บทเรียนโคโรน่า 2019 สู่ “โมเดลประเทศไทย กรณีภัยพิบัติโรคร้าย”
รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา อาจารย์ด้านเวชสารสนเทศ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิชาการสถาบันทิศทางไทย
จากกรณีที่มีการเกิดภัยพิบัติโรคร้ายของโลกจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าที่การสอบสวนโรคพบต้นตอจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นเชื้อโคโรน่าไวรัสชนิดใหม่ ที่มีความใกล้เคียงกับไวรัสโรคซาร์สและเมอร์ส แต่เนื่องจากเมื่อเวลาเปลี่ยนไปการเคลื่อนย้ายหรือเดินทางของประชากรนับวันจะรวดเร็วและมีปริมาณมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าโลกจะมีการพบกับการระบาดของโรคร้ายมาหลายรอบ จากบทเรียนของประเทศจีนเมื่อครั้งระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2013 ที่เคยมีสำนักข่าวบีบีซีประเทศไทยเคยนำเสนอไว้เป็นเบื้องต้น (BBC news Thai Online, 28Jan2020) เพื่อมาเป็นมาตรการและโมเดลในการแก้ปัญหาของการระบาดจากไวรัสโคโรน่า 2019 ขอเสนอความคิดเห็นซึ่งอาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดบ้างจากบีบีซีเป็นจำนวน 3 ข้อที่สำคัญ ดังนี้
1) การไม่ปิดข่าวและการแจ้งข่าวต่อนานาประเทศ
การแจ้งข่าวและเผยแพร่โรคและการดำเนินการของโรคต่อนานาประเทศ ทั้งเรื่องของอาการ การตรวจสอบเชื้อ เพื่อให้ทราบถึงชนิดของเชื้อ รวมถึงการดำเนินการต่างๆ ในทางการปกครองและนโยบายเพื่อการจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกับองค์กรอื่นๆ เพื่อสร้างกรอบในการดำเนินการของประเทศ เน้นย้ำความโปร่งใสและความตั้งใจจริงในการเผยแพร่ข่าวสาร เพราะการไม่มีความโปร่งใสหรือสร้างความระแวงว่าไม่ได้นำข้อมูลความจริงจากประเทศที่เป็นจุดตั้งต้นของการเกิดโรคระบาดก็จะสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2) การนำเสนอผลทางวิชาการด้านการแพทย์และการจัดการด้านสาธารณสุข
เมื่อประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของการระบาดของโรค ซึ่งเป็นประเทศที่ได้มีโอกาสได้ทำการรักษาและจัดการในการให้บริการรักษาทางการแพทย์กับผู้ป่วย ก็ควรนำเสนอผลงานทางวิชาการทางการแพทย์และงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทางการแพทย์ (เวชสารสนเทศ) หรืองานทางระบาดวิทยา ต่อระดับนานาชาติให้รวดเร็วเพราะประเทศอื่นๆ ที่กำลังจะได้รับผลจากการระบาดไปจากประเทศต้นกำเนิดจะได้นำมาเป็นพื้นฐานในการดำเนินการ เช่น การใช้ยารักษาที่มีการทดลองใช้แล้วได้ผล การพบข้อมูลรายละเอียดและลักษณะการติดต่อจากสัตว์สู่คนและจากคนสู่คน ระยะเวลาในการแสดงอาการ หรือสิ่งที่นำไปสู่การเสียชีวิตหรือหายของผู้ป่วยจากการพบในระหว่างการรักษา เป็นต้น ซึ่งจะเป็นบทเรียนที่สำคัญในการดำเนินการทางการแพทย์ในระดับนานาชาติเพื่อการรับมือกับการหยุดการระบาดของโรคและยกระดับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคจากการระบาด
3) การทำงานร่วมกันในระดับนานาชาติ
นับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่การดำเนินการในปัจจุบันอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) หรือโลกไร้พรมแดน (Borderless) การดำเนินการต่างๆ จึงเป็นการทำร่วมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกไปด้วย เมื่อประเทศต้นกำเนิดทราบว่าเป็นเชื้ออะไรก็มีการเผยแพร่ออกไป หรือประเทศที่มีการตรวจพบผู้ป่วยที่เคยอาศัยหรือผ่านบริเวณจุดกำเนินการระบาดก็จะทำการตรวจเพื่อยืนยันเชื้อร่วมกัน การมีธนาคารระดับจีนอมของโลก (Genome Bank) ก็จะทำให้บ่งชี้เชื้อได้และเป็นที่ทราบกันในระดับนานาชาติได้อย่างรวดเร็ว กระบวนการรักษาที่ได้มาจากการทดลองร่วมกับการมีข้อมูลจากการนำเสนอหรือการเผยแพร่ทางวิชาการก็จะเสมือนเป็นการทำงานร่วมกันต่อเนื่องกันไปทั้งโลก