(1) ดร.เวทิน ชาติกุล นักวิชาการสถาบันทิศไทย นำเสนอบทความอันเกี่ยวเนื่องมาจากเหตุการณ์โคราชวิปโยค ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำงานของสื่อ
(2) โดยเห็นว่าเป็น วิกฤติสื่ออาชีพ ที่ถึงเวลาต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนหรือยัง?
(3) กรณีที่โคราช มีสื่ออาชีพอย่างน้อย 3 ช่อง คือ ช่อง One, ช่องอัมรินทร์ทีวี และ ช่องไทยรัฐทีวี ที่คล้ายจะตกเป็นจำเลยของสังคมโดยเฉพาะในโลกโซเชียลฯ
(4) ข้อวิจารณ์ก็คือ ความไม่เหมาะควรของการนำเสนอหรือสัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์หรือญาติพี่น้อง (ง่ายๆ คือ มุ่งขายข่าวจนลืมคำนึงถึงหัวอกของคนที่เป็นข่าว) เช่น สัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตจนมีเสียงกรีดร้องออกมาขณะสัมภาษณ์
(5) ข้อวิจารณ์ที่รุนแรงขึ้นคือ การรายงานข่าวทำให้การแก้ไขวิกฤติของเจ้าหน้าที่ยากลำบากยิ่งขึ้น เช่น ดักเอา inbox ไปรายงานตำแหน่งของผู้ที่ติดอยู่ภายในจนเจ้าหน้าที่เกือบไปช่วยออกมาไม่ทัน
(6) หรือ กรณีที่หนักที่สุด คือ รายงานข่าวแจ้งตำแหน่งจนคนร้ายได้ตามไปสังหารผู้ที่ติดอยู่ภายในได้ (ซึ่งกรณีนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจน)
(7) แม้สื่อที่ทำหน้าที่อย่างดีและควรยกย่องเช่น ThaiPBS, MThai และ ช่อง7 แต่ในฐานะสื่ออาชีพคงปฏิเสธไม่ได้ถึงเสียงวิจารณ์โดยภาพรวม ต่อข้อวิจารณ์ว่าด้วยความไร้จรรยาบรรณ และไร้มาตรฐานในการนำเสนอข่าวในห้วงเวลาฉุกเฉิน
(8) ความคาดหวังของสังคมต่อคนทำอาชีพสื่อคือ สื่อมวลชนอาชีพ มีมาตรฐานและจรรยาบรรณและความรับผิดชอบ ในการนำเสนอข่าวมากกว่า สื่อที่ไม่ใช่สื่ออาชีพ
(9) หมอ วิศวกร สถาปนิก บัญชี ทนาย ฯลฯ ถ้าทำผิดในมาตรฐานวิชาชีพ ก็ต้องถูกถอน #ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และ มีโทษตามกฎหมาย แต่สื่อมวลชนไม่เคยมี
(10) คำถามคือ การทำผิดมาตรฐานวิชาชีพ โดยการนำเสนอข่าวโดยสื่ออาชีพ สร้างผลร้ายกับที่รุนแรงกับสังคมหรือไม่?
(11) แล้ว มาตรฐานสื่อ จรรยาบรรณสื่อ ใครควรเป็นคนกำหนด?
(12) การควบคุมกันเองของสมาคมสื่อ เป็นเพียงคำพูดสวยๆที่ไม่มีทางเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติเลย
(13) มันถึงเวลาแล้วที่สื่ออาชีพต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ ที่จะถูกเพิกถอนถ้าทำความผิด และต้องรับโทษทางกฎหมายเหมือนกับวิชาชีพอื่น ๆ ที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบทางวิชาชีพตัวเองต่อสังคม
(14) ย้อนไป 30 เม.ย.60 สื่อมวลชนรวมพลังต่อต้าน ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่เข้าสู่การพิจารณาของ ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันที่ 1 พ.ค.60
(15) ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาออกแถลงการณ์ให้สปท. ถอนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …ออกจากระเบียบวาระการประชุม สปท. ตามที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนเสนอ
(15.1) โดยระบุเหตุผลว่า จะส่งผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อรวมถึงบุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์สื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ต้องตกอยู่ในสภาวะถูกกำกับควบคุม จนมิอาจใช้สิทธิเสรีภาพของตนได้อย่างสมบูรณ์ ตามรัฐธรรมนูญ
(16) ขณะที่สมาคมนักข่าวฯ ตั้งกระทู้เชิญชวนประชาชนร่วมคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนผ่านเว็บไซต์ change.org หัวข้อ “ยุติการพิจารณาออกกฎหมาย ตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน”
(17) ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ก็เคยให้ความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า มาตรการที่จะตอบโต้การเสนอกฎหมายควบคุมสื่อ ก็คือการแอนตี้ไม่ยอมเสนอข่าวของแม่น้ำทั้ง 5 สาย
(18) รวมทั้งวัฒนา เมืองสุข โพสต์ขณะนั้นว่า “ประชาชนสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือ และมีกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการทำงานของสื่อไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อต้องมีใบอนุญาต
(19) พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน บอกว่าจะหารือกับคณะกรรมาธิการฯ ให้เสนอตัดหลักการ เกี่ยวกับการออกใบประกอบวิชาชีพสื่อ รวมถึงบทลงโทษออกจากร่างกฎหมาย
(20) นั่นคือเรื่องราวของการจะขึ้นทะเบียนสื่อที่เคยถูกเสนอและล้มพับไปเพราะมีเสียงคัดค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนทำงานสื่อเอง???
(21) และเมื่อมาถึงวันนี้ที่การทำงานของสื่อถูกโจมตีจากสังคมอย่างรุนแรง คำถามก็ดังสะท้อนกลับมาอีกว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่กับการขึ้นทะเบียนสื่อ!?!
(22) กระนั้นก็มีความเห็นทางกฏหมายที่น่าสนใจยิ่งเมื่อ อาจารย์ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา ซึ่งได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวว่า
(22.1) สถานีโทรทัศน์บางช่องที่เสนอข่าวรวมทั้งผู้สื่อข่าวที่รายงานความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ตำรวจสดๆ ให้คนร้ายรู้อันเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานยากขึ้นและเป็นให้คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงประชาชนบริเวณตายนั้น
(22.2) น่าจะเข้าข่ายเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก ในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อนหรือขณะกระทําความผิด อันเป็นสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งมีโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานฆ่าคนตาย ตามมาตรา 288 ซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
(22.3) ทายาทของผู้ตายอาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้รายงานข่าวและสถานีโทรทัศน์ช่องนั้นได้ด้วย
(23) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น
(24) มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
(25) นั่นคือข้อคิดเห็นทางกฎหมายที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีใครดำเนินการเช่นนี้หรือไม่??? รวมทั้งการขึ้นทะเบียนสื่อที่ต้องนำกลับมาทบทวนพิจารณากันอีกครั้งหรือไม่???
#ปอกเปลือก#ปอกให้เห็นความจริง