จากกรณีที่พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 แถลงภายหลังการประชุมเพื่อประเมินความเหมาะสมในการขยายเวลาประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ระบุว่า คณะกรรมการได้พิจารณาเกี่ยวกับการขยายเวลาประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเราดูในทุกมิติ ทั้งความมั่นคง ข่าวกรอง กฎหมายและสาธารณสุข ซึ่งเห็นควรให้ขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 ก.ค. นั้น
โดยประเด็นดังกล่าว ต่อมาได้มีกระแสทางฝั่งฝ่ายค้าน เสนอว่าไม่ควรต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก ซึ่งเรื่องนี้ทางด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผย กรณีที่พรรคก้าวไกล เตรียมเสนอร่าง พรก.ฉุกเฉิน ฉบับใหม่เพื่อแก้ไขไม่ให้มีการรวมอำนาจไว้ที่นายกฯ มากเกินไปว่า
นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ทำไป ก็เป็นสิทธิ์ของ ส.ส. อยู่แล้ว จะแก้กฎหมายอะไรก็แก้ได้ ส่วนการพิจารณาขยายเวลาการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ต่อ ทางด้านพล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า จะพิจารณาร่วมกับ 4 ฝ่าย สาธารณสุข เศรษฐกิจ ปกครอง และฝ่ายมั่นคง
จากนั้นจะนำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม นายกฯ ก็จะพิจารณาและนำเข้าที่ประชุม ศบค. วันที่ 29 มิ.ย. และนำเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 30 มิ.ย. ส่วนที่มีความกังวลว่าหากยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน แล้วจะส่งผลกระทบกับศูนย์กักกันตัวของรัฐนั้น ก็มีส่วนบ้าง ยอมรับว่ามีผลกระทบจริง ๆ ใน 3 ประเด็น คืออำนาจในการกักตัว สถานที่ที่ใช้ในการกักตัว และค่าใช้จ่าย เพราะตอนประกาศ เราจะคุมใน 3 เรื่องนี้ได้ แต่ถ้าไม่ใช้ พรก.ฉุกเฉิน แล้วไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ต้องไปดูว่าสั่งการเรื่องต่าง ๆ ได้หรือไม่ ถ้าพูดก็คือได้
ล่าสุดล พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เปิดเผย ชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 มีการพิจารณาเรื่องสำคัญคือการผ่อนคลายกิจกรรม กิจการในระยะที่ 5 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเรียกได้ว่าจะมีการผ่อนคลายทั้งหมด เช่นการเปิดเรียน การไม่จำกัดเวลาในการเปิดห้างสรรพสินค้า สถานบริการผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ร้านเกม ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ต้องเสนอให้ ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน 2563 นี้
ส่วนการแข่งขันกีฬา จะให้มีผู้เข้าชมได้เมื่อไรนั้น ต้องรอดูการผ่อนคลายระยะที่ 5 ก่อน ถ้าสถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น รวมถึงสถานการณ์โลกดีขึ้นค่อยพิจารณา เพราะศบค.ชุดเล็กจะประเมินกันเป็นรายวัน
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการได้พิจารณาเกี่ยวกับการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเราดูในทุกมิติ ทั้งความมั่นคง ข่าวกรอง กฎหมายและสาธารณสุข ซึ่งเห็นควรให้ขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 1-31 กรกฎาคม 2563 เพราะกิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายในระยะที่ 5 มีความล่อแหลมต่อการระบาดของโควิดมากที่สุด
ทั้ง “การเปิดเรียน” เราจึงต้องให้ความสำคัญในการป้องกันอย่างมาก จึงจำเป็นต้องใข้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไป เพราะหากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องใข้กฎหมายถึง 5 ฉบับมาแทนที่ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีประสิทธิภาพเท่ากับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมโรค ก็จะเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด ไม่ใช่การทำงานเชิงรุก กลยุทธ์ในการป้องกันโควิดของเราตั้งแต่แรกคือใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมไม่ให้มีการนำโรคจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งมีประสิทธิภาพเป็นกลไกสำคัญ เมื่อเราจะผ่อนคลายกิจกรรมที่ล่อแหลมจึงต้องคงเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพนี้ต่อไป และเรื่องนี้ยังเป็นเพียงการพิจารณาของชุดเฉพาะกิจ ยังต้องเข้าที่ประชุม ศบค.และ ครม.ต่อไป
เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองออกมาโจมตีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีนัยยะแฝงทางการเมือง นอกเหนือจากการป้องกันโควิด พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไม่มีนัยยะทางการเมือง ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันและอนาคต เห็นได้จากเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่มีการทำกิจกรรมทางการเมือง ก็ไม่มีการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปดำเนินการ เพราะมีการใช้พ.ร.บ. ชุมชนสาธารณะอยู่
“เราใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลทางสาธารณสุขเป็นหลัก และเมื่อมีการประกาศผ่อนคลายเฟส 5 แล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ที่สำคัญช่วง 1 เดือนนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะสถานการณ์โลกยังมีความน่าเป็นห่วง แม้ประเทศเราดีแต่ก็กังวลเรื่องการระบาดรอบ 2 หากเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เราทุ่มเทมาจะสูญเปล่า เราจึงต้องมีมาตรการที่สร้างความมั่นใจป้องกันการแพร่ระบาด นั่นคือการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน”
ส่วนการพิจารณา Travel Bubble นั้น เรื่องนี้มีการพูดคุยแต่ยังไม่มีข้อยุติในเร็ววันนี้ ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน และปัจจุบันก็ยังไม่มีประเทศใดประสานเข้ามาแต่อย่างใด แต่ที่มีข้อยุติในเร็ววันคือ การเดินทางของนักธุรกิจที่ปัจจุบันมีบางส่วนเดินทางเข้ามาแล้ว ต้องถูกกักตัว 14 วัน
แต่เราพิจารณาในส่วนของนักธุรกิจที่เข้ามาเพียงไม่กี่วัน จะให้เขาสามารถเดินทางไปทำธุรกิจต่อได้เลย ไม่ต้องกักตัว แต่ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นคือ ต้องมีการตรวจโควิดอย่างน้อย 3 ครั้งคือก่อนเดินทางเมื่อมาถึงเมืองไทย และก่อนออกจากประเทศไทย รวมถึงระหว่างอยู่ประเทศไทยก็ต้องสามารถติดตามตัวได้ตลอด
“คาดว่าจะให้เขายื่นเรื่องเข้ามาให้เราพิจารณาได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป โดยประเทศที่เราจะพิจารณาในเบื้องต้นคือ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีนบางเมือง ซึ่งเราพิจารณาถึงประเทศต้นทางว่ามีขีดความสามารถทางสาธารณสุขใกล้เคียงกับเรา และที่สำคัญการให้เข้ามานั้นต้องประเมินแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
นอกจากนี้ที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อรักษาการเจ็บป่วย การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรมทางการแพทย์นั้น ยืนยันว่าผู้ที่เข้ามาจะไม่มีใช่การเข้ามาเพื่อรักษาโควิด เพราะหากเป็นโควิดก็ไม่สามารถขึ้นเครื่องได้ตั้งแต่ต้น เวลาเข้ามาก็ต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน และหากรักษาเสร็จสิ้นจะอยู่ต่อหรือไม่ก็ได้ ถือเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีหลายชาติให้ความสนใจในส่วนนี้
ภาพ :สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