ลดดอกเบี้ยสูตรสำเร็จในท่ามกลางวิกฤต?
อ.ศาสตรา โตอ่อน นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย
……
1.วิกฤตรอบด้านและไวรัสโคโรน่าฟางเส้นสุดท้าย
โลกกำลังเผชิญวิกฤตที่มองเห็นได้ชัด อย่างการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ที่นอกจากกำลังกัดกินประชากรโลกแล้ว ยังกำลังกัดกินเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกไปเรื่อย ๆ เส้นทางคมนาคมภายในประเทศจีน โรงงานของโลกถูกปิดกั้น จากมาตรการการกักกันโรคระบาด โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งต้องปิดตัวลงอย่างมิอาจปฎิเสธได้ และแม้หากสายพานการผลิตของจีนยังดำเนินต่อไปได้ก็ไม่อาจกระจายสินค้าไปทั่วประเทศหรือทั่วโลกได้
สายการบินที่แสดงความจำนงอย่างชัดเจนอย่างLufthansa ได้ประกาศกำหนดบินไปจีนอีกครั้งในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ซึ่งก็ไม่แน่ว่าอาจต้องเลื่อนออกไป มิพักต้องพูดถึงอย่างสายการบินในเครืออย่าง Austrian Airline ,Swiss Airที่กำหนดมาตรการแบบเดียวกัน
นอกจากนี้การติดเชื้อในเรือสำราญแสดงให้เห็นว่าไวรัสโคโรน่า สามารถแพร่ได้ทุกทางไม่ว่าทางบก ทางเรือ ทางอากาศ มาถึงตรงนี้อาจกล่าวได้ว่าจีนกำลังเผชิญวิกฤตหนัก แม้ว่ารัฐบาลจีนจะอัดฉีดเงิน 170 ล้านหยวนเข้าระบบจนดัชนีย์ตลาดหลักทรัพย์ดีดตัวขึ้นก็ตาม แต่มันอาจเป็นเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่อาจส่งผลดีในระยะสั้นเท่านั้น
เฉพาะผลกระทบของไวรัสโคโรน่าต่อจีน ก็อาจส่งผลลุกลามบานปลายต่อระบบเศรษฐกิจโลกเพราะในสายการผลิตสินค้าหลายชนิด จีนเป็นผู้ผลิตหลักที่หากหยุดชะงักจะกระทบห่วงโซ่การผลิต Supply Chainทั่วโลก
เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ส่งให้เกาหลีใต้อย่าง KIA และ Hyundai เริ่มได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานในจีนต้องปิดตัวลง ที่กล่าวมาเป็นพียงผลกระทบปัญหาโรคระบาดเท่านั้น มิพักต้องกล่าวถึงปัญหาซ่อนเร้นอื่น ๆ ที่กำลังตามมา ทั้งปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ China Subprime Mortgage ในจีน ปัญหาหนี้สินในจีนและสหรัฐอเมริกา ปัญหาการแตกร้าวของสหภาพยุโรปภายหลังอังกฤษออกจาก EU ปัญหาวิกฤต Deutsche Bank ที่ประสบวิกฤตการถือตราสารอนุพันธ์ความเสี่ยงสูง การถดถอยของภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตซ้อนทับเพียงใด
นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรแสดงผลอย่างชัดเจน เช่น เทือกเขาแอลป์และหิมาลัยกำลังสูญเสียธารน้ำแข็งไปจำนวนมาก ก็อาจทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในช่วงแรกและปัญหาน้ำแล้งตามมาเพราะธารน้ำแข็งคือที่เก็บกักสำรองน้ำ รวมทั้งการละลายของน้ำแข็งในเขตทุนดราไซบีเรียอาจเพิ่มเติมปัญหาโรคระบาดเข้าไปอีก เพราะจุลินทรีย์ เช่นเชื้อแอนแทรกซ์ที่เคยติดต่อจนทำให้กวางเรนเดียร์ล้มตาย และซากที่ถูกแช่แข็งไว้โผล่ขึ้นมาพร้อมเชื้อโรคดังกล่าว
โดยสรุปโลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤตอย่างรอบด้าน หนักหน่วงรุนแรง รอเพียงจุดพลิกผัน (Butterfly Effect) เท่านั้นที่วิกฤตจะบิดผันไปสู่จุดหักเลี้ยว (The Turning Point) และนำไปสู่สิ่งใหม่
2.สูตรลดดอกเบี้ย