นโยบายต่างๆที่ประเทศต้นกำเนิดโรคจะดำเนินการก็จะส่งผลต่อประเทศต่างๆ ไปด้วย เพราะอาจะเป็นประเทศคู่ค้า ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศเกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ประชาชนมีการแลกเปลี่ยนกันทั้งการประกอบการ การทำงาน การศึกษาต่อเนื่องกันระหว่างประเทศ นอกจากนี้การกักกัน กำหนดกรอบพื้นที่ในการเดินทาง การอนุญาตและหาวิธีเพื่อให้ประชาชนจากประเทศอื่นได้ออกจากประเทศที่เป็นต้นกำเนินโรค ล้วนเป็นการดำเนินการที่จะกระทบกับประเทศอื่นๆ ไปทั่วโลก ดังนั้นการทำงานในเชิงนโยบายจึงต้องมีการดำเนินการร่วมกันในระดับนานาชาติ
จากการระบาดของโรคดังกล่าวซึ่งมีต้นตอมาจากประเทศจีนหลายครั้ง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าส่งผลต่อประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเพราะประเทศไทยมีความเกี่ยวข้องในหลากหลายมิติกับประเทศจีน การเข้ามาท่องเที่ยวของประชาชนชาวจีนในประเทศมีจำนวนมาก การมีมาตรการที่ดีจะส่งผลให้ประเทศไทย ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะมีการดำเนินการในเรื่องนี้ให้เป็นระบบ (Systematic) ซึ่งถ้าจะทำให้เกิดระบบนั้นก็จะดูจาก “D-R-M-P” ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ด๊อกเตอร์เอ็มพี คือ
D – Definable : กระบวนการมีขั้นตอนอย่างไร มีใครรับผิดชอบ มีกรอบระยะเวลาอย่างไร มีปัจจัยนำเข้าอะไรบ้าง มีผลผลิตเป็นอะไร
R – Repeatable : สามารถทำซ้ำได้
M – Measurable : วัดได้ ตรวจสอบได้
P – Predictable : คาดการณ์ได้
ซึ่งถ้ามีการถอดบทเรียนจากการรับมือกับโรคระบาดหลายครั้งหลายคราที่ผ่านมาของประเทศไทย โชคดีที่ระบบการแพทย์ของประเทศมีการพัฒนามานาน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในการทำนุบำรุงสถานพยาบาลและการสาธารณสุขไทยมาอย่างต่อเนื่อง จนมีการพัฒนาด้านการแพทย์และมีผลการเป็นที่ยอมรับในอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ไม่ควรชล่าใจเพราะโรคระบาดจะเป็น “มหันตภัยร้าย” ที่คุกคามมนุษยชาติที่รุนแรงและหนักหน่วงมากขึ้นอย่างแน่นอน การเข้าไปท่องเที่ยวยัง “รังโรค” หรือแหล่งกำเนิดโรคในกลางป่าใหญ่ของคนต่างถิ่นหรือชาวเมืองที่มิได้คุ้นเคยกับพื้นที่ การทำลายธรรมชาติ การค้าขายสัตว์ป่าออกไปในวงกว้าง โอกาสที่เชื้อโรคที่เคยอยู่เฉพาะถิ่นหรือเฉพาะในสัตว์ป่าก็จะมีโอกาสในการเข้าสู่มนุษย์ที่ภูมิต้านทานต่ำจนเกิดโรคระบาดมาหลายครั้งแล้ว การพัฒนารูปแบบการรับมือกับโรคร้ายที่นับวันจะเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้จึงควรหันกลับมาทบทวนเป็นอย่างมาก การที่จะต้องเอาจริงเอาจังกับ สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ที่จะต้องบูรณาการจากหลายภาคส่วนต้องได้รับการดำเนินการในเชิงนโยบายมากขึ้นเพื่อให้เห็นว่า การระบาดของโรคไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว แต่เป็นการเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน
เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นทุกอย่างจึงควรจะมีขั้นตอนที่มาตรฐานตามตัว D (Definable) ที่กำหนดไว้ว่าใครจะมารับผิดชอบตามกรอบเวลาอย่างไร ควรปลอดจากการเมือง ฝ่ายการเมืองควรเป็นเพียงผู้กำหนดในเชิงนโยบายในการประกาศสถานการณ์โรคร้ายหรือโรคระบาดและกำหนดอำนาจ ข้อกฎหมายเฉพาะกิจ และงบประมาณสนับสนุนเท่านั้น จากนั้นก็ถอยออกมาหรืออยู่ในฐานะของที่ปรึกษา โดยการกำหนดองค์กรเฉพาะกิจที่เป็นรูปแบบนี้ควรประกอบด้วยหน่วยงานที่หลากหลาย มีผู้เกี่ยวข้องที่จะสนับสนุนการปฏิบัติงานในการจัดการกับภัยพิบัติโรคร้ายหรือโรคระบาดได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ดังจะเห็นได้จากการรับพี่น้องชาวไทยจากเมืองอู่ฮั่นในสถานการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ก็ต้องอาศัยพื้นที่ของความรับผิดชอบสังกัดกองทัพเรือ จากการศึกษาบทเรียนจากอดีตและการดำเนินการเพื่อการพัฒนาให้เกิดระบบที่สามารถทำซ้ำได้ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติโรคร้ายหรือโรคระบาดอีกสักกี่ครั้งตาม “R – Repeatable : สำมารถทำซ้ำได้” เพียงรัฐบาลประกาศสถานการณ์ทุกอย่างก็จะถูกดำเนินการโดยอัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องมีนักการเมืองมาคอยแถลงข่าวใดๆ และประชาชนก็จะได้รับข่าวสารอย่างเต็มที่ ไม่ต้องรอข่าวจากประชาชนด้วยกัน จนเกิดข่าวปลอม (Fake news) กันเต็มบ้านเต็มเมือง โดยรูปแบบหรือโมเดลประเทศไทย กรณีภัยพิบัติโรคร้าย ดังนี้
คณะทำงานภัยพิบัติโรคระบาดประเทศไทย
- อธิบดีกรมควบคุมโรค
- เจ้ากรมแพทย์ทหารบก
- เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ
- เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ
- อธิบดีกรมการแพทย์
- ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม
- เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- อธิบดีกรมการกงสุล
- ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
- นายกแพทยสภา
- โฆษกรัฐบาล
- อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
ลำดับที่ 1 – 10 จะมีการคัดเลือกเพื่อเป็นประธานคณทำงานภัยพิบัติโรคระบาดประเทศไทย ในแต่ละครั้งที่มีการประกาศสถานการภัยพิบัติโรคระบาดขึ้น โดยมีอันดับ 11 เป็นเลขานุการของคณะทำงาน และ ลำดับที่ 12 เป็นผู้ช่วยเลขานุการและคณะทำงาน กรณีที่ไม่ได้มีโฆษกรัฐบาลหรือมิอาจปฎิบัติงานได้ก็ให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นเลขานุการของคณะทำงานแทน
โดยมีคณะที่ปรึกษาดังนี้
- นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
- ผู้บัญชาการทหารบก เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
- ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
- ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
- ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนคณะที่ปรึกษาตามที่นายกและคณะรัฐมนตรีเห็นสมควร
โดยกลุ่มหรือทีมที่กำหนดตามโมเดลนี้จะมีการดำเนินการต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การประชุมเตรียมความพร้อมในทุกมิติเพื่อรับมือโดยไม่ต้องรอให้พบกับผู่ป่วยที่เข้ามาในประเทศไทย มีการคาดการณ์ล่วงหน้า ประชาสัมพันธ์และเป็นศูนย์ให้ข้อมูลต่อประชาชนที่มีความชัดเจนอย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะใช้พื้นที่สวนใดของหน่วยงานหรือสถานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขใดบ้างในการเตรียมรับผู้ป่วยที่อาจมีขึ้นในประเทศไทย การขนย้ายประชาชนไทยจากแหล่งกำเนิดโรค รูปแบบของการเตรียมการรักษา ข้อเสนอแนะเพื่อการประกาศเป็นนโยบาย ข้อกำหนด และกฎหมายของรัฐบาลที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน การเตรียมตัวและการป้องกันของประชาชนทั่วไป การคาดการณ์ที่อาจเกิดขึ้นและการดำเนินการที่จะกระทำหากเกิดเหตุตามที่คาดการณ์ เป็นต้น
เมื่อมีการดำเนินการโดยใช้โมเดลนี้แล้วประชาชน ตัวแทนประชาชนในฐานะนักการเมือง หรือคนทุกกลุ่มก็สามารถที่จะ ทำการตรวจสอบการดำเนินการได้ตาม “M – Measurable : วัดได้ ตรวจสอบได้” นอกจากนี้การดำเนินการและการให้ข้อมูลที่ชัดเจนเมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลจากการคาดการณ์ก็จะเป็นการรู้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นต่อไป ทำให้ประชาชนรู้และเข้าใจมากขึ้น ตาม “P – Predictable : คาดการณ์ได้” ในการพัฒนาเพื่อความเป็นระบบนั่นเอง
ไม่เช่นนั้นผลจาก “ภัยพิบัติโรคร้าย” ที่เกิดจากไวรัสหรือเชื้ออื่นๆ อีกต่อไนในอนาคต อาจมีความรุนแรงและส่งผลต่อประชาชนชาวไทยได้ในวงกว้างและไม่อาจประเมินความเสียหายได้