จากที่เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.63 วิษณุ เครืองาม โยนถามมหาดไทยเรื่องความพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะงบส่วนหนึ่งถูกดึงไปใช้แก้โควิด-19 ต่อมา15มิ.ย. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีการเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่งในปีนี้
ล่าสุดวันนี้(17มิ.ย.63) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และบุตรชายนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยพาดพิงไปยังรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ โดยตั้งหัวข้อไว้ว่า กว่า 6 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น: ประชาชนไม่พร้อมหรือพลเอกประยุทธ์ไม่พร้อม?
การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด การเลือกตั้งท้องถิ่นคือรากฐานของประชาธิปไตยที่เข้มแข็งในระดับชาติ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กลัวประชาชน ไม่ไว้วางใจประชาชน กลัวประชาธิปไตยและการตรวจสอบ กลัวสูญเสียอำนาจ พวกเขาจึงกลัวการเลือกตั้งท้องถิ่น
ผมขอยกตัวอย่างเรื่องงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออธิบายว่าท้องถิ่นสำคัญอย่างไรกับการพัฒนาประเทศ
งบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปีงบประมาณ 2563 มีมากถึง 8 แสนล้านบาท งบส่วนนี้คืองบที่ตามกฎหมายตั้งไว้เพื่อให้ตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน เป็นผู้ใช้ ไม่ต้องขอส่วนกลาง เพื่อสามารถแก้ปัญหาประชาชนได้รวดเร็วและตรงจุด ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากที่สุด
แต่ปัจจุบันงบประมาณที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับจำนวน 8 แสนล้านบาทต่อปีนี้ กลับบริหารโดยคนที่แต่งตั้งจาก คสช. ซึ่งผิดวัตถุประสงค์การพัฒนาประเทศที่ต้องการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจการคลังในการจัดการตนเองผ่านการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในช่วงหลังรัฐประหาร จนถึงก่อนการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 คสช. ได้ใช้อำนาจประกาศคำสั่ง คสช. หลายฉบับที่ทำลายประชาธิปไตยในท้องถิ่น เช่น ประกาศฉบับที่ 85/2557 ยกเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ และตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้บริหารท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการเป็นหลัก, ฉบับที่ 88/2557 เปิดโอกาสให้ทหารเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณท้องถิ่นฉบับที่ 86/2557 ยกเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพ และฉบับที่ 64/2559 ปลดผู้ว่ากรุงเทพในขณะนั้น และตั้งอัศวิน ขวัญเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน เป็นต้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดในหลายวาระหลายโอกาส ว่าประชาชนไทยยังไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือประเทศไทย ไม่เหมาะสมต่อการกระจายอำนาจที่จะส่งเสริมให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง
ทัศนะดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ เป็นทัศนะแบบเจ้าขุนมูลนาย ที่เชื่อว่าประชาชนไม่พร้อมที่จะกำหนดอนาคตตนเอง และสอดรับกับการรวมศูนย์อำนาจไว้กับ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพวก เป็นทัศนะที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ไม่สอดรับกับยุคสมัยที่ความรู้และพลังในการสร้างสรรค์เดินทางจากทั่วโลกถึงประชาชนทุกพื้นที่ผ่านอินเทอร์เน็ต
การเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นไปเรื่อยๆ จึงตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากการทำรัฐประหารต้องการรักษาฐานอำนาจไว้ให้นานที่สุด และใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และงบประมาณของท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการคงไว้ซึ่งอำนาจของตนเอง
ประชาชนไม่ได้ต้องการการสงเคราะห์อย่างอนาถาจากรัฐอยู่ร่ำไป ประชาชนไม่ได้ต้องการบัตรคนจนไปตลอดกาล พวกเขาต้องการอำนาจที่จะกำหนดอนาคตของเขาเอง อำนาจที่จะสร้างงาน สร้างความเจริญในท้องถิ่นโดยไม่ต้องของอนุญาตจากรัฐราชการรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง
การเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณเพราะงบประมาณถูกนำไปใช้เพื่อการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส เป็นเหตุผลที่ไร้สาระ เรามีงบประมาณเพียงพอที่จะทำทั้งสองอย่างได้พร้อมกันถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ
วันนี้ผ่านการเลือกตั้งระดับชาติมา 1 ปี 3 เดือนแล้ว รัฐบาลยังไม่เคยแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น พวกเราคณะก้าวหน้าจึงเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงจุดยืนต่อการเลือกท้องถิ่นให้ชัดเจน
พวกเราคณะก้าวหน้า เรียกร้องให้รัฐประกาศการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยทันที
พวกเราเรียกร้องประชาชนคนไทย ให้ลุกขึ้นมาทวงสิทธิอันชอบธรรมของพวกเรา ในการเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของเราเองปฏิรูประบบราชการ ยุติการรวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพ ข้อเสนอนี้ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดเดียวที่จะสร้างประเทศไทยที่มีอนาคต
ผมขอยืนยันว่า ผมจะนำคณะก้าวหน้าร่วมรณรงค์เรื่องยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจให้ท้องถิ่น และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับทั่วประเทศ
หมดยุคที่ราชการส่วนกลางออกแบบกำหนดอนาคตให้ประชาชนทั้งประเทศ คืนอำนาจการจัดสรรภาษี และทรัพยากรให้ท้องถิ่น ยุติการรวมศูนย์อำนาจและงบประมาณที่ส่วนกลาง เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นแสดงศักยภาพของพวกเขาอย่างเต็มที่ สร้างประเทศไทยที่ก้าวหน้ารุ่งเรือง ด้วยการสร้างท้องถิ่นที่เข้มแข็ง
ที่มา : เฟซบุ๊กThanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