กลับมาเข้าเรื่องทางเศรษฐกิจ ต้องเข้าใจก่อนว่า เศรษฐกิจมีกลไกการทำงานหลักเป็นไปตามธรรมชาติที่นำโดยพลังของเอกชน หรือพลังของตลาดที่เราเรียกว่ามือที่มองไม่เห็น ซึ่งตลาดนั้นหมายรวมถึงภาครัฐ ทั้งในฐานะผู้แข่งขัน(Operator)และผู้กำกับดูแล(Regulator)
ในฐานะOperator ภาครัฐกินเนื้อที่ 10-15% ของพลังทางเศรษฐกิจทั้งหมด ดังนั้นการหวังพึ่งภาครัฐในทางเศรษฐกิจ การรอรับงบประมาณผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกฤตก็คงอยู่ในระดับเพียงประคับประคองด้วยมาตรการทางการคลัง การใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหดตัว เคียงคู่กันกับบทบาทในการแทรกแซงเศรษฐกิจโดยการกำหนดนโยบายทางภาษีอากร การก่อหนี้สาธารณะ หรือที่เรียกว่าการดำเนินนโยบายทางการคลังแบบขยายตัว ซึ่งเป็นสูตรการแก้ไขปัญหายามเศรษฐกิจหดตัวนั่นเอง
ในส่วนของนโยบายทางการเงิน ธนาคารชาติ(National Bank) ธนาคารพาณิชย์(Business Bank) ธนาคารเพื่อการลงทุน (Investment Bank) สถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (Non-Bank)ตลอดจนบริษัทประกันภัย(Insurance Company) ต้อง
เป็นผู้เล่นหลักในภาคการเงินที่ช่วยผลักดันระบบเศรษฐกิจทั้งในฐานะผู้เล่นเช่นการปล่อยกู้ในธุรกิจ การประกันความเสี่ยง การรับฝาก การถอนเงิน ภาคครัวเรือนและผู้กำกับดูแลทางเศรษฐกิจ (Finance Market regulation) ซึ่งเป็นบทบาทของธนาคารชาติในการใช้นโยบายทางการเงินในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Stability)โดยในยามเศรษฐกิจขยายตัวก็ต้องทำการแทรกแซงให้กลับมาสมดุลย์โดยใช้นโยบายทางการเงินแบบหดตัวเช่นการเพิ่มอัตรา ดอกเบี้ย เพื่อชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ การควบคุมตรวจสอบธรรมภิบาลในภาคการเงิน (Finance Market Governance) การควบคุมการปล่อยเงินกู้ และสภาพคล่อง (Liquidity)
และในยามเศรษฐกิจหดตัวการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเชื้อเชิญให้เกิดการกู้ยืมและนำไปสู่การลงทุนเพื่อผลักดันเศรษฐกิจกลับสู่จุดสมดุลนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้การลดอัตราดอกเบี้ยยามเศรษฐกิจหดตัวมันจึงเป็นสูตรสำเร็จที่ใช้ในธนาคารชาติทั่วโลก อย่างธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และในยุโรป (ECB) กำลังดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบด้วยซ้ำ แต่สูตรนี้จะใช้สำเร็จหรือไม่ต้องดูต่อไปถึงสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
3.เศรษฐกิจไทยในภาวะอ่อนกำลัง
เริ่มกันที่ภาคการเกษตรที่มีสัดส่วนราว 8 % ของ GDP ที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาพืชผลตกต่ำมาโดยตลอดเพราะปลูกพืชซ้ำชนิดจนกลไกราคาไม่ทำงานเท่าที่ควร และต้องพึ่งพาการอุดหนุนจากภาครัฐมาโดยตลอดแล้ว ปีนี้คาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้ง และผลกระทบของไวรัสโคโรน่าทำให้จีนงดการนำเข้ายางพาราอีก ดังนั้นกับภาคเกษตรกรรมคงจะหวังอะไรมากไม่ได้
ภาคอุตสาหกรรมและส่งออกที่มีสัดส่วนราว 40% ของGDP เงินบาทที่แข็งค่ามาโดยตลอดแม้จะอ่อนตัวลงในช่วงไข้หวัดโคโรน่า แต่ตลาดโลกทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และแม้แต่จีนที่กำลังประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผนวกกับกำลังซื้อทั่วโลกที่อ่อนแรง กิจการอย่างห้าง Macy ทยอยปิดตัวลงแสดงออกอย่างชัดเจนถึงภาวะดังกล่าว แม้เงินบาทอ่อนตัวลงและมีการลดภาษีเครื่องจักรทุนเป็นความพยายามที่ดีในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมแต่ก็คงไม่อาจทำให้ภาคอุตสากรรมและการส่งออกเดินสะดวกนัก
ภาคการท่องเที่ยว 12% ของ GDP ขาดนักท่องเที่ยวจากจีนที่เป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดส่งผลกระทบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ นักท่องเที่ยวจากส่วนอื่นๆ ของโลกยังไม่มีประมาณการตัวเลขที่แน่นอนและอาจแกว่งไกวจากภาวะวิกฤตรอบด้าน ส่งผลกระทบต่อวิกฤตภาคนี้อย่างแน่นอน ในขณะที่ภาคบริการอื่นๆ ที่คิดเป็น 40% ของ GDP เมื่อกำลังซื้อจากภาคเศรษฐกิจอื่น ๆอ่อนกำลังลงย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ดังนั้นเมื่อมองภาพรวมแล้วตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดหวังไว้ราว 2-2.5% อาจต้องประมาณการณ์ใหม่ก็เป็นได้
- ลดดอกเบี้ยแก้ไขเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ
ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังสูญเสียกำลัง นอกจากนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80% ของ GDP ทำให้เกิดปัญหากำลังซื้ออ่อนแรงอีกชั้นหนึ่ง การใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้เกิดการลงทุนอาจมีผลดีในการจ้างงานและประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากค่าจ้าง แต่ในภาพรวมที่หนี้จำนวนมหาศาลในภาคครัวเรือนจากโครงการประชานิยมที่สะสมมา ต้องประเมินต่อไปว่ามาตรการลดดอกเบี้ยลงเหลือ 1% นั้นจะมีผลมากระทบ และช่วยผลักดันเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด เพราะเมื่อผลิตสินค้าออกมา หากขาดกำลังซื้อธุรกิจก็เดินยากอยู่ดี
ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยปัจจัยบวกที่พอจะช่วยได้คือการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่เป็นโมฆะ เงินบาทที่อ่อนตัวลง หากจะนำมาหักกลบลบหนี้กับปัจจัยลบ การลดอัตราดอกเบี้ยอาจมีผลเป็นการส่งสัญญาณบวกแรงๆ ต่อเศรษฐกิจตามที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าว
แต่สัญญาณบวกที่ว่าจะเกิดผลบวกจริงต่อระบบเศรษฐกิจจริงได้หรือไม่คงต้องมีการประเมินกันอีกครั้ง แต่ในภาวะโดยรวมในมหาวิกฤตซับซ้อนผนวกกับปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ปัญหาการขาดการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาว น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามในภาวะวิกฤตแบบนี้คงจะไปตำหนินโยบายลดดอกเบี้ยนี้ไม่ได้ถนัดนัก เพราะบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเหลือหน้าที่ทางนโยบาย (Space of Policy) น้อยเหลือเกิน
การลดดอกเบี้ย การทำให้เงินบาทอ่อนตัวการลดภาษี การใช้จ่ายภาครัฐ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน คือพื้นที่ที่ภาครัฐทำได้และพยายามอย่างเต็มที่แล้วแต่ในมหาวิกฤตครั้งนี้ แต่กระแสที่โถมทับการผลักดันทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามสูตรนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน