ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา “ฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2563)” ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2563 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรง ประกอบกับยังคงมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
ในช่วงวันที่ 16-17 มิถุนายน 2563 จะมีฝนตกหนักบางแห่ง
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ล่าสุดทางด้านนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาและพิจารณาปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่
อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสาน 63 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 15 – 16 มิถุนายน ดังนี้
ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา, แพร่, น่าน, ลำพูน, ลำปาง, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, ตาก, กำแพงเพชร, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, นครสวรรค์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อุดรธานี, บึงกาฬ, สกลนคร, นครพนม, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, อำนาจเจริญ, มุกดาหาร, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลางและภาคตะวันออก 20 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท, อ่างทอง, สิงห์บุรี, ลพบุรี, สระบุรี, ราชบุรี, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นครปฐม, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, ฉะเชิงเทรา, นครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง และสตูล
ทั้งนี้ได้สั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง
รวมถึงจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที อีกทั้งประสานหน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด และเคร่งครัด
ขณะเดียวกันมีจังหวัดได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน นูรี (NURI) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ที่ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จำนวน 6 จังหวัด ดังนี้
ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ พะเยา และอุตรดิตถ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ เลย, อุดรธานี และกาฬสินธุ์
ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี
รวม 11 อำเภอ 20 ตำบล 55 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 324 หลัง เสาไฟฟ้าหักโค่น 14 ต้น แต่โชคดีที่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต