ถามกลับปิยบุตร ไม่ยอมรับอำนาจแล้วสังคมจะอยู่อย่างไร?
รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย
(๒๗ มกราคม ๒๕๖๓)
จากกรณีที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ( อนค.) ทั้งโพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตนเพื่อเผยแพร่ต่อให้สมาชิกพรรคและสื่อมวลชนที่ระบุว่า ผู้ครองอำนาจไม่หลงเหลือซึ่งความชอบธรรม ในขณะที่ประชาชนยังสะสมพลังไม่มากพอที่จะโค่นล้ม “อำนาจ” ดำรงอยู่ได้ด้วย “การเชื่อฟัง” เมื่อไรก็ตามที่ผู้อยู่ใต้อำนาจยอมเชื่อฟัง ปฏิบัติตามในสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการ หรือไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการ เมื่อนั้น ความสัมพันธ์ทางอำนาจย่อมเกิดขึ้น หากปราศจากซึ่งการเชื่อฟัง ก็ถือได้ว่าอำนาจนั้นทำงานไม่ได้เสียแล้ว รวมถึงตอกย้ำเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้นอีกครั้งหนึ่งในลีดเดอร์ทอล์คที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมาก็ขึ้นกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับอำนาจและการเชื่อฟังอีกรอบ ปลุกให้ลุกขึ้นท้าทายอำนาจ เพราะมองเลยไปถึงเรื่องกฎหมายที่จะชอบธรรมอยู่ได้ก็เพราะมีอำนาจอยู่เบื้องหลัง.. (เนชั่นออนไลน์, 26 มกราคม 2563)
จากกรณีดังกล่าวทำให้น่าคิดเป็นอย่างมากว่าการมีอำนาจคือสิ่งชั่วร้ายอย่างมาก คนที่รัก “เสรีภาพ” ต้องไม่มีการอยู่ใต้อำนาจใดๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาในความเป็นจริงแล้วอำนาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องติดไปโดยอัตโนมัติจากการทำหน้าที่ โครงสร้างของอำนาจถูกกำหนดโดยทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ (Structural – functional Theory) ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องยกทฤษฎีนี้มาอธิบายให้ยุ่งยากเอาเพียงว่าในสังคมมีโครงสร้างของแต่ละคนที่มีโครงสร้างหน้าที่ที่ทับซ้อนกันอยู่เพื่อวางระเบียบตนเอง ควบคุมตนเอง (Self-regulating) โดยมีแนวโน้มที่ส่วนประกอบต่างๆ พึ่งพาอาศัยกันและรักษาดุลยภาพไว้ได้ ฟังดูก็อาจงงๆ ขออธิบายเพิ่มเติมว่าในโครงสร้างหน้าที่ที่ตนมีในบ้านในฐานะลูก (เพราะเป็นลูกของคุณยายของลูกเรา) อาจทับซ้อนกับโครงสร้างหน้าที่ที่มีฐานะเป็นภรรยาของสามี และในฐานะแม่ของลูกไปพร้อมๆ กัน ซึ่ีงอาจมีมากกว่านี้ถ้ามีน้องอยู่ด้วยก็เป็นฐานะพี่ มีหลานอยู่ด้วยก็เป็นฐานะป้าและอื่นๆ ปะปนกันไปในคนๆ เดียวกัน เมื่ออยู่ในที่ทำงานก็เป็นโครงสร้างหน้าที่ของหัวหน้างาน ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน อยู่ในหมู่บ้านก็เป็นเพื่อนบ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน อยู่ที่โรงเรียนก็อาจเป็นครู ไปเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ด้วยก็เป็นนักศึกษาในระดับปริญญาโท-เอกไป เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็คือโครงสร้างหน้าที่ที่ทุกคนกำลังมีต่อสังคมที่อยู่ในบริบทที่แตกต่างกัน
การใช้อำนาจที่ควบคู่ไปกับโครงสร้างหน้าที่หรือไปพร้อมกับการทำหน้าที่จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ในทฤษฎีทางการบริหารก็มีหลักทฤษฎีที่เก่าแก่มากๆ อย่าง POSDCoRB ตามแนวคิดของ Luther Gulick ซึ่งตัวที่เป็นตัว D ก็คือ Directing หมายถึง การอำนวยงาน ได้แก่การทำหน้าที่ในการตัดสินใจ วินิจฉัยสั่งการ การออกคำสั่ง มอบหมายภารกิจการงานไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าไม่มีอำนาจจะสามารถบริหารจัดการตามทฤษฎีการจัดการนี้ได้หรือไม่ นับเป็นเรื่องตลกมากๆ ถ้าคนที่ทำหน้าที่ไม่สามารถใช้อำนาจได้ทั้งๆ ที่กำลังทุ่มเทแรงกายแรงใจความปราถนาดีเพื่อให้สังคมอยู่ได้อย่างมีความสุขโดยการทำหน้าที่ของตนเองอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่มีอำนาจที่ชอบธรรมคุ้มครองโดยสังคมให้ใช้อำนาจในการทำหน้าที่นั้นได้ เช่น ในครอบครัวพ่อแม่ทำงานอย่างไม่เคยคิดถึงความเหนื่อยยาก เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนที่มีความเจริญก้าวหน้า ร่างกายแข็งแรงเติบโตตามวัย แต่ไม่สามารถใช้อำนาจในการสั่งสอนลูกในทางที่ถูกที่ควร เป็นคนที่มีธรรมะเห็นแก่ประโยชน์ของสังคม หรือปกป้องคุ้มครองให้ลูกของตนพ้นจากภยันอันตราย เดินไปในทิศทางที่ถูกที่ควร นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ใกล้ตัวมากๆ ที่แสดงให้เห็นว่า “อำนาจ” ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เป็นสิ่งที่จะต้องมีเพื่อให้คนที่ทำหน้าที่ได้รับการคุ้มครองและสามารถปฏิบัติหน้าที่ไปได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ หรือที่ควรจะเป็น
ถ้าใช้อำนาจด้วยความปรารถนาดี ก็ต้องเชื่อฟัง ปฏิบัติตาม เพื่อให้โครงสร้างหน้าที่ของแต่ละคนที่กำลังมีบทบาทอยู่ในแต่ละโครงสร้างหน้าที่ที่มีได้ดำเนินไปเพื่อสร้างสังคมที่ดี การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นำพาสังคมไปสู่การพัฒนาและสร้างความผาสุกให้กับสังคม
ที่ออกมาปลุกสังคมให้ลุกขึ้นท้าทายอำนาจ ขอถามว่า อำนาจของใคร เพราะทุกคนก็มีอำนาจตามบทบาทหน้าที่ของตนที่คนอื่นก็ต้องเชื่อฟังไปตามฐานะของหน้าที่ที่แต่ละคนกำลังเป็นอยู่ หรือจะให้ปฏิเสธทุกอำนาจในสังคมนี้ และมาอยู่ใต้อำนาจของพวกคุณแทน…??