วิกฤติ Fakenews, เหตุวิกฤติที่โคราช ถึง วิกฤติสื่ออาชีพ ถึงเวลาต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนหรือยัง?
.
ดร.เวทิน ชาติกุล นักวิชาการสถาบันทิศไทย
.
30 มกราคม 2563 ตอนที่เฟคนิวส์ระบาดอย่างหนักในวิกฤติไวรัสโคโรน่า2019 ผมเขียนเรื่อง ถึงเวลาสื่อต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ ไปแล้วรอบหนึ่ง นึกไม่ถึงว่า เหตุเศร้าสลดที่โคราช จะยิ่งตอกย้ำข้อเสนอของผมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากข้อวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่อันไม่เหมาะสมของสื่อมวลชน ซึ่งมีข้อครหาว่ามีส่วนนำไปสู่เหตุสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วย
.
กระแส #ปฏิรูปสื่อ ดังขึ้นอีกครั้งในโซเซียลมีเดีย ถึงขนาดที่ กสทช.ต้องออกมาเด้งรับลูก (ซึ่งคงคาดการณ์ได้ว่าจะจบลงที่มีโทษนิดหน่อย แล้วทุกอย่างก็กลับไปเป็นแบบเดิม)
.
วันนี้ (10 ก.พ.2563) ผมขอเอาบทความเดิมที่เขียนไว้มานำเสนอซ้ำอีกครั้ง โดยอัพเดตให้เข้ากับสถานการณ์ล่าสุด โดยข้อเสนอทุกอย่างยังคงเดิม
.
กรณีวิกฤติโคโรน่า 2019
.
(1) ข่าว “สนามบินหยุดตรวจอุณหภูมิผู้โดยสาร ชี้ไม่มีความเสี่ยงเพราะจีนปิด อู่ฮั่น แล้ว” (24 ม.ค.2563) รายงานโดย VoiceTV
.
(2) ข่าว “…รัฐบาลไทยโกหกประชาชน กงสุลยอมรับรัฐบาลไร้คำสั่งช่วยเหลือคนไทยในอู่ฮั่น…” รายงานโดย VoiceTV
.
(3) ข่าว “คนจีนเดินทางออกจากเมืองอู่ฮั่น 5 ล้านคน” รายงายโดย ข่าวสด และ รายการ “เรื่องเล่าเช้านี้”(ก่อนที่จะแพร่ไปในสื่อเจ้าอื่นๆ)
.
(4) ข่าวเหล่านี้มีความชัดเจนระดับหนึ่งแล้วว่าคือ ข่าวปลอม fakenews
.
กรณีวิกฤติที่โคราช
.
(5) มีสื่ออาชีพอย่างน้อย 3 ช่อง คือ ช่อง One, ช่องอัมรินทร์ทีวี และ ช่องไทยรัฐทีวี ที่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโซเซียลมีเดียอย่างรุนแรงถึงการทำหน้าที่รายงานข่าวในห้วงเวลาวิกฤติ
.
(6) ข้อวิจารณ์ที่รุนแรงน้อยที่สุดก็คือ ความไม่เหมาะควรของการนำเสนอหรือสัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์หรือญาติพี่น้อง (ง่ายๆ คือ มุ่งขายข่าวจนลืมคำนึงถึงหัวอกของคนที่เป็นข่าว) เช่น สัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตจนมีเสียงกรีดร้องออกมาขณะสัมภาษณ์
.
(7) ข้อวิจารณ์ที่รุนแรงขึ้นคือ การรายงานข่าวทำให้การแก้ไขวิกฤติของเจ้าหน้าที่ยากลำบากยิ่งขึ้น เช่น ดักเอา inbox ไปรายงานตำแหน่งของผู้ที่ติดอยู่ภายในจนเจ้าหน้าที่เกือบไปช่วยออกมาไม่ทัน
.
(8) หรือ กรณีที่หนักที่สุด คือ รายงานข่าวแจ้งตำแหน่งจนคนร้ายได้ตามไปสังหารผู้ที่ติดอยู่ภายในได้ (ซึ่งกรณีนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจน)
.
(9) แม้สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่อย่างดีและควรยกย่องเช่น ThaiPBS, MThai และ ช่อง7 (ซึ่งใช้โดรนของสื่อช่วยเจ้าหน้าที่หาตำแหน่งคนร้าย) แต่ในฐานะสื่ออาชีพคงปฏิเสธไม่ได้ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำงานของสื่อโดยภาพรวม ต่อข้อวิจารณ์ว่าด้วยความไร้จรรยาบรรณ และไร้มาตรฐานในการนำเสนอข่าวในห้วงเวลาฉุกเฉิน
.
(9) ที่น่าตลกคือ มี สื่ออาวุโสคนหนึ่งออกมาแก้ตัวแทนการทำงานของสื่ออาชีพว่า “…แม้บางช่องจะพลาดไปบ้างถึงการเปิดเผยสถานที่หลบซ่อนเคร่าๆ แต่ไม่ถึงขั้นละเมิดจรรยาบรรณใดๆ…”
.
วิกฤติสื่ออาชีพ
.
(10) ย้ำว่าการนำเสนอข่าวปลอม และข้อผิดพลาดในการรายงานข่าวในห้วงวิกฤติเหล่านี้ ชัดเจนว่านำเสนอโดย “สื่อมวลชนอาชีพ” หรือ สื่อที่อ้างตัวว่าเป็นสื่ออาชีพ (ไม่ใช่สื่อโซเซียล)
.
(11) อันแสดงว่า มาตรฐานของ “สื่ออาชีพ” ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ไม่ได้ดีไปกว่า “สื่อโซเซียล” (ซึ่งไม่ใช่สื่ออาชีพ) และในทางตรงข้าม ความผิดนั้นย่อมหนักกว่า เพราะใช้พื้นที่สื่อของตัวเองสร้างความชอบธรรมให้กับข่าวปลอม(นี่ยังไม่ต้องคำนึงถึงกรณีที่หวังผลประโยชน์ในทางการเมือง หรือ ทางอื่นๆ) หรือใช้พื้นที่สื่อของตนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์มากกว่าชีวิตคนในสถานการณ์
.
(12) ซึ่งจากความคาดหวังของสังคมต่อคนทำอาชีพสื่อคือ สื่อมวลชนอาชีพ มีมาตรฐานและจรรยาบรรณและความรับผิดชอบ ในการนำเสนอข่าวมากกว่า สื่อที่ไม่ใช่สื่ออาชีพ
.
(13) ซึ่งผลที่ประจักษ์ชัดออกมาคือ ความคาดหวังนั้นผิด (ตรงกันข้าม สื่อโซเซียลบางเพจกลับช่วยเจ้าหน้าที่ประสานงานกับผู้ติดอยู่ในเหตุการณ์ได้เป็นอย่างมาก)
.
(14) และ สื่ออาชีพ ทำเหมือน สื่อโซเซียล(ส่วนใหญ่) คือ ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และ การแก้ไขปรับปรุงมาตรฐาน เมื่อมีความผิดพลาดในการนำเสนอข่าวขึ้นในพื้นที่สื่อของตัวเอง
.
(15) หมอ วิศวกร สถาปนิก บัญชี ทนาย ฯลฯ ถ้าทำผิดในมาตรฐานวิชาชีพ ก็ต้องถูกถอน #ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และ มีโทษตามกฎหมาย
.
(16) แต่สื่อมวลชนไม่เคยมี
.
(17) คำถามคือ การทำผิดมาตรฐานวิชาชีพ โดยการนำเสนอข่าวโดยสื่ออาชีพ สร้างผลร้ายกับที่รุนแรงกับสังคมหรือไม่?
คำตอบคือ ใช่
.
(18) แล้ว มาตรฐานสื่อ จรรยาบรรณสื่อ ใครควรเป็นคนกำหนด?
สื่อกันเอง? (เหมือนอย่างที่สื่ออาวุโสคนดังกล่าวอ้างขึ้นมาว่าทำผิดพลาดแต่ยังไม่ละเมิดจรรยาบรรณ อะไรคือจรรยาบรรณ? ใครเป็นคนกำหนด?)
.
(19) หรือ สังคมที่ได้รับผลจากความผิดพลาดจากการทำหน้าที่ของสื่อ ควรต้องเป็นผู้กำหนด
.
(20) คำถามที่ต้องตอบชาวบ้านคือ เมื่อผิดพลาดแล้วทำไม สื่ออาชีพ ถึงแทบไม่แสดงความรับผิดชอบ แทบไม่มีการควบคุมมาตรฐานวิชาชีพ แทบไม่มีบทลงโทษใด ๆ? ทั้ง ๆที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวบุคคล หรือเหตุการณ์ สังคม ประเทศ บางเรื่องหนักหนามาก
.
(21) ที่ผ่านมา สื่อมวลชนอาชีพ อ้างเสรีภาพสื่อ อ้างการหลุดพ้นจากอำนาจรัฐมาควบคุมปิดกั้นความจริง เพื่อทำหน้าที่ได้อย่างมีมาตรฐาน
.
(22) และอ้างว่าจะควบคุมกันเอง
.
(23) ถูกต้องที่อำนาจรัฐไม่ควรให้ควบคุมสื่อ แต่ถึงบัดนี้ ชัดเจนแล้วว่า การอ้างเสรีภาพสื่อ ไม่ใช่เพื่อสร้างมาตรฐานวิชาชีพ แต่เพื่อกลบเกลื่อนความผิดอันเกิดจากการไม่มีมาตรฐานทางวิชาชีพ
.
(24) ในทางตรงข้ามเป็นที่ประจักษ์ชัดจากกรณี วิกฤติถ้ำหลวงว่า การควบคุมให้สื่อทั้งสื่ออาชีพและสื่อโซเซียลมีเสรีภาพในขอบเขตที่จำกัดในระดับหนึ่ง(ตอนนั้นสื่อทุกสำนักถูกกันออกจากพื้นที่และมีการให้ข่าวพร้อมกันในคราวเดียวโดยผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการแก้วิกฤติ) สามารถช่วยให้การแก้วิกฤติดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เป็นเอกภาพ และรวดเร็วกว่า
.
(25) และการควบคุมกันเองของสมาคมสื่อ เป็นเพียงคำพูดสวยๆที่ไม่มีทางเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติเลย
.
(26) สื่ออ้างว่าตนรายงานความจริงต่อสังคม แต่กลับโกหกสังคมเรื่องการควบคุมมาตรฐานของตัวเองแบบซึ่งๆหน้า
.
(27) มันถึงเวลาแล้วที่สื่ออาชีพต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ ที่จะถูกเพิกถอนถ้าทำความผิด และต้องรับโทษทางกฎหมายเหมือนกับวิชาชีพอื่น ๆที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบทางวิชาชีพตัวเองต่อสังคม
.
(28) เหมือนทุกคนที่จะขับรถบนท้องถนน ต้องผ่านการอบรม สอบใบขับขี่ ทำผิดจะถูกปรับ หักคะแนน หรือถ้ารุนแรงก็ต้องเพิกถอนใบอนุญาต สื่ออาชีพก็ควรเป็นแบบเดียวกัน ใคร? สำนักไหน? ถ้าทำผิดมาตรฐาน ผิดจรรยาบรรณรุนแรง ก็ควรเพิกถอนใบอนุญาต และมีโทษตามกฎหมาย