ส่องสิทธิ์ประโยชน์ 7 ข้อ ประกันสังคม พร้อมรับผิดชอบ ดูแลลูกจ้าง “การบินไทย” 21,000 คน หลังพ้นรัฐวิสาหกิจ

0

จากกรณีที่มีรายงานชี้แจงจากการบินไทย หลังจากที่พนักงานจำนวนมากล่ารายชื่อไปยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนเรื่องที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกข้อบังคับฉบับใหม่ พร้อมระบุว่า ข้อบังคับนี้ลดทอนสิทธิประโยชน์ สวัสดิการพนักงานการบินไทย รวมถึงร้องเรียนเรื่องการปรับลดเงินเดือนว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย

โดยทางด้านนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการคนที่ 2 รักษาการแทนกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า บริษัทนั้นพ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นบริษัทเอกชน ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ดังนั้น บริษัทจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานเอกชนหลายฉบับ รวมทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งกำหนดให้บริษัทต้องทำข้อบังคับการทำงานให้เป็นมาตรฐาน และประกาศใช้ภายใน 15 วัน ระหว่างที่จัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับนี้ การบินไทยได้หารือเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอย่างใกล้ชิด และสิทธิประโยชน์ของพนักงานที่มีอยู่ก่อนการพ้นจากรัฐวิสาหกิจก็ยังคงมีอยู่ตามเดิม จนกว่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามวิธีการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ส่วนประเด็นที่ขอความร่วมมือให้ทุกคนสมัครใจลดเงินเดือนในอัตรา 10-50%

มีวัตถุประสงค์เพื่อขอความยินยอมจากพนักงานทุกคนให้ปรับลดเงินเดือนลงบางส่วน ในช่วงที่บริษัทหยุดทำการบินเป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม นี้ แต่ถ้าพนักงานคนใดไม่ให้ความยินยอม บริษัทก็ยังคงจ่ายเงินเดือนในอัตราปกติ ไม่ได้หักตามที่บริษัทประกาศแต่อย่างใด

ดังนั้น การกระทำทั้ง 2 กรณี การบินไทยจึงไม่ได้กระทำขัดต่อกฎหมายแรงงาน และบริษัทสามารถดำเนินงานตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่กระทบกระเทือนสิทธิ์ของพนักงานที่พึงได้รับตามขอบเขตกฎหมาย

อ่านข่าวที่เกี่้ยวข้อง : “การบินไทย” แจงชัดประกาศลดเงินเดือนพนง. ไม่ผิดกฎหมาย หลังขาดรายได้เข้าบริษัท ใครรับได้ก็ขอหัก..รับไม่ได้ก็ต้องจ่ายต่อ

ล่าสุดทางด้านนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ หลังจากกระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบัน “การบินไทย” มีสถานะเป็นบริษัทเอกชน ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น

ดังนั้นบริษัทฯ จึงอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายแรงงาน รวมถึง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 และ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 โดยเมื่อวานนี้ (22 มิ.ย.) ตัวแทนของ การบินไทย ได้เดินทางไปที่สำนักงานประกันสังคม พื้นที่ 2 กรุงเทพมหานคร เพื่อขึ้นทะเบียนกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน โดยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเป็นจำนวนเงินราว 6.4 ล้านบาท

 

“บริษัท การบินไทยฯ ได้ขึ้นทะเบียน ให้พนักงานจำนวนกว่า 21,000 คน ส่งผลให้ได้รับความคุ้มครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 ได้ให้ความรู้ความเข้าใจงานประกันสังคม แก่ตัวแทนผู้บริหารบริษัท การบินไทยฯ เพื่อให้รับทราบการดำเนินงานของระบบประกันสังคม

กองทุนประกันสังคมจะเก็บเงินสมทบจากนายจ้างร้อยละ 5 ลูกจ้างร้อยละ 5 สำหรับกองทุนเงินทดแทน จัดเก็บจากนายจ้างฝ่ายเดียว ตามอัตราความเสี่ยงของประเภทกิจการ

ลูกจ้างผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจะได้รับจากกองทุนประกันสังคม ประกอบด้วย 7 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ส่วนกองทุนเงินทดแทน จะให้ความคุ้มครองลูกจ้างนับจากวันที่เป็นลูกจ้าง หรือขึ้นทะเบียนวันแรก