11 เรื่องควรรู้ ก่อนที่จะฟังศาลวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่รับเงินกู้ธนาธร
.
ดร.เวทิน ชาติกุล สถาบันทิศทางไทย
.
1. ศาลรธน.จะวินิจฉัยตามคำร้องของ กกต.
ศาลไม่ได้ตัดสินตามใจศาล แต่ตัดสินตามคำร้องของผู้ร้องซึ่งในที่นี้คือ กกต. โดยพิจารณาตามข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย
.
2. คำร้องของ กกต. ร้องว่าอะไร?
(11 ธ.ค. 62) กกต.มีมติพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากธนาธร 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
.
จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
.
3. คำร้องของ กกต. แปลว่า?
3.1 พรรคอนาคตใหม่ กู้ยืมเงินจาก ธนาธร 191 ล้าน
3.2 ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิด ม.72 (ตาม พรป.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560)
3.3 กกต.จึงยื่นคำร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตาม มาตรา 92 วรรค 1 (3) และ มาตรา 93
.
4. มาตรา 72 เขียนไว้ว่าอย่างไร
มาตรา 72
ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.
5. มาตรา 72 แปลว่า
5.1 บอกว่า พรรคการเมือง ห้ามรับ สิ่งต่อไปนี้ (ไม่ได้บอกว่าใครจะให้กู้ได้หรือไม่ได้)
5.2 สิ่งที่ห้ามรับ ก็คือ
5.2.1 เงินบริจาค
5.2.2 ทรัพย์สิน
5.2.3 ประโยชน์อื่นใด
5.3 โดยรู้ หรือ ควรรู้ ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกม. หรือ มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย
.
6. ข้อเท็จจริงคือ
6.1 พรรคอนาคตใหม่รับเงิน ธนาธร มาแล้ว (โดยระบุว่าเป็นเงินกู้) ซึ่งข้อเท็จจริงนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้ว ศาลจึงไม่สั่งให้มีการไต่สวนเพิ่มเติม จึงเหลือเพียงการพิจารณาว่ามีความผิดตามข้อกฎหมายหรือไม่?
.
7. ข้อกฎหมายที่ศาลน่าจะวินิจฉัยคือ
7.1 เงิน ธนาธร ที่พรรครับมา เข้าข่ายสิ่งที่ห้ามรับหรือไม่ ตาม ม.72?
7.1.1 เงินที่พรรครับมาอยู่ในประเภทหนึ่งของรายได้พรรคการเมืองที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
7.1.2 ตามมาตรา 62 นั้น เงินที่รับมานี้ไม่อยู่ในประเภทหนึ่งของรายได้พรรคการเมืองที่กฎหมายกำหนด (และตามกฎหมายมหาชน ต้องตีความตามตัวบท สิ่งที่ทำได้คือสิ่งที่กำหนดไว้ เท่านั้น)
7.1.3 เงินที่ไม่อยู่ในประเภทหนึ่งประเภทใดของรายได้พรรคตามกฎหมายที่พรรคอนาคตใหม่รับมานี้ถือว่า “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ตามมาตรา 72 หรือไม่?
.
7.2 เงินที่พรรครับมา รู้ หรือ ควรรู้ ว่า ได้มาโดยไม่ชอบด้วย กม. หรือ มีที่มาโดยผิดกม.หรือไม่?
7.2.1 มาตรา 66 วรรคสอง “พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้” = ห้ามพรรคการเมืองรับเงินจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งเกิน 10 ล้านบาท/ปี
7.2.2 เงินที่พรรคอนาคตใหม่รับมาจากธนาธร 191 ล้าน เกิน 10 ล้านบาท/ปี
7.2.3 เงินที่รับมานี้จะถือว่า”ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ตาม มาตรา 72 หรือไม่? (แม้จะอ้างว่าไม่ใช่เงินที่มีที่มาผิดกฎหมายก็ตาม)
.
8. ถ้าวินิจฉัยว่า ผิด จะวินิจฉัยต่อว่า มีโทษยุบพรรคตามมาตรา 92 วรรค1 (3) หรือไม่
.
9. ความเป็นไปได้ ก็คือ
9.1 วินิจฉัยว่า ไม่ผิด และ ไม่ยุบพรรค
9.2 วินิจฉัยว่า ผิด และ ยุบพรรค
9.3 วินิจฉัยว่า ผิด แต่ ไม่ยุบพรรค แต่อาจตัดสิทธิ์กก.บห.ของพรรค
.
10. เอกสารหลุด ความเห็นทางกม.อื่นๆ ศาลจะฟังหรือไม่ฟังก็ได้ เพราะอำนาจการวินิจฉัยข้อกม.ของศาลอยู่ที่ศาลอยู่แล้ว
.
11. ประเด็นของรูปคดีนี้ไม่ใช่ ธนาธร “ให้พรรคกู้เงินได้” หรือไม่ได้? ผิดหรือไม่ผิด? (นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องไปว่ากันอีกคดี) แต่คือ พรรคอนาคตใหม่หรือกรรมการบริหารพรรค “รับเงิน” ของธนาธร (ไม่ว่าจะเรียกว่าเงินอะไรก็ตาม) เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ จะมีความผิดหรือไม่? และมีความผิดขนาดไหน?
.
(หมายเหตุ) คดีนี้ใช้เวลาสืบเนื่องมายาวนานร่วม 9 เดือน ตั้งแต่ ศรีสุวรรณ ไปยื่น 21 พ.ค.2562 กกต.มีมติ 11 ธ.ค. 2562 ยื่นศาล 13 ธ.ค. 2562 และศาลนัดอ่านคำวินิจฉัย 21 ก.พ.2563 ที่พรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล บอกว่า “มีธง” ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงทำไมต้องปล่อยให้การพิจารณากินเวลายาวนานถึง 9 เดือนซึ่ง กกต.ถูกวิจารณ์ว่าพยายามดึงเรื่องถ่วงเวลาให้ล่าช้าด้วยซ้ำ จนมีนักกฎหมายหลายคนต้องออกมากระทุ้งผ่านโซเซียลมีเดีย เรื่องจึงเดินต่อได้