นรก…ของ ปิยบุตร
รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย
ไม่ได้นึกเอาเองที่จะเขียนถึงเรื่องนี้ แต่ต้องเขียนเพราะย้อนกลับไปดูบทคมคำ จากเรื่องสั้นที่ชื่อว่า “นรก” ของคุณปิยบุตร แสงกนกกุล โดยมีเนื้อหาปรากฏดังนี้
“…คุณยอมที่จะอยู่กับสิ่ง ที่คุณรู้อยู่แล้วนะ ว่ามันไม่ถูกคุณต้องเปลี่ยน แต่คุณพร้อมยอมจำนนอยู่กับมันไปเรื่อยๆ ทุกคนอยู่ในนรก อาศัยอยู่ในนรก แล้วทุกๆคนมีส่วนในนรกนี้ทั้งนั้น ไม่อยู่กับมันก็สร้างกับมันมาโดยบังเอิญ…
…ปัญหาคือคนอยู่ในนรกทำไง
ด้านหนึ่งคืออยู่กับมันให้เป็นแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของนรก กับอีกแบบหนึ่ง คุณขึ้นมาบอกว่าไอเนี่ย “นรก” ที่คุณร่วมสร้างขึ้นมา
แต่พวกผมเนี่ยจะร่วมสร้างแยกแยะว่าอะไรเป็นนรก อะไรไม่ใช่นรก นึกออกมะ
คนมันมีอยู่สองประเภท คุณรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นอย่างนั้นแล้วคุณก็ทนอยู่กับมัน แล้วก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของมันกับอีกด้านหนึ่ง คุณขึ้นมาเพื่อปฏิเสธมันผมเชื่อว่าพลังแห่งการต่อต้าน ขัดขืน ไม่ยอมจำนนเป็นพลังแห่งการสร้างสรรค์
ณ วันที่มนุษย์มีคุณค่านะ เมื่อมนุษย์ยืนยันคำว่า “ไม่” คุณกล้าพูดคำว่าไม่ ที่มันดูเนกาทีฟ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่
แต่ด้านหนึ่งคำว่า “ไม่” คือ การสร้างสรรค์ ไม่แล้วมันจะนำไปสู่การสร้างอีกแบบนึง…” (มติชนสุดสัปดาห์, ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๑)
จากการแถลงของคนเดียวกันนี้ ที่สร้างวาทกรรมเพื่อ อีดูเคท (ให้การศึกษา) กับคนที่รับทราบมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในวาทกรรมนั้นยังมีข้อโต้แย้งมากมาย หรืออาจมาจากความไม่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในหลายครั้งหลายครา ที่เน้นการใช้วาทกรรมที่เลือกมาเฉพาะตามที่คุณปิยบุตร เห็นด้วยหรือมองว่าเป็นไปตามแนวทางหรือแนวคิดของตนเท่านั้น เมื่อคุณปิยบุตร มีวาทกรรมไปถึงเรื่อง “นรก” ผมขอปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่า ประเทศไทย ไม่ใช่ “นรก” ของคนไทยอย่างแน่นอน ที่ผ่านมา ๕๐ กว่าปีของชีวิตผมมันเป็นยิ่งกว่าสวรรค์บนโลกนี้เพราะ
ผมโชคดี…ที่เกิดในประเทศไทยแห่งนี้
ผมโชคดี…ที่เกิดในดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาและอยู่ร่วมกันกับทุกศาสนา
ผมโชคดี…ที่เกิดในดินแดนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม
ผมโชคดี…ที่เกิดในดินแดนที่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทย
ผมโชคดี…ที่เกิดในประเทศที่มีภาษาสวยงามเป็นของตนเอง
ผมโชคดี…ที่เกิดในประเทศที่ประเพณี วัฒนธรรมที่งดงาม
ผมโชคดี…ที่ได้อาศัยประเทศนี้ ศึกษาหาความรู้
ผมโชคดี…ที่ได้ทำมาหากินอยู่ในประเทศนี้
ผมโชคดี…ที่อยู่ในประเทศที่มีคนรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เหมือนๆ กัน
ผมโชคดี…ที่มีอิสระในการทำงาน ในการคิด ในการเขียน ในการแสดงความคิดเห็น
