“ห่าลงที่เมืองเวสาลี” ​วิธี​บริหารจัดการวิกฤติ​ (Crisis​ Management) โรคระบาดของพระพุทธเจ้า

0

“ห่าลงที่เมืองเวสาลี” ​วิธี​บริหารจัดการวิกฤติ​ (Crisis​ Management) โรคระบาดของพระพุทธเจ้า

 

(สรุปย่อจากงานวิจัยเรื่อง​ การรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ​ ศึกษาเปรียบเทียบทัศนะระหว่างพุทธศาสนากับคริสต์​ศาสนา​ ของ​ อ.สุภัทรา​ วงสกุล​ โดย​ ดร.เวทิน​ ชาติกุล)​

 

1.​ เหตุภัยพิบัติในเรื่องเล่าทางศาสนา

 

เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่​ ทุกสังคม​ วัฒนธรรมโดยไม่ได้แบ่งแยกความแตกต่างทางความคิด​ อุดมการณ์หรือความเชื่อ​ กระนั้นความเชื่อ​ ศาสนา​ พื้นหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอาจทำให้การรับรู้​ เข้าใจ​ และตอบสนองต่อเหตุภัยพิบัติธรรมชาติในต่างที่ต่างถิ่นนั้นมีความแตกต่างออกไป​ (บัญญัติ คำนูณวัฒน์, 30​ เม.ย.​2557; นรีนุช ดำรงชัย, 2559) หรือมานุษยวิทยาภัยธรรมชาติในมุมมองของจิต​นิยม(Mentalism)​พยายามอธิบายด้านจิตใจ พยายามทำความเข้าใจว่าผู้ที่ถูกศึกษารู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร อธิบายอย่างไร เล่าให้ฟังอย่างไร​ มากกว่าการหาคำอธิบายเหตุผลเชิงเหตุปัจจัย (Sponsel, L.E., ไม่ระบุเวลา)

 

ในการตระหนักรู้และหลักการการจัดการเหตุพิบัติภัยสมัยใหม่​ (Disaster​ Management)​ (สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2554; ชัยเสฏฐ์ พรหมศรี, 2557; เอกราช​ บุญเริง​ และอโณทัย​หาระสาร, 2561) จะไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคมหรือวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่​ เพราะเชื่อว่าเหตุภัยธรรมชาตินั้นเป็น​ “เรื่องสากล” ตามความเข้าใจแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่​กล่าวคือ​ เราสามารถแบ่งการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ​ ออกได้เป็น

 

1.​ การป้องกันและบรรเทาผลกระทบ​(Prevention​ and​ Mitigation)​ คือการป้องกันหรือ​ลดหรือการกำจัดความเป็นไปได้ของอันตราย

 

2.​ การเตรียมการ​(Preparedness)​ การเพิ่มความรู้และเครื่องมือให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงลดการสูญเสียชีวิตหรืออันตราย

 

3.​ การตอบสนองในภาวะฉุกเฉิน​(Response)​ คือ​ การลงมือปฏิบัติเพื่อลดหรือกำจัดความเสี่ยงขณะที่เกิดเหตุภัยพิบัติ

 

4.​ การฟื้นฟูความเสียหาย​(Recovery)​ คือการทำให้ผู้เสียหายหรือผู้รอดชีวิตกลับสู่ภาวะปกติหลังภัยพิบัจิผ่านพ้น

 

ส่วนเมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้วการจัดการวิกฤติ(Crisis Management)​สามารถแบ่งได้เป็น

 

1.​ การสำรวจสภาพความเสียหาย​ (Landscape​ Survey)​ คือการพิจารณาวิกฤติที่ต้องเผชิญทั้งภายในและภายนอก

 

2.​ การวางแผนกลยุทธ์​ (Strategic Planing)​ คือการพิจารณาแผนการป้องกันวิกฤติและแผนการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติ

 

3.​ การจัดการวิกฤต (Crisis management) คือ​ความพยายามในการแก้วิกฤติและการดำเนินการแก้วิกฤติให้รวดเร็วที่สุด

 

4.​ การเรียนรู้ขององค์การ (Organization learning) คือ​การทบทวนบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการเผชิญและแก้วิกฤติ

 

จะเห็นว่าหลักการทั้งสองอย่างข้างต้นครอบคลุมการรับมือกับเหตุภัยพิบัติทั้งก่อน-ขณะเกิด-หลัง​ เหตุการณ์ไม่ว่าภัยพิบัติจะเกิดขึ้นณ.ที่ใดก็ตาม​ อย่างไรก็ดีองค์ประกอบ​ทางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไปอาจทำให้มีการประยุกต์ใช้หลักการเหล่านี้แตกต่างกัน(หรืออาจมีบางอย่างร่วมกัน)​ ซึ่งแสดงถึงการตอบสนองต่อการเผชิญวิกฤติที่แตกต่างกันโดยศาสนาถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง​ นอกเหนือจาก ความเชื่อ​ และวัฒนธรรม​​ (Gaillard​ and​ Texier, 2010) โดยในที่นี้จะพิจารณาการรับมือภัยพิบัติตามทัศนะ​พุทธศาสนา​ และคริสต์ศาสนา​โดยพิจารณาจาก​ “เรื่องเล่า” ที่ปรากฏในแต่ละศาสนา​ ซึ่งแม้เรื่องเล่าเหล่านี้แม้จะบอกไม่ได้ว่าเป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นแต่ก็มีความสำคัญในการเข้าใจการรับมือเหตุภัยพิบัติในสามประการคือ

 

หนึ่ง)​ เรื่องเล่าเหล่านี้สะท้อนหลักคิด​ คติ​ ความเชื่อ​ คุณค่า​ ของแต่ละศาสนาเอาไว้อย่างชัดเจน​

 

สอง)​ เรื่องเล่าเหล่านี้คือเรื่องเล่าที่สืบทอดต่อๆมาซึ่งในด้านหนึ่งถือได้ว่า(อาจ)​มีองค์ความรู้ในการรับมือภัยพิบัติแต่โบราณอยู่ด้วย

 

สาม)​ เรื่องเล่าเหล่านี้มักได้รับความนิยมในสังคมร่วมสมัยซึ่งง่ายต่อการนำมาเป็นตัวอย่างหรือการสื่อสารกับคนในแต่ละสังคมหรือข้ามสังคมวัฒนธรรม​

 

เรื่องเล่าที่จะยกมาในที่นี้คือ​ “รัตนสูตร” ในพุทธศาสนา​ อันในตำนานกล่าวว่าเป็นพระสูตรเกี่ยวกับบทสวดพระปริตรที่พระพุทธเจ้าใช้เพื่อสยบภัยพิบัติที่เมืองเวสาลี​ และชาวพุทธมีความเชื่อว่าเป็นบทสวดเพื่อป้องกันเหตุร้ายได้​

 

2.​ ภัยแล้งและภัยโรคระบาดที่เมืองเวสาลี

 

ในสมัยพุทธกาล​ เมืองเวสาลีซึ่งเป็นเมืองที่​ “เมืองมั่งคั่ง กว้างขวาง มีคนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น มีภิกษาหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวน ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ” ได้เกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายๆเหตุซ้ำซ้อนกันคือ​ เกิด​ 1) ​ทุพภิกขภัย: “ฝนแล้ง ข้าวกล้าเสียหาย” ตามมาด้วย​ความอดยาก​ คนจนล้มตาย​ ศพมากมายถูกทิ้งเอาไว้ที่นอกเมือง​ 2) อมนุษยภัย​: กลิ่นซากศพทำให้​ “อมนุษย์”(ความหมายเดิมน่าจะรวมภูติผีปีศาจด้วย​ แต่ตามนัยสมัยใหม่น่าจะหมายถึงสัตว์ที่เป็นพาหะของเชื้อโรค)​ ได้เข้ามาในเมืองทำให้ผู้คนล้มตายเพิ่มขึ้น​ และ​ 3) โรคภัย: คือปฏิกูลของเสียที่สะสมในเมือง​ทำให้เกิดอหิวาตกโรค​ระบาดในเมือง​ “เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย” ผู้ปกครองเมืองเวสาลีจึงได้เสด็จไปยังทูลเชิญพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์มายังเมืองเวสาลี​  “เพื่อให้ภัยเหล่านั้นสงบ” พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จมาพร้อมกับพระอานนท์​ และ​ “ได้ตรัสพระสูตรนี้ (รตนสูตร) เพื่อให้อุปัทวะทั้งหลายเหล่านั้นสงบ

 

3.​ “รัตนสูตร​” ในมุมมองของการจัดการวิกฤติ​​ในเหตุภัยพิบัติ​ (Crisis Management)

 

เหตุภัยพิบัติในเมืองเวสาลีทำให้เมืองตกอยู่ในสภาวะวิกฤติอย่างปฏิเสธไม่ได้​ เพราะเมืองเวสาลีเกิดภัยพิบัติขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง​ 3​ ประเภทภัยพิบัติ​  และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความคล้ายคลึงกับเหตุภัยพิบัติ​ 10​ ประการ​ที่คุกคามอียิปต์ในหนังสือ Exodus ในพระคัมภีร์เก่า​คือ​ภัยพิบัติหนึ่งเป็นสาเหตุต่อภัยพิบัติที่ตามมาต่อเนื่องกันไป​ (ยกเว้นความตายของบุตรชายคนแรก(ภัยพิบัติประการที่​ 10)ที่ไม่จัดเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ)​ กล่าวคือ

 

-เกิดเหตุวิปริตของสภาวะอากาศ​ (แม่น้ำเป็นสีเลือด(ภัยพิบัติประการ​ 1) เทียบกับ​ “ภัยแล้ง” ที่เกิดขึ้นก่อนที่เมืองเวสาลี​

 

-ต่อด้วยฝูงสัตว์แห่อพยพเข้ามาคุกคามในเมือง​ (ฝูงกบ(ภัยประการ2), ฝูงเรือดไร(ภัยประการ3), ฝูงแมลง(ภัยประการ4),ฝูงตั๊กแตน(ภัยประการ8)​ ซึ่งเหมือนกับ​ “อมนุษย์ภัย” ในเมืองเวสาลี

 

-และสุดท้ายคือการเกิดโรคระบาดที่ตามมา​ (โรคระบาดในสัตว์(ภัยประการที่​ 5), โรคฝีระบาด(ภัยประการ6)​ ซึ่งก็คือ​ “โรคภัย” (จุดแตกต่างคือในเมืองเวสาลีไม่มี​ ลูกไฟตกจากฟ้า(ภัยพิบัติประการที่7)​ และ​ ฟ้าที่มืดสามวัน(ภัยพิบัติประการที่​ 9)​ (พันธสัญญาเดิม​ อพยพ)​

 

ในหนังสือ​ Exodus​ อียิปต์ซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤติ​ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนต้องปลดปล่อยคนของโมเสสให้เป็นอิสระ​ แต่ในเรื่องเล่าของรัตนสูตรเมื่อเกิดเหตุวิกฤติขึ้นผู้ปกครองเมือง(เมืองเวสาลีมีลักษณะพิเศษคือมีเจ้าปกครองหลายองค์ในคราวเดียว)​ได้เรียกประชุมกันเพื่อประเมินสถานการณ์และหาทางแก้ไข​

 

(ก)​ การสำรวจสภาพความเสียหาย​ (Landscape​ Survey)​: การทูลเชิญพระพุทธเจ้าเพื่อสงบภัย(พิบัติ)​

 

ในอรรถกถาของรัตนสูตรไม่ได้บรรยายถึงสภาพความเสียหายของเมืองขณะที่เกิดเหตุวิกฤติเอาไว้​ แต่การเกิดภัยแล้ง​ ฝูงสัตว์(อาจรวมถึงภูตผีปีศาจ)​เข้าคุกคามเมืองและตามมาด้วยโรคระบาดที่​ “​นับจากนี้ไปจนถึง ๗ ชั่วราชสกุล ภัยเห็นปานนี้ไม่เคยเกิดขึ้น แต่ได้บังเกิดขึ้นแล้ว” น่าจะทำให้เมืองทั้งเมืองอยู่ในภาวะวิกฤติหนัก​ ผู้คนในเมืองต่างไม่กล้าออกมาจากบ้าน​ ซึ่งเหตุภัยพิบัติและโรคระบายนี้มีความเป็นไปได้​ดังปรากฏในรายงาน​ Indo Pacific Defense Forum (2​ มี.ค.2015)​ ที่ว่า​ “… การพัฒนา การตัดไม้ทำลายป่าและความผันผวนของรูปแบบสภาพอากาศล้วนเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อโรคอุบัติใหม่ค่อนข้างมาก เพราะปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้คนและแหล่งเชื้อโรคเข้ามาอยู่ใกล้กันมากขึ้น ตัวอย่างเช่น สัตว์ป่าสามารถเป็นแหล่งรังโรคที่แพร่เชื้อไปสู่มนุษย์ได้เมื่อมนุษย์ล่าค้างคาวหรือลิงมาเป็นอาหาร แมลงต่าง ๆ เช่น ยุง ก็สามารถเป็นพาหะนำโรคได้เช่นกัน…”

 

ซึ่งเรื่องก็ได้เล่าต่อไปถึงความพยายามประเมินสถานการณ์และสาเหตุ​ในที่ประชุมเมืองเวสาลี​ หรือปัจจุบันน่าจะเปรียบได้กับ​ “วอร์รูม” นั่นเอง​ โดยพิจารณาถึงสาเหตุแรก(ในกรอบความเข้าใจในครั้งพุทธกาล)​ว่าพระราชาได้ประพฤติผิดในธรรมหรือไม่? เมื่อเห็นว่าพระราชายังตั้งอยู่ในธรรมหรือในการประเมินสถานการณ์คือ​ วิกฤติไม่ได้มาจากภายใน​ ก็ย่อมต้องแสดงว่าวิกฤตินี้ต้องมีาาเหตุปัจจัยจากภายนอก​ คือความวิปริตผันผวนของธรรมชาติ​เอง​ จึงหารือกันต่อว่าจะแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่กำลังประสบกันอย่างไร​ โดยในที่ประชุมเสนอว่า​ ถ้ามีผู้มีฤทธิ์​ มีอานุภาพมาก​ “ก้าวลง”(เหยียบผืนดิน)​ เมืองเวสาลี​ ภัยพิบัติก็จะหมดไป(ในคัมภีร์สันสกฤตระบุว่าชาวเมืองไปเชิญ​ “คุรุทั้ง​6” มาก่อนแต่ไม่สำเร็จ​ แต่ในคัมภีร์บาลีเรื่องการเชิญนี้เป็นเพียงข้อถกเถียงว่าจะเชิญใครระหว่างคุรุทั้ง6กับพระพุทธเจ้า)​ จึงมีผู้เสนอให้ไปเชิญพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ให้เสด็จมายังเมืองเวสาลี

 

“…ได้ยินว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง พระองค์มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ในเมื่อพระองค์สักว่าทรงก้าวลง (ยังเมืองเวสาลี) ภัยทั้งปวงก็พึงสงบลงได้…”

 

จึงเกิดข้อสงสัยในที่ประชุมว่า​ พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาหรือไม่? มีผู้ตอบว่าพระพุทธเจ้าทรงมีเมตตาต่อสัตว์โลก​ ย่อมต้องเสด็จมาอย่างแน่นอน​ จึงมีคำถามต่อมาว่าแล้วพระเจ้าพิมพิสารที่รับอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่จะยอมให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาหรือไม่? ซึ่งที่ประชุมบอกว่าก็ต้องเจรจาให้ยินยอม​ แล้วก็ให้เจ้าลิจฉวี​ 2​ องค์แต่งบรรณาการไปยังเมืองราชคฤห์เพื่อทูลขอต่อพระเจ้าพิมพิสาร​  ซึ่งเมื่อความถึงพระเจ้าพิมพิสาร​ก็ไม่ทรงรับ(บรรณาการ?)​ หรือ​ ไม่ทรงอนุญาตแต่บอกให้เจ้าลิจฉวีไปขอเชิญพระพุทธเจ้าเอง​ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงรับคำเชิญ​ (แต่ในคัมภีร์สันสกฤต​ เจ้าลัจฉวีไปหาพระพุทธเจ้าก่อนแล้วพระพุทธเจ้าจึงบอกให้ไปทูลขอต่อพระเจ้าพิมพิสาร)​

 

“…พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาแล้ว จึงทรงรับด้วยทรงทราบชัดว่า เมื่อเราแสดงรัตนสูตรในเมืองเวสาลีแล้ว อารักขาจะแผ่ไปตลอดแสนโกฏิจักรวาล ในเวลาจบพระสูตร ธรรมาภิสมัยจักมีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐…”

 

ถ้าเรายกประเด็นเชิงปาฏิหาริย์บารมีที่ว่าผู้มีอำนาจมากจะมาขจัดภัยพิบัติได้ออกไป​ เรื่องเล่านี้ก็พอมีนัยพอจะเข้าใจได้ก็คือ​ ในวิกฤตินั้นจะมีกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆซึ่งควรจะต้องเชิญมาร่วมอยู่ใน​ “หน่วยงาน” หรือ​ “ทีม” ที่ต้อง​รับมือกับสถานการณ์​ ประเด็นที่สะท้อนในเรื่องเล่านี้ก็คือ​ “ความเป็นพหุภาคี​” ที่เกิดขึ้นในการเผชิญวิกฤติ​ นั่นคือการขอและได้รับความช่วยเหลือทั้งด้านเทคโนโลยีและมนุษยธรรมจากประเทศเพื่อนบ้านหรือ​นานาประเทศ​ (Indo Pacific Defense Forum, 2​ มี.ค.2015) ​ซึ่งในวิกฤติที่เมืองเวสาลีการขอความช่วยเหลือจากนครราชคฤห์เป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและต้องรอบคอบดังที่ปรากฏในการถกเถียงในที่ประชุม​เพราะ​ 1) ทั้งสองเมืองมีพรมแดนติดกัน​และสามารถติดต่อกันได้ผ่านเส้นทางแม่น้ำคงคา​ 2) วิกฤติในเมืองเวสาลีย่อมต้องเป็นที่รับรู้ของนครราชคฤห์​ 3) นครราชคฤห์มีอำนาจทางการเมือง​ การทหาร​ ใหญ่กว่าเมืองเสสาลี​ ซึ่งหากการเจรจาขอความช่วยเหลือไม่กระทำอย่างรอบคอบก็อาจพลาดพลั้งเกิดเป็นสงครามซ้ำเติมให้วิกฤติหนักขึ้นได้​  พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองราชคฤห์ก็ไม่อยากให้เกิดวิกฤติ(โรค)​ระบาดลุกลามมาถึงเมืองตน​ การตัดไฟแต่ต้นลมคือให้ความช่วยเหลือเมืองเวสาลีก็คือหนทางที่นครราชคฤห์จะยับยั้งวิกฤติไม่ให้มาถึงตนไปด้วย​ ในแง่นี้ทั้งสองเมืองต่างต้องร่วมกันต่อสู้กับภัยที่เกิดขึ้นและบารมีของพระพุทธเจ้าที่ผู้ปกครองทั้งสองเมืองต่างเคารพศรัทธาถือว่าช่วยส่งเสริมแบะสนับสนุนความเป็นพหุภาคีและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เกิดขึ้น

 

(ข)​ การวางแผนกลยุทธ์​ (Strategic Planing)​: การเตรียมเส้นทางเสด็จของพระพุทธเจ้าจากนครราชคฤห์สู่เมืองเวสาลี

 

ตามกฏอนามัยระหว่างประเทศซึ่งเป็นหลักการควบคุมโรคสมัยใหม่​ (วราลักษณ์ ตังคณะกุล, ไม่ระบุเวลา)​ จะแบ่งการควบคุมและป้องกันโรคออกเป็น​

 

-การคัดกรองและตรวจจับผู้ต้องสงสัยว่าป่วย (Screening)

-การหยุดยั้ง​ หรือ​ สกัดกั้น
(Containment)

-การติดตามผู้สัมผัส (Contact tracing)
-การแยกกัก (Isolation)

-การกักกัน (Quarantine)

-การทำลายเชื้อ (Disinfection)

-การทำลายแมลงหรือสัตว์นำโรค
(Disinsection)

 

ซึ่งแม้ในเรื่องเล่าจะไม่ได้มีรายละเอียดเหล่านี้แต่การเตรียมการเพื่อให้พระพุทธเจ้าเสด็จจากเมืองราชคฤห์ไปสู่เมืองเวสาลี​มีส่วนสะท้อนการวางแผน​ แบ่งแยกเขต​ที่มีการแพร่ระบาด​ ออกจากเขตที่ปลอดภัยออกเป็นชั้นๆ​ดังปรากฏ

 

พระเจ้าพิมพิสารเมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จไปยังเมืองเวสาลีก็ทูลให้พระพุทธองค์เสด็จรอก่อนเพื่อเตรียมเส้นทางเสด็จให้​ โดยในอรรถกถาอธิบายการเตรียมเส้นทางเสด็จนี้เอาไว้อย่างมีรายละเอียด

 

“…ครั้งนั้นแล พระเจ้าพิมพิสารทรงกระทำพื้นที่ประมาณ ๕ โยชน์ในระหว่างเมืองราชคฤห์และแม่น้ำคงคาให้สม่ำเสมอ แล้วให้สร้างวิหารไว้ในสถานที่โยชน์ละ ๑ แห่ง แล้วให้กราบทูลเวลาเสด็จแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

 

พระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปแวดล้อม เสด็จไปแล้ว พระราชารับสั่งให้โปรยดอกไม้ ๕ สีตลอดหนทาง ๕ โยชน์ถึงแค่เข่า รับสั่งให้ยกธงชัย ธงแผ่นผ้า ตั้งหม้อน้ำที่เต็มเอาไว้ และต้นกล้วยเป็นต้น ทรงให้ยกเศวตฉัตร ๒ ชั้นเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า และเศวตฉัตรชั้นเดียวสำหรับพระภิกษุรูปหนึ่งๆ กระทำอยู่ซึ่งการบูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น พร้อมด้วยบริวารของพระองค์ ทรงนิมนต์ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าประทับอยู่ในวิหารแห่งหนึ่งๆ แล้วทรงถวายมหาทาน แล้วนำเสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำคงคาโดยใช้เวลา ๕ วัน…”

 

จากนั้นพระเจ้าพิมพิสารก็ส่งพระราชสารไปบอกเจ้าเมืองเวสาลีให้เตรียมการแบบเดียวกันกับที่พระองค์ทำ

 

“…เจ้าลิจฉวีทั้งหลายเหล่านั้นทรงดำริว่า พวกเราจักทำการบูชาให้เป็นสองเท่า แล้วทรงให้กระทำพื้นที่ประมาณ ๓ โยชน์ในระหว่างเมืองเวสาลีและแม่น้ำคงคาให้สม่ำเสมอ แล้วทรงตระเตรียมเศวตฉัตร ๔ ชั้นเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า และเศวตฉัตร ๒ ชั้นสำหรับภิกษุรูปหนึ่งๆ เมื่อจะกระทำการบูชาจึงได้มาประทับยืนอยู่ ณ ฝั่งแห่งแม่น้ำคงคา…”

 

พระเจ้าพิมพิสารจึงสร้างเรือขึ้น​ 2​ ลำประดับประดา​เพื่อให้พระพุทธเจ้าเสด็จประทับไปเมืองเวสาลีโดยที่มีพระภิกษุ​ 500​ รูป​ตามเสด็จด้วย​ โดยพระเจ้าพิมพิสารตามส่งเสด็จโดยลงไปแช่ในน้ำถึงพระศอ​ และบอกว่าจะรอพระพุทธเจ้าอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาจนกว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับ

 

ข้อความในเรื่องเล่าข้างต้นดูผิวเผินเหมือนจะเป็นการตระเตรียมการต้อนรับพระพุทธเจ้าอย่างเอิกเกริก​ มีการโปรยข้าวตอกดอกไม้บนทางเสด็จแทบจะเหมือนกับขบวนเดินธุดงภ์ของบางสำนักใหญ่ที่เป็นข้อวิจารณ์กันอยู่​ แต่การเข้าใจว่านี่คือ​ “ธรรมเนียม” การ​เตรียม​การส่งเสด็จและต้อนรับเท่านั้นดูจะเป็นเรื่องแปลกๆเพราะ

 

(ก)​ ในสถานการณ์นี้ทุกคนต่างรับรู้ว่าเป็นห้วงยามที่เกิดเหตุวิกฤติ​ ไม่ค่อยมีความสมเหตุสมผลที่จะมาเตรียมการต้อนรับกันอย่างเอิกเกริกโดยเฉพาะที่เมืองเวสาลีซึ่ง​ “ต้องทำให้มากกว่าที่นครราชคฤห์เป็น​ 2​ เท่า”

 

(ข)​ ไม่ทุกครั้งที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จที่ใดที่จะมีการต้อนรับอย่างเอิกเกริก​ บางครั้งก็เป็นการเสด็จเพียงพระองค์เองหรือพระภิกษุผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง

 

(ค)​ การเตรียมการนี้เกิดขึ้นโดยเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าพิมพิสารที่ต้องการให้พระพุทธองค์ประทับรอจนกว่าจะมีการเตรียมเส้นทางเสร็จ​ ถ้าการเสด็จไปช่วยระงับภัยที่เมืองเวสาลีเป็นเรื่องเร่งด่วน​ ทำไมต้องมาเสียเวลาจัดทำหลายอย่างให้​ “มากพิธีรีตอง” และ​ “ถ่วงเวลา” เสด็จไปเพื่อเหตุใด

 

จะเห็นว่า​ พระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์จะเสด็จได้เพียงวันละ​ 1​ โยชน์​ รวม​ 5​ วันกว่าจะออกจากภายในนครราชคฤห์​ (เขตปลอดภัย)​ ถึงริมฝั่งแม่น้ำคงคา(ที่เรือจอดอยู่)​​

 

จากนั้นก็เสด็จไปโดยทางเรือ(ในเรื่องไม่ได้ระบุระยะทางและเวลา​ แต่จากแผนที่มีระยะห่างประมาณ​ 150​ กม.)​

 

แล้วจึงเสด็จด้วยวิธีการแบบเดียวกัน​วันละโยชน์​ รวม​ 3​ วันจึงจะขึ้นจากฝั่งแม่น้ำถึงประตูเมืองเวสาลี(เขตโรคระบาด)​

 

ถ้าดูจากแผนที่อินเดียโบราณ​ (Ānandajoti Bhikkhu, 2013) เมืองเวสาลีกับนครราชคฤห์​เป็นสองเมืองที่เชื่อมต่อกันได้โดยแม่น้ำคงคา​​ ด้วยระยะทาง​การแพร่ระบาดของโรคทางพื้นดินอาจทำไม่ได้ง่ายเหมือนกับทางน้ำโดยอาศัยสาขาของแม่น้ำที่เชื่อมต่อระหว่าง​ 2​ เมือง​ หากคิดตามแผนฉากสถานการณ์นครราชคฤห์เมื่อรู้ข่าวโรคระบาด​ ก็ต้องมีการเพิ่มการคัดกรองและกักกันคนที่เดินทางเข้ามาในเมือง​(โดยเฉพาะคนที่หนีภัยมาจากเวสาลี)​  ดังนั้นเมื่อพระเจ้าพิมพิสารรู้ว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จไปที่เวสาลี​การตั้งด่านคัดกรองก็ต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น​ และอาจต้องมีการกำหนดเขตพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อออกเป็นขั้นๆ​ พร้อมทั้งมีกระบวนการทำให้​ “พื้นที่ปลอดเชื้อ”​ (ดังน่าจะสะท้อนจากการบูชาด้วยดอกไม้และของหอม-ซึ่งน่าจะมีลักษณะเป็นยาเพราะเมื่อเมืองเวสาลีเริ่มฟื้นชาวเมืองจะเอาของหอมไปทาตามบ้านเรือน)​ ซึ่งจะเห็นได้จากที่พระเจ้าพิมพิสารได้​ “สั่ง” ให้กษัตริย์เมืองเวสาลีทำแบบเดียวกันแต่มากกว่าเป็น​ 2​ เท่า​ นั่นเพราะเขตพื้นที่เมืองเวสาลีมีความเสี่ยงและง่ายต่อการติด​เชื้อมากกว่านั่นเอง​ อีกทั้งการที่พระราชาทั้งสองเมืองเสด็จส่งและรับพระพุทธเจ้าโดยลงไปในน้ำถึงพระศอ(คอ)​การอาจตีความได้ว่าเป็นตัวอย่างเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและขวัญกำลังใจให้แก่ชาวเมือง

 

(ค)​ การจัดการวิกฤต (Crisis management): ฝนโบกขรพรรษตก​และน้ำท่วมใหญ่ในเมืองเวสาลี

 

เมื่อเรือที่พระพุทธเจ้าประทับล่องไปจากเมืองราชคฤห์สู่เวสาลี​ “เทวดาทั้งหลายในเบื้องบนจนถึงอกนิษฐพรหมได้กระทำการบูชา. นาคทั้งหลายมีนาคพวกกัมพลัสสตระเป็นต้นผู้อาศัยอยู่ที่ภายใต้แม่น้ำคงคา กระทำแล้วซึ่งการบูชา” เมื่อเข้าเมืองเวสาลี​ 1​ โยชน์ชาวเมืองก็ทำการบูชายิ่งใหญ่​ โดย​กษัตริย์ลิจฉวีได้มารอต้อนรับพระพุทธเจ้าในแม่น้ำคงคาโดยแช่ในน้ำถึงพระศอ​และกระทำบูชามากกว่าพระเจ้าพิมพิสารเป็น​ 2​ เท่าจึงเกิดเหตุขึ้นคือ

 

“…โดยขณะนั้นนั่นเอง โดยครู่นั้น มหาเมฆซึ่งมียอดแผ่ออกไปด้วยความมืดมน มีสายฟ้าปลาบแปลบ คำรามอยู่ ตกแล้วทั้ง ๔ ทิศ… ”

