ปัญหาสภาพคล่องSME ทางส.อ.ท.ได้เสนอต่อรัฐบาล ให้เร่งผลักดันการใช้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) วงเงิน 500,000 ล้านบาท รวมทั้งให้บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม(บสย.) ช่วยค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดย่อมให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น อีกทั้งพัฒนาภาคเกษตร ผลักดันใช้ระบบเกษตรแม่นยำ นำร่อง 2 ล้านไร่
19 มิถุนายน 2563 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอข้อคิดเห็นในการฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป้าหมายคือการฟื้นฟู และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ภาคการเกษตร โดยเสนอให้รัฐบาลลดต้นทุนในการผลิตใช้ระบบการเกษตรแม่นยำ โดยมีพื้นที่นำร่อง 2,000,000 ไร่ ในกลุ่มพืชผล 5-6 ชนิด และเร่งแก้ปัญหาผู้ประกอบการ SME เข้าไม่ถึงสินเชื่อ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า “เอสเอ็มอีจำนวนมากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลกระทบที่ไม่ได้มาจากการดำเนินธุรกิจที่ผิดพลาด ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเข้ามาช่วยเหลือด้านการเงินอย่างเต็มที่ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่รอดผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ ซึ่งหากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ เอสเอ็มอีเหล่านี้จะเป็นเครื่องจักรที่สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยให้เดินหน้าได้ต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จำนวน 500,000 ล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย ของสมาชิก ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ อาทิ เนื่องจาก พ.ร.ก. กำหนดให้ SMEs สามารถขอสินเชื่อได้เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มียอดขายเกิน 500 ล้านบาท ไม่สามารถ ขอสินเชื่อได้ รวมถึงผู้ประกอบการบางรายมีประวัติที่ไม่ดี ประสบปัญหาเป็นหนี้ NPL หรือเคยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ หรือค้างชำระหนี้ หรือขาดทุนในช่วงต้นปี 2563 จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ หรือในบางกรณี ธนาคารพาณิชย์แจ้งว่าสินเชื่อดังกล่าว หมดแล้ว และเสนอ Package สินเชื่ออื่นแทน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าและมีการเก็บค่าธรรมเนียม รวมถึงธนาคารพาณิชย์เรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม แม้จะแจ้งว่าไม่บังคับ แต่มีส่วนในการตัดสินใจอนุมัติการปล่อยสินเชื่อ อีกด้วย
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับ โครงการ“Travel Bubble”จับคู่ด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศที่มีความมั่นใจในความปลอดภัยของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ทางส.อ.ท.สนับสนุนว่าเป็นสิ่งที่ดี ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวรายได้สูง หรือนักท่องเที่ยวเกรดเอเข้ามาท่องเที่ยวพักอาศัยในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ควบคุมไวรัสโควิด-19 ได้ดี เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง รวมไปถึงประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่เป็นนักท่องเที่ยวรายได้สูงและชอบที่จะมาเที่ยวในไทย เนื่องจากไทยปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 เหมาะที่จะมาพักผ่อนระยะยาวเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดในยุโรป
……………………………………………..