ประชาชนต้องรู้ เมื่อประกาศ โควิด-19 เป็น “โรคติดต่ออันตราย”

0

ประชาชนต้องรู้ เมื่อประกาศ โควิด-19 เป็น “โรคติดต่ออันตราย”

รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา อาจารย์ด้านเวชสารสนเทศ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิชาการสถาบันทิศทางไทย

จากกรณีที่มีการเกิดภัยพิบัติโรคร้ายของโลกจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยประเทศไทยนับถึงวันที่ได้นำเสนอนี้ก็ตรวจพบผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสชนิดนี้จำนวน ๔๐ ราย และสามารถรักษาให้หายได้แล้วจำนวนถึง ๒๒ ราย แต่ก็ยังไม่สามารถไว้วางใจต่อสถานการณ์ได้ สถาบันทิศทางไทยได้นำเสนอเชิงนโยบายผ่านช่องทางต่างๆ ในการจัดการโรคนี้ไปยังรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องด้วยความเป็นห่วงต่อพี่น้องประชาชนชาวไทยและให้กำลังใจต่อเจ้าหน้าที่ที่กำลังดำเนินการในการป้องกันและรักษาเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรคนี้อย่างเต็มที่ จนได้รับการชื่นชมจากนานาอารยประเทศต่อมาตรการที่ดีของการดำเนินการป้องกันโรค

มีการแถงการโดยผู้เกี่ยวข้องจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้องสำคัญเกี่ยวกับความคืบหน้าและการที่ประชาชนจะต้องร่วมมือกัน รวมถึงเกณฑ์มาตรฐานในการตรวจหาเชื้อโรคจากผู้สงสัยและการกำหนดสำหรับกลุ่มที่สามารถได้รับการตรวจฟรีได้ตามเงื่อนไข จากผู้ที่มีการป่วยเป็นหวัด ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย มีไข้ และมีเงื่อนไขคือ

๑) เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ทั้งผู้ที่ไปเองและคนในครอบครัว

๒) ทำงานสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

๓) มีอาการปอดอักเสบ

โดยเมื่อมีการเข้าไปตรวจแล้ว เข้าพบแพทย์ได้รับการตรวจจมูก ตรวจคอ และมีการแจ้งให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยต้องเฝ้าระวัง กักตัวดูอาการ โดยมีสถานที่ที่สามารถเข้าตรวจหาเชื้อได้ตามเกณฑ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ๗ แห่ง ประกอบด้วย

โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลจุฬาฯ, โรงพยาบาลสงขลานครินทร์, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และสถาบันบำราศนราดูร

การออกแถลงการณ์ชี้แจงโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส โควิด-19 เป็นโรคร้ายแรงในอันดับที่ ๑๔ ของประเทศไทย ซึ่งเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็จะต้องนำกฎหมายที่เป็น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะ “โรคติดต่ออันตราย” เป็นการประกาศตามมาตรา ๔  ที่กำหนดไว้ว่าเป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว และมีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องทำความเข้าใจต่อคำสำคัญที่จะถูกนำมาใช้ให้มากขึ้นในมาตรา ๔ ขอนำมาเสนอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรงจำนวน ๓ คำคือ

๑) “แยกกัก” หมายความว่า การแยกผู้สัมผัสโรคหรือพาหะไว้ต่างหากจากผู้อื่นในที่เอกเทศ เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคแพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมไปยังผู้ซึ่งอาจได้รับเชื้อโรคนั้นๆ ได้จนกว่าจะพ้นระยะติดต่อของโรค

๒) “กักกัน” หมายความว่า การควบคุมผู้สัมผัสโรคหรือพาหะให้อยู่ในที่เอกเทศ เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคแพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมไปยังผู้ซึ่งอาจได้รับเชื้อโรคนั้น ๆได้จนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรคหรือจนกว่าจะพ้นความเป็นพาหะ

๓) “คุมไว้สังเกต” หมายความว่า การควบคุมดูแลผู้สัมผัสโรคหรือพาหะโดยไม่กักกัน และอาจจะอนุญาตให้ผ่านไปในที่ใดๆ ก็ได้โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อไปถึงท้องที่ใดที่กำหนดไว้ผู้นั้นต้องแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำท้องที่นั้นเพื่อรับการตรวจในทางแพทย์ เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคแพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมไปยังผู้ซึ่งอาจได้รับเชื้อโรคนั้นๆ ได้

