำเพื่อให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ มาปกป้องความผิดของตนและพรรคตน สร้างความชอบธรรมให้พวกตน หรือมาใช้นักเรียน นักศึกษา เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

๓) มีการใช้คำหยาบเพื่อสร้างความเกลี่ยดชังในสังคม ใช้สื่อ ใช้แผ่นป้าย โปสเตอร์ ที่มีคำหยาบคายจำนวนมาก

๔) มีการสุ่มเสี่ยงต่อการไปเกี่ยวข้องกับสถาบัน หรือ นำเรื่องการเรียกร้องเกี่ยวเนื่องไปยังสถาบันฯอันเป็นที่คเคารพของคนในสังคมโดยไม่เหมาะสม

          ดังนั้นในการชุมนุมของนิสิต นักศึกษา และเยาวชนในครั้งนี้จะต้องไม่ให้มี  “องค์กรต่างชาติแทรก-นักการเมืองหนุน-หมกมุ่นคำหยาบโลน-โหนเรื่องไปเบื้องสูง”