ยุบอนาคตใหม่ โดยอนาคตใหม่ เพื่ออนาคตใหม่

0

 

 

ยุบ​อนาคตใหม่​ โดย​อนาคตใหม่​ เพื่อ​อนาคตใหม่

.

ดร.เวทิน​ ชาติกุล​ สถาบันทิศทางไทย

.

(1)

.

รัฐประหาร​ 2475​ แม้ไม่ใช่การอภิวัฒน์หรือการปฏิวัติประชาธิปไตย​ แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

.

รัฐประหาร​ 2475​ เป็นผลพวงของ​ “กระแสธารความเปลี่ยนแปลง” ที่ก่อรูปตั้งแต่​เหตุการณ์​ รศ.130​ แต่การทำรัฐประหารในครั้งนั้นไม่สำเร็จ

.

ส่วนรัฐประหาร​ 2475​ ที่สำเร็จ​เพราะ​พระมหากษัตริย์ทรงยอม​ (อาจด้วยทรงคิดพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว​ หรือ​ อาจด้วยทรงคิดว่ายังสามารถ​ “ประนีประนอม” กับคณะผู้ก่อการได้​ หรือ​ อาจด้วยความไม่พร้อมของคณะผู้ก่อการที่ยังต้องการสถานะของพระมหากษัตริย์มาค้ำจุนการรัฐประหารของตนเพื่อไม่ให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านภายหลัง)

.

ถ้าวันนั้นทรงสั่งให้กองกำลังรักษาพระนคร​ยาตราทัพเข้าเมืองหลวง​ เหตุการณ์แบบที่เห็นในกบฏบวรเดช​คงเกิดขึ้นในฉับพลัน​ ไม่ต้องรอเนิ่นช้าไปอีกปี​ และคณะราษฎรวันนี้คงเหลือแต่ชื่อ​ และ​ นามเรียกขานว่า​ กบฏ

.

จุดเปลี่ยนที่มาจาก​การยึดอำนาจมาจากพระเจ้าแผ่นดินของคณะราษฎร​ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย (ที่เป็นเพียงหน้าฉาก)​ หากคือ​ การเกิดขึ้นของกลุ่มอำนาจใหม่​ คือ​ กองทัพ​

.

(2)

.

เดิมทีหลายร้อยปีของสังคมสยาม​ อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือคนสองกลุ่ม​ คือ​ พระราชา​ กับ​ ขุนนาง

.

รัฐประหาร​ 2475​ ลดและพยายามจำกัดบทบาททางการเมืองโดยตรงของพระมหากษัตริย์​ และขจัด​ “เจ้านาย-ขุนนาง” ออกจากสารบบการเมืองไทย

.

จากนั้นจึงเกิดแย่งอำนาจกันเองระหว่าง​ ทหารเก่าและทหารใหม่​ ในคณะราษฎร

.

ตามด้วย​การแย่งอำนาจกันเองระหว่างคณะราษฎรสายทหาร​ กับ​ สายพลเรือน​

.

25​ ปีของคณะราษฎร​ จอมพล.ป​ อยู่ในอำนาจคนเดียว​20​ ปี​ ได้สร้างระบอบระบบอำนาจของ​ “กองทัพ” ที่ยังมี​ ธรรมเนียมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

.

(3)

.

จอมพลสฤษดิ์​ จอมพลประภาส​ จอมพลถนอม​ คือผู้นำเผด็จการที่มาจากเบ้าหลอมอำนาจ​ที่กำเนิดมาจากจอมพล.ป​ ทั้งสิ้น

.

เหตุการณ์​ 14​ ตุลา​ จนถึง​ 6​ ตุลา​ แม้จะมี​ “ความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ” (การลุกฮือของขบวนการนักศึกษา-ประชาชนชั้นกลาง) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า​ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจาก​ความเคลื่อนไหวในกองทัพ

.

ทหารชั้นผู้น้อยที่ถูกกดด้วยระบบสืบทอดอำนาจในกองทัพมานาน​ต้องการการเปลี่ยนแปลง​ ทั้งทหารกลุ่มยังเตริก์ ทหารกลุ่มราชครู

.

การขึ้นสู่อำนาจของพลเอกเปรม​ ก็คือความพยายามรักษาดุลอำนาจ​ อันผันผวน​ แปรเปลี่ยน​ ไม่แน่นอน​ หลังจาก​ส่วนบนของอำนาจในกองทัพคือ​ บรรดาจอมพลต่างๆ​ ต้องหลุดร่วงออกจากระบบไป

.

(4)

.

ความพยายามรักษาดุลสังคมการเมืองเศรษฐกิจ​ สมัยพลเอกเปรม​ หรือที่เรียกว่า​ “เปรมาธิปไตย​” ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งในการเมืองไทย​ นั่นคือระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ​ทำให้กลุ่มอำนาจใหม่แข็งแรงขึ้นมาคือ​ นักการเมือง​ และ​พรรคการเมือง​

.

การขึ้นเป็นนายกฯ​ของลูกชาวบ้านอย่างนายหัวชวน​ หรือ​ผู้รับเหมาอย่างบรรหาร​คือตัวอย่างของการผงาดขึ้นของกลุ่มการเมือง​หลังป๋าเปรมประกาศ​ “ผมพอแล้ว”

.

ระบอบทักษิณคือการพัฒนาการขึ้นสูงสุดของ​ กลุ่มอำนาจของนักการเมือง​ ที่ย้ายขั้วการผูกขาดอำนาจเดิมของ​กองทัพ​ มาสู่​ กลุ่มทุนการเมือง​ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

.

เปลี่ยนอำนาจจาก​ “ปืน” เป็น​ “เงิน”

.

(5)

.

การพังทลายของระบอบทักษิณส่วนหนึ่งคือความฟอนเฟะภายในกลุ่มทุนการเมือง​และนักการเมือง​ หากอีกส่วนคือการพยายามรุกคืนของกลุ่มอำนาจอื่น ๆ (เก่า-ใหม่) ​ที่เสียผลประโยชน์จากระบอบทักษิณ​

.

พอ ๆ กับการตอบโต้​ ไม่ยอมตายของ​ระบอบทักษิณ

.

ปฏิเสธได้หรือ… พรรคอนาคตใหม่มิได้กำเนิดมาจากจุดนี้​  เริ่มจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางวิชาการ​ นักกิจกรรม​ ขยายตัวมาเป็นขบวนการ​ชูธงต่อต้านขั้วอำนาจเก่า(สถาบัน-กองทัพ-ศาล)​ พัฒนามาเป็นพรรคการเมือง

.

พรรคอนาคตใหม่ก็คือ​ กลุ่มทุนการเมืองกลุ่มหนึ่ง​ หากความต่างประการสำคัญก็คือ​ พรรคอนาคตใหม่มิได้หวังผลประโยชน์ทางอำนาจหรือเงินตราแบบกลุ่มทุนการเมืองก่อนหน้านี้​

.

แต่หวังผลประโยชน์ยิ่งในทางอุดมการณ์​

.

(6)

.

เราจะบอกเหรอว่า​ ธนาธร​ จึงรุ่งเรืองกิจ​ ไม่ใช่ นายทุนของพรรค​  เราจะกล้าพูดเหรอว่า​ พรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่​ ธนาธร​ เป็นเจ้าของ

.

คนที่ลงชื่อ​ #คัดค้านยุบพรรคอนาคตใหม่​ นิธิ​ ชาญวิทย์​ เสกสรร​ บรรจง​ และอีก​ 30,000​ ชื่อเคยเข้าไปเห็นชอบตอนที่ธนาธรจะให้พรรคกู้ยืมเงินกันหรือ?

.

คนรุ่นใหม่​อย่าง​ วรรณสิงห์​ ไอติม​ ฟูอาดี้​ และคนรุ่นใหม่ที่ฝากความหวังประชาธิปไตยไว้กับพรรคอนาคตใหม่​ คิดว่าตัวเองคือหนึ่งในประชาชนที่เป็นเจ้าของพรรคจริง ๆ หรือ?

.

พูดกลับกันคือ​ ถ้าไม่ใช่คำพูดสวยๆเป็นนามธรรม​ ธนาธรจะทำอะไรกับพรรค​ เขาเคยมาถามความเห็นพวกคุณหรือ? เขาต้องมาถามพวกคุณหรือ?

.

คดีที่เป็นประเด็นปัญหาอยู่​ ก็ล้วนแล้วแต่​ ยุบอนาคตใหม่​ โดยอนาคตใหม่​ ทำกันเองทั้งนั้น

.

แต่จะถูกยุบหรือไม่ถูกยุบก็ไม่มีผลอะไร​ เพราะเป้าหมายของพรรคอนาคตใหม่ชัดเจน​ คือ​ สถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่อนุญาตให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่​ให้จงได้

.

(7)

.

จากรัฐประหาร​ 2475​ ถึง​ ยึดอำนาจ​ 2557​ การกำเนิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ​ของการเมืองไทยหรือไม่? จากการเมืองเพื่ออำนาจ​ในยุคเผด็จการทหาร จากการเมืองเพื่อผลประโยชน์​ในยุคทุนสามานย์​

.

มาเป็นการเมืองเพื่ออุดมการณ์​โดยแท้

.

อำนาจ​ เงินตรา​ หรือ​ อุดมการณ์​ ต่างก็เหมือนดาบสองคม​ ใช้ถูกก็จะเป็นประโยชน์​ ใช้ผิดก็วิบัติฉิบหาย

.

ส่วนดีของพรรคอนาคตใหม่คือชัดเจนว่าลงมาเล่นการเมืองเพื่ออุดมการณ์​  อนาคตของประชาธิปไตยไทยมีพรรคการเมืองแบบนี้ดีกว่ามีพรรคแบบเก่า นักการเมืองน้ำเน่าแน่นอน

.

(8)

.

ปัญหาคือพฤติกรรมของพรรคอนาคตใหม่สนับสนุนหรือตรงข้ามกับอนาคตใหม่ของประชาธิปไตยอย่างที่พรรคประกาศ​

.

ถ้าพฤตินัย​ คำพูดสวยเป็น​ พรรคของประชาชน​ โดยประชาชน​ เพื่อประชาชน​ เป็นเพียงคำโป้ปด​ ครั้งแล้วครั้งเล่า​

.

ทำผิดแล้วไม่รับผิด  ความโกหก​ หลอกลวง​ ตลบตะแลง​สร้างความแบ่งแยก​เกลียดชัง​ เพื่อต้องการเพียงเอาชนะ​ เราจะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างอนาคตใหม่ที่ดีขึ้นของสังคมได้จริงหรือ

.

(9)

.

ถ้าเห็นตรงกันว่าคำตอบคือไม่?

.

การยุบอนาคตใหม่​ โดยอนาคตใหม่ ก็ทำไปเพื่อ​ “อนาคตใหม่” ที่แท้จริง

.