จากที่สมศักดิ์ เตรียมตั้ง สุพจน์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ ออกแบบโครงสร้างและบริหารจัดการเรือนจำอุตสาหกรรม หรือ เกษตรกรรมเพื่อการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่นั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2563 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรื่อง ธรรมาภิบาลของกระทรวงยุติธรรม กรณีมีคำสั่งแต่งตั้งให้นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งพ้นโทษจากคดีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินอันเป็นเท็จออกจากเรือนจำเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา เป็นที่ปรึกษาของโครงการออกแบบโครงสร้างและบริหารจัดการเรือนจำอุตสาหกรรม หรือเกษตรกรรมเพื่อการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง
โดยจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า ตามที่ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่าจะมีการแต่งตั้งอดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่เพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำในคดีคอร์รัปชั่น และยังมีคดีอื่นที่ค้างอยู่ในกระบวนการยุติธรรมให้มีตำแหน่งในอนุกรรมการคณะหนึ่งของกระทรวงฯ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีเจตนารมณ์ชัดเจนที่ จะปกป้องสังคม มิให้ผู้ที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองฯ อีกทั้งท่านนายกรัฐมนตรี เพิ่งประกาศการเป็นรัฐบาลโฉมใหม่ที่จริงจัง และยึดมั่นความถูกต้อง ซึ่งความตั้งใจเช่นนี้จะเป็นที่ยอมรับของประชาชนได้ จำต้องพิสูจน์โดยการกระทำของรัฐบาลทั้งคณะ มิใช่เพียงผู้นำรัฐบาลหรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง
การที่กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่สังคมคาดหวังว่าต้องเป็นแบบอย่างของความถูกต้อง เที่ยงธรรม ดังนั้นทุกการกระทำจึงควรยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ด้วยความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองอย่างเคร่งครัด การเชื้อเชิญให้บุคคลผู้มีประสบการณ์มางานช่วยราชการ จึงควรสรรหาคนดี คนเก่งที่ไม่มีมลทินในเรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยยังมีบุคคลเช่นนี้อยู่มาก
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ เชื่อว่าการต่อสู้เอาชนะคอร์รัปชั่น หลักสำคัญคือต้องทำให้ทุกคนตระหนักว่า การโกงเป็นเรื่องน่ารังเกียจ คนโกงต้องไม่มีที่ยืนในสังคม ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ข้าราชการและนักการเมืองที่ถูกศาลตัดสินแล้วว่าทุจริต ได้โอกาสกลับเข้ามามีบทบาทในวงราชการและการเมืองอีก จึงเป็นเรื่องที่สังคมรับไม่ได้
ก่อนหน้านี้คือเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.63 นายสมศักดิ์ ได้ชี้แจงบางช่วงไว้ว่า นายสุพจน์ไม่ได้อยู่ในคณะอนุกรรมการออกแบบโครงสร้างและบริหารจัดการเรือนจำอุตสาหกรรม หรือเกษตรกรรมเพื่อการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังที่กระทรวงยุติธรรมจัดตั้ง แต่ภายใน 1-2 วันนี้ตนจะมีคำสั่งแต่งตั้งให้นายสุพจน์ เป็นที่ปรึกษาของโครงการออกแบบโครงสร้างและบริหารจัดการเรือนจำอุตสาหกรรม หรือเกษตรกรรมเพื่อการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง
ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า นายสุพจน์เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ด้านการบริหารราชการ นอกจากนี้ยังเคยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จึงเห็นว่า หากนำตัวมาช่วยงานจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และเชื่อว่าสังคมจะเข้าใจ ตามนโยบายคืนคนดีให้กลับคืนสู่สังคม
“เราจะใช้ประสบการณ์ของ นายสุพจน์ ที่เคยอยู่ในเรือนจำ มาช่วยทำงานติชม การทำงานของคณะอนุกรรมการฯ อย่าคิดว่าผู้ที่เคยผ่านเรือนจำจะเป็นเดรัจฉานทุกคน ในเรือนจำมีทั้งกลุ่มนักโทษที่เป็น ทั้งเดรัจฉาน ขุนแผน และเทวดาตกสวรรค์ ซึ่งนายสุพจน์ ยังไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเพราะติดคุกเพียงไม่กี่เดือน” นายสมศักดิ์ กล่าว
สำหรับนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเหน่งทางเมืองมีคำพิพากษาจำคุก เป็นเวลา 10 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ในคดีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ และพ้นโทษออกจากเรือนจำเมื่อกลางปี 2562
โดยจากคดีคนร้ายบุกปล้นบ้านนายสุพจน์ เมื่อปี 2554 ซึ่งหลังเกิดเหตุตำรวจรวบตัวคนร้ายได้ยกแก๊ง คำสารภาพตอนหนึ่งของคนร้ายที่อ้างว่า “..ขนเงินสดมาได้ 200 ล้านบาทจากที่พบจำนวนมหาศาลประมาณ 700-1,000 ล้านบาท…” ขณะที่นายสุพจน์ กล่าวอ้างว่า คนร้ายได้เงินไปราว 5 ล้านบาทเท่านั้น แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตามเงินคืนมาได้กว่า 18 ล้านบาท พร้อมทองคำรูปพรรณอีก 10 บาท ซึ่งมูลค่าเกินกว่าคำกล่าวอ้างของนายสุพจน์ไปมาก
หลังจากมีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติเอกฉันท์ชี้มูลว่า นายสุพจน์ “ร่ำรวยผิดปกติ” และสั่งอายัดทรัพย์เกือบ 65 ล้านบาทของนายสุพจน์ที่ไม่สามารถชี้แจงที่มาได้ พร้อมส่งเรื่องต่ออัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลให้ยึดทรัพย์สินดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ต่อมาในวันที่ 30 มกราคม 2557 ศาลแพ่งได้พิพากษายึดทรัพย์นายสุพจน์ และครอบครัว รวม 19 รายการ มูลค่ากว่า 46 ล้านบาท ขณะที่ฝ่ายนายสุพจน์ยื่นอุทธรณ์สู้คดี กระทั่งในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้ให้ริบทรัพย์เพิ่มเป็น 65 ล้านบาท
ถัดมาอีก 2 ปี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาจำคุกนายสุพจน์ เป็นเวลา 10 เดือน และสั่งห้ามดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลา 5 ปี ฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินกว่า 17 ล้านบาท และรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกนมูลค่าเกือบ 3 ล้านบาท
และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ทางป.ป.ช.ได้ดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินของกลางต่อกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยในส่วนของเงินสดได้จัดทำแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายกระทรวงการคลัง ส่งมอบแก่ผู้แทนสำนักปลัดกระทรวงการคลัง และในส่วนของทองคำรูปพรรณจำนวน 2 เส้นน้ำหนักรวม 10 บาท ได้ส่งมอบแก่ผู้แทนกรมธนารักษ์ เพื่อดำเนินการให้ตกเป็นของแผ่นดินตามคำพิพากษาศาลแพ่งแล้ว
ส่วนทรัพย์สินของกลางในคดีอาญาที่ 2458/2554 ของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางในส่วนอื่นที่สำนักงาน ป.ป.ช.เก็บรักษาไว้ ประกอบด้วย แหวนทองจำนวน 2 วง นาฬิกา 1 เรือน และ กระเป๋าผ้าไนล่อน ซึ่งทางพนักงานอัยการจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อบังคับคดีให้ตกแก่แผ่นดินต่อไปด้วย