 

และเมื่อพระพุทธองค์ก้าวพระบาทลงจากเรือขึ้นฝั่งแม่น้ำคงคาที่เมืองเวสาลี​

 

“…(เท่านั้น) ฝนโบกขรพรรษก็ตก คนเหล่าใดต้องการจะเปียก คนเหล่านั้นเท่านั้นจึงเปียก คนที่ไม่ต้องการเปียกก็ไม่เปียก น้ำประมาณแค่เข่า แค่ขา แค่สะเอว แค่คอ ย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง ซากศพทั้งปวงถูกน้ำพัดพาไปในแม่น้ำคงคา ภาคพื้นก็บริสุทธิ์…”

 

กษัตริยลัจฉวีจึงทูลให้พระพุทธเจ้าเสด็จประทับในวิหารทุกๆกึ่งโยชน์​ โดยถวายมหาทานเป็น​ 2​ เท่า​ ซึ่งใช้เวลา​ 3​ วันจึงเสด็จถึงกรุงเวสาลี​ มีพระอินทร์และเทวดาชั้นสูงมารอรับเป็นจำนวนมากและทำให้อมนุษย์หนีไปเป็นจำนวนมาก​

 

ถ้าตัดเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์และเหนือธรรมชาติออกไป​ (ซึ่งจริงแล้วในกรอบโลกทัศน์ของพุทธศาสนาพอมีวิธีอธิบายว่าการเสด็จถึงของพระพุทธเจ้าทำให้เกิดฝนตกหนักได้​ แต่คงยังยากที่จะอธิบายฝนโบกขรพรรษที่ใครอยากให้เปียกหรือไม่เปียกก็สั่งได้ดังใจนึก-ยกเว้นจะเปรียบเทียบเชิงอุปมาอุปมัยกับ​ “วัคซีน” หรือ​ “ยา” ที่ให้เฉพาะกับผู้ที่ติดเชื้อ)​ แต่ในที่นี้น่าสนใจว่าฝนที่ตกนั้นตกลงมาหนักมาจนระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นจนถึงคอและพัดพาเอาซากศพในเมืองไปจนหมด​ กล่าวง่ายๆคือการเสด็จมาถึงของพระพุทธเจ้าทำให้เกิดเหตุภัยพิบัติอีกอย่างตามมาคือ​ เกิดอุทกภัยใหญ่ที่เมืองเวสาลี​ แต่การเกิดภัยพิบัติครั้งนี้ไม่ใช่การกระหน่ำซ้ำเติมแต่เป็นน้ำท่วมที่ช่วยพัดพาเอาซากศพและความสกปรกอันเป็นสาเหตุของโรคออก​ไปจากเมืองจนหมดสิ้น​ ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือขั้นตอนการทำลายเชื้อ​(Disinfection) ในกระบวนการ​สมัยใหม่นั่นเอง​ ซึ่งในแง่นี้สะท้อนว่าพุทธศาสนามองภัยธรรมชาติอย่างเป็นเหตุปัจจัยทางธรรมชาติคือมีทั้งด้านร้ายและด้านดีมากกว่าจะมองว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายเพียงอย่างเดียว​ เช่นเดียวกันกับกรณีที่เมืองเวสาลีเกิดแผ่นดินไหวเพราะพระพุทธเจ้าทรงรับปลงอายุสังขารของพระองค์​ซึ่งไม่มีการกล่าวถึงความเสียหายหรือระบุว่าเป็นเหตุวิบัติ

 

แต่น้ำท่วมใหญ่ก็เป็นการแก้วิกฤติในระยะต้น​คือยับยั้งไม่ให้วิกฤติขยายวงและลุกลาม​ กระนั้นกว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จถึงเมืองเวสาลีก็ต้องผ่าน​ “เขต” หรือ​ “ด่าน” โดยหยุดทุกๆครึ่งโยชน์ใช้เวลา​ 3​ วันกว่าจะถึง​ ในขั้นตอนต่อไปก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จเข้าเมืองสิ่งที่ทรงให้ทำคือ​ เสกน้ำมนต์ด้วยรัตนสูตร​ เพื่อให้พระอานนท์นำไปประพรมทั่วเมืองเวสาลีซึ่งเป็นการทำลายต้นตอของโรคระบาด​ หรือเป็นการทำลายแมลงหรือสัตว์นำโรค​ ​(Disinsection) จนถึงที่สุด​

 

“… พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนอยู่ที่ประตูพระนคร ตรัสเรียกพระอานนท์มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนรตนสูตรนี้ แล้วถืออุปกรณ์แห่งพลีกรรม พร้อมด้วยลิจฉวีกุมารทั้งหลาย เที่ยวไปอยู่ในระหว่างกำแพง ๓ ชั้นแห่งเมืองเวสาลี จงกระทำพระปริตร (ป้องกัน) ดังนี้แล้วได้ตรัสรตนสูตร…”

 

