ยุคลุงตู่ต้องบูรณาการ ”การป้องกันทุจริต เอาผิดคอร์รัปชัน” อย่างเป็นระบบ

0

ยุคลุงตู่ต้องบูรณาการ ”การป้องกันทุจริต เอาผิดคอร์รัปชัน” อย่างเป็นระบบ โดย รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา  นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย

จากกรณี ที่มีข่าวเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากกรณีต่อเนื่องมาจากสมัยรัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน และจากการศึกษาที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าการทุจริต ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยติดลำดับที่ 101 การทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรมิชอบ เพื่อตนเองและพวกพ้อง

การทุจริตจึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เป็นการประพฤติชั่ว รับสินบน การคดโกง ไม่สุจริต ไม่ซื่อตรง และไม่ซื่อสัตย์ มีพฤติกรรมที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตนเองมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งการทุจริตคอร์รัปชันของภาครัฐเชิงนโยบาย ได้แก่ การทุจริตโครงการเมกะโปรเจกต์ ปัญหาการโกงเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย และปัญหาเงินทอนวัด เป็นต้น (Piyatida Apaipak, 2018) 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรับมนตรี

เมื่อพิจารณาถึงหน่วยงานหลักๆ ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย ประกอบด้วยหน่วยงานดังนี้

หน่วยงานภาครัฐ เช่น 

1) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 

  • – ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาพรวมของประเทศ โดยไม่รวม 1. การกระทำของข้าราชการระดับอำนวยการสูงหรือ ซี 9 ลงมา และเรื่องไม่ร้ายแรง 2. การกระทำที่เป็น “ความประพฤติมิชอบ” ของเจ้าหน้าที่รัฐ

2) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 

  • – วางมาตรการป้องกันคอร์รัปชันในภาครัฐ รวมถึงปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในฝ่ายบริหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ระดับตั้งแต่อำนวยการสูงหรือ ซี 9 ลงมา และเรื่องไม่ร้ายแรงตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย

3) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) 

  • – ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานรัฐให้เป็นไปตามระเบียบและวัตถุประสงค์

หน่วยงานภาคเอกชนและภาคประชาชน เช่น 

  • 1) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
  • 2) มูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  • 3) มูลนิธิต่อต้านการทุจริต
  • 4) โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต

 

แผนภาพแสดงบทบาทและหน้าที่องค์กรและหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชัน (องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), 2563)

 

จะเห็นว่าหน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยงานที่มีการดำเนินการเป็นเอกเทศ และยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องนี้อีกมากมายเพราะการดำเนินการนั้นต้องมีทั้ง การปลูกฝัง การป้องกัน และการปราบปราม ที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกัน ดำเนินการจากหลายส่วนงาน และต้องการการนำที่ดีจากผู้นำระดับสูงของประเทศที่เอาจริงเอาจังเพื่อสร้างให้เป็นระบบ ต่อไปไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้นำประเทศ ระบบนี้ก็ยังอยู่และยังขับเคลื่อนไปได้เสมอ 

การดำเนินการเพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างเป็นระบบ ผู้นำประเทศจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะจุดแข็งสำคัญของรัฐบาลที่นำโดยนายกที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือภาพที่ประชาชนยังมีความเชื่อมั่นต่อนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นคนที่ไม่มีข้อกังขาเรื่องทุจริตคอร์รัปชันและเป็นผู้ที่มีความรักชาติ

จุดแข็งนี้ถ้าไม่ถูกนำมาทำให้เป็นรูปธรรมก็น่าเสียดายยิ่ง การดำเนินการให้มีการพัฒนาระบบที่เกิดจากการบูรณาการเพื่อปลูกฝัง ป้องกัน และปราบปราบการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศทุกรูปแบบ สร้างระบบให้ขึ้นมาตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนมาถึงระดับชาติ มีองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยอยู่นอกเหนือการควบคุมจากภาครัฐในท้องถิ่น มีระบบกลไกที่ป้องกันผู้แจ้งเบาะแสและให้ความร่วมมือการการดำเนินการอย่างเป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูงสุด การบูรณาการการทำงานขององค์กรต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคม สร้างจิตอาสาในการปลูกฝัง ป้องกัน และปราบปราบการทุจริตคอร์รัปชัน โดยทุ่มเทศักยภาพที่รัฐบาลมีเพื่อให้เห็นการสนับสนุนอย่างจริงจัง นี่คือหนทางแห่งการ “ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน” ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

การดำเนินการในการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน แม้จากการศึกษาที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าหลักการสำคัญที่จะนำมาใช้คือ 1)หลักธรรมาภิบาล 2) หลักคุณธรรมจริยธรรม และ 3) หลักการดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เป็นหลักการที่จะทำให้มีการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หลักการเหล่านั้นก็เป็นที่ทราบกันและดำเนินการกันมาอย่างต่อเนื่องก็ยังทำได้ยากให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่แท้จริง การดำเนินการควรทำให้เกิดเป็นรูปธรรมที่จับต้องใด้มากกว่านี้ จะต้องสร้างให้เกิดระบบไปจนถึงระดับท้องที่ ที่มีระบบข้อมูลข่าวสาร ระบบการแจ้งเบาะแส ที่ชัดเจน ทุกคนเข้าใจได้ บูรณาการทั้งหน่วยงานที่มีอยู่แล้วและจัดตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะที่จะประสานงานในลักษณะเดียวกับ ศูนย์ดำรงธรรม ที่เป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลได้ทำดีเรื่องการร้องทุกข์ของพี่น้องประชาชนมาแล้ว 

  ถ้านายกรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงของชาตินำประเทศไปด้วยการมีระบบกลไกที่ดีในการป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวง ประชาชนทุกหย่อมหญ้าก็จะได้รับประโยชน์จากงบประมาณชาติอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สกัดกั้นผู้มีอิทธิพล นักการเมืองชั่ว เพื่อการนำไปสู่  “ยุคลุงตู่ต้องบูรณาการป้องกันทุจริต เอาผิดคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