โดย “ที่เอกเทศ” ที่กำหนดไว้ในกฎหมายนี้คือ ที่ใด ๆ ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนดให้เป็นที่สำหรับแยกกัก หรือกักกันคนหรือสัตว์ที่เป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อใด ๆ เพื่อป้องกันมิให้โรคนั้นแพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมไปยังผู้ซึ่งอาจได้รับเชื้อโรคนั้นๆ ได้

องค์กรเฉพาะกิจที่ทางสถาบันทิศทางไทยเคยนำเสนอไว้ก่อนหน้านี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการ เพราะผู้ที่จะมีดำเนินการเรื่องนี้ก็จะเป็น “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ” จำนวน ๒๙ คน ตามมาตรา ๑๑ ของกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้มีความเข้าใจง่ายขึ้นขอนำมาเรียงตามตำแหน่งต่างๆ ดังนี้

๑. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไปเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคนที่หนึ่ง และผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยาเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคนที่สอง ส่วนกรรมการก็จะประกอบด้วย ซึ่งรวมแล้ว จำนวน ๔ คน

๒. ปลัดต่างๆ จำนวน ๘ คน คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกรุงเทพมหานคร

๓. ตำแหน่งพิเศษ ๒ คน คือ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

๔. อธิบดีกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๗ คน อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมอนามัยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช

๕. ตัวแทนจากส่วนที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๔ คน คือ ผู้แทนแพทยสภา ผู้แทนสภาการพยาบาล ผู้แทนสภาเทคนิคการแพทย์ และผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน

๖. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๔ คน โดยมีรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการสาธารณสุข การควบคุมโรค และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ โดยในจำนวนนี้ต้องแต่งตั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไรและดำเนินกิจกรรมด้านการสาธารณสุข อย่างน้อยหนึ่งคน

ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย วางระบบ เสนอออกกฎ ระเบียบ ประกาศแนวทางที่จะปฏิบัติในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค แต่งตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการหรือคณะอนุกรรมการ และโดยเฉพาะเป็นผู้ที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าชดเชย ค่าทดแทน ค่าตอบแทน หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการดำเนินการเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค การป้องกัน หรือการควบคุมโรคติดต่อ

คณะกรรมการเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็จะต้องมี คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน มีคณะกรรมการดำเนินการในระดับจังหวัดด้วย คือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รวมถึงคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก ซึ่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบช่องทางเข้าออกนั้นเป็นประธาน ในการดูแลประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

ขอให้คณะกรรมการเหล่านี้จะต้องทำงานอย่างเข้มแข็ง ให้ข้อมูลต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันข่าวที่ผิดพลาดจากการนำไปเสนอในสังคมออนไลน์เหมือนช่วงที่ผ่านมา การออกมาแถลงของปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดยมีทีมคณะอธิบดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ที่เกี่ยวข้องสำคัญ อันเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชนในการให้ข่าวสารแบบนี้ จะสร้างความเชื่อมั่นและสามารถยับยั้งโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ป้องกันการปกปิดข้อมูลเหมือนเหตุการที่มีผู้ไม่แจ้งว่ามาจากแหล่งเสี่ยงจนลุกลามไปสู่บุตรหลานในครอบครัวและกระทบไปอย่างมาก ถ้าเกิดมีการแพร่ไปยังผู้อื่นแบบเกาหลีใต้ก็จะควบคุมด้วยความยุ่งยากมากขึ้น

และขอเชิญชวนให้ผู้สนใจทุกท่านเข้าไปอ่านกฎหมายฉบับนี้จะได้มีความเข้าใจในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยเฉพาะในหมวด ๖ เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคในมาตราต่างๆ ตั้งแต่มาตรา ๓๔ เมื่อเกิดโรคอันตรายซึ่งเมื่อประกาศโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายก็จะเข้าตามมาตรานี้การดำเนินการกับผู้ที่มีความเสี่ยง ผู้มีเหตุอันควรสงสัย ผู้เสียชีวิต ผู้เกี่ยวข้องก็จะต้องปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปยังพาหนะ บ้าน โรงเรือน สถานที่ สั่งปิดการดำเนินการ การห้ามเข้าในบางพื้นที่ได้ มีการกำหนดโทษไว้ในหมวด ๙ ทั้งจำคุกและปรับ เพราะจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายมิได้

ในการกำหนดให้เป็น โรคติดต่ออันตราย อันดับที่ ๑๔ ของประเทศไทย จึงมีข้อกำหนดตามกฎหมายในมาตราต่างๆ ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ ที่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะมีการกำหนดโทษไว้ในหมวด ๙ ทั้งจำคุกและปรับ ดังนั้น “ทุกฝ่ายจึงมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชน” เพราะเมื่อประกาศแล้วประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายมิได้