จากกรณีที่ สาว จ.แพร่ ร้องสื่อ เป็นหนี้ กยศ. เหลือแค่ 17,000 บาท ถูกฟ้องยึดบ้าน ราคา 2.4 ล้านบาท งง ไม่เข้าใจ ทำไมเลือกยึดบ้านพ่อซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่สุด ด้าน กยศ. ชี้ ไม่ชำระหนี้ตั้งแต่ปี 51
โดย นางกรทิพย์ เปิดเผยว่า น.ส.สมหมาย น้องสาว ได้กู้ กยศ. เรียน ที่วิทยาลัยเกษตรแพร่ เพื่อเรียนต่อระดับอาชีวะศึกษา หลังจากเรียนจบได้ทยอยส่งเงินคืนกองทุน กยศ.มาตลอด ต่อมาได้ย้ายไปทำงานต่างจังหวัด จึงขาดส่งไประยะหนึ่ง เหลือยอดที่ค้าง กยศ. แค่ 17,000 บาท เท่านั้น แต่กลับถูกบังคับคดียึดบ้าน ในราคา 2 ล้านกว่าบาท ไปขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ ตนไม่เข้าใจเพราะบ้านที่ถูกขายทอดตลาดเป็นชื่อพ่อ แต่พ่อไม่ได้เป็นคนค้ำประกัน เป็นเพียงคู่สมรสของแม่ที่เป็นผู้ค้ำประกัน และมีบ้านอยู่ติดกัน หรือแม้แต่น้องสาว ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านอีกหลังก็ไม่ถูกยึดแต่กลับเลือกบ้านพ่อ ซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ที่สุด
ล่าสุด นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า ผู้กู้ยืมถูกดำเนินคดี ตั้งแต่ ปี 2551 และศาลได้มีคำพิพากษาให้ชำระหนี้เงินต้น จำนวน 17,868 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่ผู้กู้ยืมไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษา กองทุนจึงจำเป็นต้องดำเนินการสืบทรัพย์บังคับคดี จากการสืบทรัพย์พบทรัพย์สินของผู้กู้แต่ไม่สามารถยึดได้ เนื่องจากถูกเจ้าหนี้รายอื่นยึดไว้แล้ว กองทุนจึงจำเป็นต้องดำเนินการยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกันเมื่อปลายปี 2561 ซึ่งที่ดินดังกล่าวติดจำนองเจ้าหนี้รายอื่นอยู่ ต่อมาในช่วงต้นปี 2562 ผู้กู้ยืมได้ชำระหนี้เพียงบางส่วน และไม่ได้ติดต่อกองทุนเพื่อทำบันทึกข้อตกลงงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้
ทั้งนี้ หากผู้กู้ยืมหรือ ผู้ค้ำประกันมาติดต่อก็สามารถของดการขายทรัพย์และผ่อนชำระหนี้ได้อีก 6 ปี ต่อมาสำนักงานบังคับคดีจังหวัดแพร่ได้ดำเนินการประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยขายแบบติดจำนอง เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และมีบุคคลภายนอกซื้อได้ในราคา 30,000 บาท โดยการขายครั้งนี้เป็นการขายครั้งที่ 11 ซึ่งในการขายทุกครั้งที่ผ่านมาไม่มีผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันมาดูแลการขาย
กองทุนขอชี้แจงว่า ก่อนที่จะมีการบังคับคดี กองทุนพยายามที่จะติดต่อกับผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันทั้งทางจดหมายและทางโทรศัพท์ และได้ดำเนินการตามขั้นตอนการติดตามหนี้มาโดยตลอด จนในที่สุด กองทุนมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกันก่อนที่คดีจะขาดอายุความ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้รายนี้ กองทุนก็ได้ประสานงานกับผู้ซื้อทรัพย์เพื่อให้ความช่วยเหลือ ซึ่งในเบื้องต้นผู้ซื้อทรัพย์ยินดีขายทรัพย์คืนให้แก่ผู้ค้ำประกันในราคาซื้อ
ทั้งนี้ กองทุนขอฝากถึงผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันที่ถูกบังคับคดี ขอให้มาติดต่อที่กองทุน เพื่อจะได้โอกาสในการผ่อนชำระได้อีกไม่เกิน 6 ปี และขอฝากเรื่องการค้ำประกันการกู้ยืมใด ๆ ขอให้ผู้ค้ำประกันตระหนักว่า จะเป็นภาระผูกพันทางกฎหมาย โดยขอให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้เป็นปกติเพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้อง จนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิดามารดาและญาติ ๆ และกองทุนขอให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านตระหนักถึงการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป”