ระบบทุนสำรองของประเทศไทย 4 ปัญหาใหญ่ – แก้ไขง่ายนิดเดียว

0

ระบบทุนสำรองของประเทศไทย 4 ปัญหาใหญ่ – แก้ไขง่ายนิดเดียว

ดร.วีรพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล

.

สรุปเนื้อหาการบรรยายที่ สถาบันทิศทางไทย รุ่นที่ 5 วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563
มาให้เพื่อนฟังกัน ข้างล่างนี้ ใครสนใจรายละเอียด ขอเชิญสมัครเข้าร่วมการสัมมนารุ่นต่อไปได้ครับ

0) นำเสนอข้อมูลแนวโน้มตั้งแต่ 2540 ถึง 2562 ของ ปริมาณเงินบาทหมุนเวียน ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ อัตราเงินเฟ้อ เงินสำรองต่างประเทศ เป็นต้น, ตลอดจนกลไกที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเพิ่ม-ลดของดัชนีดังกล่าว, พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่า “ระบบทุนสำรองของประเทศไทย” เช่นนี้ ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ 4 ประการดังนี้

1) ปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้เงินบาทมีมูลค่าในการนำไปซื้อสินค้าดำรงชีพในชีวิตประจำวันได้น้อยลง เงินเก็บหลังเกษียณอายุ 10 ล้านบาท สามารถใช้ในการดำรงชีพได้ไม่เกิน 25 ปี ผู้มีรายได้จากเงินเดือนและผู้ใช้แรงงาน จะมีฐานะความเป็นอยู่แร้นแค้นยากจนลงเรื่อยๆ ปัญหานี้เกิดจากการเพิ่มปริมาณบาทหมุนเวียนมากกว่าการเติบโตของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ สืบเนื่องจากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 2.5±1.5% และกู้เงินมาใช้จ่ายมากกว่าภาษีที่จัดเก็บได้ปีละประมาณ 5-6 แสนล้านบาท

2) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เกิดจากการส่งเงินบาทหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งปล่อยกู้ให้กลุ่มทุนผูกขาดรายใหญ่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ขณะที่ปล่อยกู้ให้กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในอัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่า 2 และ 3 เท่าตามลำดับ ขณะที่ประชาชนระดับล่างไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิตที่ดีมายกระดับความสามารถในการเพิ่มผลผลิตได้ทันกับอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

3) ปัญหาเงินบาทแข็งค่าเกินจริง เกิดจากปริมาณเงินบาทหมุนเวียนต่อทุนสำรองต่างประเทศมีน้อยเกินไป กล่าวคือ ในเดือนกันยายน 2562 อัตราส่วนดังกล่าว=92.61บาท/1US$ และ อัตราแลกเปลี่ยน =30.58บาท/US$ เทียบกับในเดือนธันวาคม 2558 อัตราส่วนดังกล่าว=112.14บาท/1US$ และ อัตราแลกเปลี่ยน=36.08บาท/US$ ทางแก้ของปัญหานี้คือ เพิ่มปริมาณบาทหมุนเวียนได้อีก 10-20 บาท/1US$-ทุนสำรอง หรือประมาณ 2-4 ล้านล้านบาท (เรามีทุนสำรองอยู่ 2.2 แสนล้าน US$)

4) ปัญหาคอรัปชั่น เกิดจากการที่รัฐบาลหนึ่งออกพันธบัตรกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ปีละประมาณ 5-6 แสนล้านบาท มาชดเชยงบประมาณขาดดุล เมื่อพันธบัตรครบอายุไถ่ถอนในอีก 5-10 ปีต่อมา ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต่อไปที่จะเก็บภาษีจากประชาชนมาชดใช้หนี้ (และไม่เคยเพียงพอ) จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกเงินบาทเพิ่ม เพื่อมาไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนด รัฐบาลหนึ่งกู้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ รัฐบาลต่อมาก็ไม่ต้องรับผิดชอบเพราะหากเก็บภาษีมาไม่พอใช้ก็มี ธปท.พิมพ์เงินบาทออกมาชำระหนี้ให้ ยิ่งกู้มากกู้ง่ายเท่าใด การคอรัปชั่นก็มากและง่ายเท่านั้น ธนาคารพาณิชย์ก็ยิ่งร่ำรวยเป็นหมูนอนกิน

====แนวทางแก้ไขปัญหา====

หากเข้าใจสาเหตุของปัญหาตามความเป็นจริงย่อมแก้ไขได้ไม่ยาก แถมยังสร้างโอกาสที่จะพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดได้ด้วย ดังนี้

1) รัฐบาลออกพันธบัตรกู้เงินจาก ธปท. โดยตรง ไม่ผ่านธนาคารพาณิชย์ ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
2) เงินบาทหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท นำไปใช้เสริมสร้างความสามารถในการเพิ่มผลผลิตของประชาชนระดับล่างที่มีจำนวนมาก อย่างเป็นระบบและมีวินัย ผ่านกองทุนลดความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
3) ขยายอายุเกษียณ เพื่อรักษาอัตราส่วนผู้อยู่ในวัยทำงานต่ออัตราส่วนผู้เกษียณอายุไว้ที่ 7 ต่อ 1 คน (ปัจจุบันอยู่ที่ 3.5 ต่อ 1 คน)
4) เพิ่มอัตราปริมาณเงินบาทหมุนเวียนต่อทุนสำรองต่างประเทศ และ รักษาไว้ให้คงที่ที่ระดับ 112.14บาท/1US$ จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่ามาอยู่ที่ 36.08บาท/US$ พร้อมทั้ง เพิ่มปริมาณบาทหมุนเวียนได้อีก 2-4 ล้านล้านบาท นำมาเสริมสภาพคล่องภายในประเทศหรือสร้างสาธารณูปโภคหรือเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่มีสภาพคล่องสูง
5) กำหนดนโยบายเงินเฟ้อเป้าหมายของเงินบาทไว้ที่ 0% ตลอดกาล จะทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลบ่าเข้ามาแลกเป็นเงินบาทนำไปเก็บไว้เป็นทุนสำรองทั้งของส่วนบุคคล-ภาคเอกชน-และภาครัฐที่เป็นชาวต่างชาติ จะทำให้เงินบาทเป็นที่ยอมรับใช้กันกว้างขวางในสากล ในท่ามกลางสถานการณ์ที่เงินสกุลต่างๆแข่งกันลดค่าสร้างความไม่มั่นใจให้แก่ผู้ถือ (เราต้องคิดต่าง)
6) สร้างระบบ “เงินบาทเข้ารหัส (Crypto-Baht)” เพื่อลดต้นทุนการจัดพิมพ์และจัดการเงินกระดาษ ที่สำคัญ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการเพิ่มปริมาณเงินบาทรองรับความนิยมความต้องการใช้ทั่วโลกตามที่กล่าวในข้อ 5) และ ความสะดวกในการแลกเปลี่ยนและใช้ซื้อสินค้าได้ทั่วโลก
7) เงินบาทเข้ารหัส จะช่วยป้องกันการคอรัปชั่น เพราะสามารถสืบย้อนกลับได้ว่าได้มาจากใคร จากการแลกเปลี่ยนกับอะไร และ จะช่วยลดต้นทุนในการทำรายการทางการเงินพร้อมทั้งกระตุ้นให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหมุนเวียนได้รวดเร็วขึ้น