กรมอุทยานฯ แจงเหตุรื้อบ้านโบราณเมืองแพร่ ลูกสาว “ขุนวนารักษ์ดำรง” เล่าความหลังเคยอยู่ที่นี่ก่อนโดนทุบ

0

จากกรณีที่มีตัวแทนภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย เข้าพบและยื่นหนังสือถึง นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กรณีการรื้อถอนอาคารบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง ที่เข้ามาทำไม้ในเมืองแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 ซึ่งมีอายุราว 127 ปี ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าน้ำบ้านเชตวัน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ โดยบริษัทรับเหมาเข้ามาดำเนินการรื้อถอนโดยไม่มีการทำประชาคม หรือสอบถามความคิดเห็นของคนเมืองแพร่

ต่อมาทางด้านผู้ว่าฯ เปิดเผยว่า ได้เรียกหน่วยงานที่รับผิดชอบประชุมด่วนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และได้สั่งให้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รู้ผลโดยเร็ว เบื้องต้นทราบว่ามีการของบประมาณไป เพื่อซ่อมแซมอาคารเก่า จำนวน 4 ล้านบาท แต่ผลออกมาเป็นการรื้อถอนทั้งหมด พร้อมขอให้ชาวแพร่อดใจรอผลการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน

ล่าสุดมีความคืบหน้าเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยขอชี้แจงว่า ได้รับรายงานจากนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ซึ่งย้ำว่าอันนี้เป็นการซ่อมแซม แต่การซ่อมครั้งนี้เป็นการของบจากจังหวัด และเนื่องจากเป็นการซ่อมอาคารไม้ทั้งหลัง ซึ่งไม้ทุกแผ่นกองอยู่ข้างๆ ไม่ได้หายไปไหน

สาเหตุที่ต้องรื้อไม้ลงมาเพราะฐานรากคอนกรีตของอาคารเสื่อมสภาพ การจะซ่อมได้ต้องทุบทิ้งก่อน และต้องทำฐานรากใหม่ พอทำฐานรากเสร็จแล้ว ก็มาประกอบตัวอาคารใหม่ เมื่อประกอบใหม่ก็มีคนบอกว่าไม่เหมือนเดิม แต่ถ้าไม่ซ่อมก็พัง ถ้าซ่อมแล้วฐานรากไม่แข็งแรงก็พังอีก ในเมื่อฐานรากพังคอนกรีตพังไปแล้วเพราะผ่านมาเป็น 100 กว่าปี ก็ต้องมาหล่อกันใหม่ เข้าใจได้ว่าต้องเอาไม้ออกทั้งหลังก่อน เมื่อทำฐานรากเสร็จแล้วก็จะใช้ช่างฝีมือทำเข้าไปใหม่ ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าเมื่อบูรณะแล้วจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ หลายอาคารที่มีการบูรณะรูปแบบที่ทำออกมาแล้วก็เหมือนเดิม แต่สีอาจจะผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่เชื่อว่าทางจ.แพร่มีช่างที่มีฝีมือ จึงเชื่อว่าการประกอบอาคารหลังการบูรณะจะกลับมาเหมือนเดิมได้

สำหรับความสำคัญของบ้านอายุร้อยปีหลังนี้ ทางด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เปิดเผยระบุว่า อาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ อาคารเรือนไม้ 2 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมประยุกต์ ริมแม่น้ำยม สร้างตั้งแต่ ปี พ.ศ.2432 ซึ่งมีอายุ 131 ปี ถือเป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาว จ.แพร่ มาหลายชั่วอายุคน การดำเนินการนี้เป็นโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน จังหวัดแพร่ ซึ่งสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) เป็นเจ้าของโครงการ ใช้เงินทั้งหมด 4,560,000 บาท เริ่มโครงการวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 และสิ้นสุดวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563

อาคารดังกล่าวเป็นบ้านที่สร้างให้เสริมศรี เอกชัย เติบโตและเข้มแข็ง เป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย ซึ่ง เสริมศรี เอกชัย เจ้าของนามปากกา”สนทะเล” ได้เขียนถึงชีวิตของตนเอง สมัยอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ ในฐานะลูกสาวของขุนวนารักษ์ดำรง (ทองคำ สุวรรณเกสร์) ป่าไม้ภาค ซึ่งมีบ้านหลังนี้เป็นบ้านประจำตำแหน่ง โดยเขียนว่า

“ไม่มีใครรู้ดีกว่าดิฉันเลยว่า ไม่เคยมีความสุขที่ไหน จะเปี่ยมล้นพ้นสมบูรณ์ที่สุด เท่ากับชีวิตของดิฉัน เมื่อพ่อยังมีชีวิตอยู่ เมื่อดิฉันยังเป็นเด็ก

เมื่อดิฉันอยู่ที่เมืองแพร่…

และเพราะความสมบูรณ์ยิ่งในชีวิตที่เคยได้รับมานี่เอง ที่เป็นกำลังใจให้ดิฉันสามารถยืนหยัดรับการคุกคามของเหตุการณ์ต่าง ๆ มาได้…ผ่านชีวิตมาอย่างคนจองหองคนหนึ่ง ที่ไม่เคยคุกเข่าให้ใคร

ดิฉันผ่านชีวิตมาได้โดยไม่ทุกข์ก็เพราะว่า ดิฉันมีความรักเป็นเครื่องทดแทน มีชีวิตที่ผาสุกสมบูรณ์ในวัยเด็ก มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความรักของญาติสนิทมิตรสหาย

ดิฉันจึงอยากเหลือเกิน ต้องการเหลือเกิน ที่จะช่วยให้เด็ก ๆ มีความสุขในวัยเด็กของเขา เพราะรู้ดีว่าไม่มีความสุขในวัยไหน จะเท่าเทียมและตรึงตราอยู่ในหัวใจไปชั่วชีวิต เท่ากับความสุขในวัยเด็ก และความรักที่ได้รับเมื่อยังเป็นเด็ก

มันคือยาบำรุงหัวใจให้อ่อนโยน ให้เข้มแข็ง ให้มีเมตตาต่อผู้อื่น ที่ขาดแคลนความรักและความสุข ดิฉันคิดว่าที่โลกและสังคม มันวุ่นวายเดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะคนส่วนใหญ่ขาดความอบอุ่นและความรักในวัยเด็กของเขาเป็นสาเหตุใหญ่ จึงตั้งหน้าที่จะทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่เพียงทำร้ายผู้อื่น แม้แต่พ่อแม่บุพการีของตนก็ยังทำร้ายจิตใจได้ และแม้แต่ลูกในไส้ของตัวเอง ก็ยังทำเสียจนลูกเกลียดได้

คนพวกนี้ไม่เคยรู้จักว่า ความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะว่าเขาไม่เคยมีความสุขในวัยเด็กอย่างดิฉัน…นี่เป็นความจริงนะคะ”