…ฯลฯ…
แล้วจะให้ผม “ไม่” รักประเทศนี้ หรือที่จะอยู่ในประเทศนี้
แล้วจะให้ผม “ไม่” ต้องการพัฒนา ส่งเสริม และรักษามรดก สิ่งมีค่า ความดีงาม ของประเทศนี้ต่อไปได้อย่างไร
จึงไม่เข้าใจว่าคุณปิยบุตร มองประเทศนี้เป็น “นรก” ไปได้อย่างไร ถ้าพูดถึงความทุกข์ มันมีอยู่ทุกที่ ในทุกๆ ชีวิต ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ตามหลักธรรมที่ว่า ทุกโขติณณา เราต่างถูกความทุกข์ครอบงำแล้ว มีทุกข์เป็นเผ่าพันธุ์ การจะพ้นจากทุกข์ก็ต้องเข้าใจในการพัฒนาตน พัฒนาตนด้วยไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา และขอนำบทจาก ธัมมาภิคีติ ส่วนหนึ่งที่ว่า
โย มัคคะปากะปะริยัตติวิโมกขะเภโท, เป็นธรรมอันจำแนกเป็นมรรค ผล ปริยัติ และนิพพาน
ธัมโม กุโลกะปะตะนา ตะทะธาริธารี, เป็นธรรมทรงไว้ซึ่งผู้ทรงธรรม จากการตกไปสู่โลกที่ชั่ว
นี่แหละทำให้ห่างไกลไปจาก “นรก” ที่แท้จริง
แต่จากที่คุณปิยบุตร ได้ออกมาแถลงหลังจาก ศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการ “ไม่” ยอมรับในคำตัดสินของศาล โดยหลายฝ่ายออกมาเตือนแม้แต่ ท่าน ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี นักการเมืองอาวุโส ที่เห็นว่าอย่าใช้อารมณ์เมื่อตอนที่ขัดใจ ไม่พอใจอยู่ ทำอะไรให้มีสติ
ถ้าขืนมีลักษณะเช่นนี้ต่อไป ไม่เช่นนั้น คุณปิยบุตร จะได้เห็นว่าการ “ไม่” ของคุณ ทั้งไม่ยอมรับในคำตัดสินของศาล ไม่ฟังคำเตือนจากผู้อาวุโส เอาแต่ใจ ทำอะไรวู่วามเมื่อไม่เป็นไปตามสิ่งที่ต้องการ เหมือนเด็กที่เอาแต่ใจ ระวังจะเจอ “นรก” อย่างไม่สามารถหลุดพ้นจากความเลวร้ายและความทุกข์จาก “นรก” ขุมที่ลึกลงไปเรื่อยๆ
ขอแนะนำคุณปิยบุตร ให้ได้เข้าใจในหลักธรรมในพระพุทธศาสนาบ้าง ขอเพียงเรื่องง่ายๆ ที่เป็นหัวใจของหลักธรรมที่ปรากฎอยู่ในการทำวัตรเช้า-เย็น ของพวกเราชาวพุทธให้ได้เข้าใจเรื่องของความจริงที่แท้ เอาเฉพาะบางส่วนอง ธัมมานุสสติ เพื่อระลึกถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว ดังนี้
สันทิฏฐิโก, เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง
อะกาลิโก, เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล
เอหิปัสสิโก, เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด
โอปะนะยิโก, เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหี ติ. เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน
ดังนั้น ที่ที่อยู่จะเป็น นรกหรือสวรรค์ ก็อยู่ที่ใจของเราเหมือนที่หลายท่านคุ้นชินกับคำว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ
การที่จะให้สิ่งที่เราอยู่เป็นนรกหรือสวรรค์ จึงอยู่ที่ตัวเราไม่ได้อยู่ที่ จะบอกว่า “ไม่” หรือ “ใช่” คำสอนมีอยู่แล้ว อยู่ที่การทำตามสิ่งที่ดีตามแนวทางแห่งพระศาสดา ที่จะทำเพื่อให้เข้าใจ ความทุกข์ ว่ามีอยู่จริง จึงต้องอยู่อย่างมีสติ ไม่ให้อารมณ์นำทางจนขาดสติ จะนำพาไปสู่ “นรก” ผมจึงขอกล่าวกับคุณปิยบุตรว่า
เอหิปัสสิโก – โอปะนะยิโก …. ปิยบุตร จะได้ห่างไกลจากนรก