“…ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังเสด็จไม่ถึงเมืองเวสาลีนั้นแล ท่านพระ อานนท์ได้เรียนรตนสูตรนี้ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพื่อกำจัดอุปัทวะเหล่านั้นที่ประตูพระนครเวสาลี สวดอยู่เพื่อป้องกัน ใช้บาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าตักน้ำ เที่ยวประพรมอยู่ทั่วพระนคร

 

ก็เมื่อพระเถระกล่าวคำว่า ยงฺกิญฺจิ เท่านั้น พวกอมนุษย์ทั้งหลายที่อาศัยกองหยากเยื่อและประเทศแห่งฝาเรือนเป็นต้น ซึ่งยังไม่หนีไปในกาลก่อนก็พากันหนีไปทางประตูทั้ง ๔. ประตู (ทั้ง ๔) ไม่มีที่ว่าง ต่อจากนั้นอมนุษย์บางพวก เมื่อไม่ได้ที่ว่าง (โอกาส) เพื่อออกไปที่ประตูทั้งหลายก็ทำลายกำแพงหนีไป…”

 

(ง)​ การเรียนรู้ขององค์การ (Organization learning): การเจริญรัตนสูตร​เพื่อระงับภัยพิบัติ

 

หลังเหตุภัยพิบัติคลี่คลายลง​ พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงการเรียนรู้รัตนสูตรต่อพระสงฆ์​ เทวดา(พระอินทร์)​ พระราชา​ และชาวเมือง​ การสวดมนต์และพิธีกรรมปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์เพื่อขับไล่อุปัทวะและอัปมงคลทั้งหลายนี้ยังคงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันในยุคปัจจุบันซึ่งในความคิดของชาวพุทธสมัยใหม่อาจมองเห็นเป็นแค่พิธีกรรมความเชื่อ​เพื่อความเป็นสิริมงคลและให้กำลังใจมากกว่าจะมีผลในทางปฏิบัติจริง(คือ​ความสามารถในการระงับเหตุภัยพิบัติ)​

 

การเจริญพระพุทธมนต์มีความหมายได้ใน​ 2​ ระดับคือ​ 1) ความหมายทางภาษา​ 2) ความหมายเชิงรหัสนัยะ​ ซึ่งอย่างหลังนั้นการภาวนา​ “มนตรา”(mantra)​จะเชื่อกันว่ามีผลต่อสิ่งภายนอกมาตั้งแต่ยุคพระเวท​ ซึ่งคนปัจจุบันได้สูญเสียการเข้าใจความหมายเชิงรหัสนัยะและการปฏิบัติของเรื่องมนต์และพิธีกรรมเหล่านี้ไปเกือบหมด​ ที่ทำกันก็คือทำต่อๆกันมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ(หรือสวดมนต์แบบนกแก้วนกขุนทอง)​ จะเห็นว่าตามเรื่องเล่านี้พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเรื่องพิธีกรรมเหล่านี้​(รวมถึงความเชื่อตามรหัสนัยะของพิธีกรรม)​ แต่พุทธศาสนาได้เปลี่ยน​ “ความหมายทางภาษา” ของพิธีกรรมเหล่านี้มาให้เป็นคำสอนและหลักธรรมของพุทธศาสนาแทน​ดังปรากฏในบทสวดรัตนสูตร

 

ในบทสวดรัตนสูตรจะแตกต่างจากมนตราในคัมภีร์พระเวทที่เป็นการสวดอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง​ แต่เนื่อหาในรัตนสูตรไม่เกี่ยวข้องใดๆกับการขับไล่อุปัทวะหรืออัปมงคลแต่อย่างใด​ หากเป็นการสวดเพื่อสรรเสริญว่าพระรัตนตรัยคือพระพุทธ​ พระธรรม​ พระสงฆ์​คือรัตนะที่เหนือกว่ารัตนะอื่นๆทั้งปวง​

 

“…ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตไม่มีเลย​ พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจะวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้

 

พระศากยมุนีผู้มีพระหฤทัยดำรงมั่น ได้บรรลุธรรมใดอันเป็นที่สิ้นกิเลส เป็นที่สำรอกกิเลส เป็นอมฤตธรรมอันประณีตธรรมชาติอะไรๆ อันสมควรด้วยพระธรรมนั้นย่อมไม่มีธรรมรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้

 

พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดทรงสรรเสริญแล้วซึ่งสมาธิใด ว่าเป็นธรรมอันสะอาด​ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวสมาธิใด ว่าให้ผลในลำดับสมาธิอื่นเสมอด้วยสมาธินั้นย่อมไม่มี ธรรมรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่สัตว์เหล่านี้

 

บุคคล ๘ จำพวก ๔ คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลาย​สรรเสริญแล้ว บุคคลเหล่านั้นควรแก่ทักษิณาทาน เป็นสาวกของพระสุคต ทานที่บุคคลถวายแล้วในท่านเหล่านั้นย่อมมีผลมาก สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้

 

พระอริยบุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระโคดม ประกอบด้วยดีแล้ว(ด้วยกายประโยคและวจีประโยคอันบริสุทธิ์) มีใจมั่นคงเป็นผู้ไม่มีความห่วงใย (ในกายและชีวิต) พระอริยบุคคลเหล่านั้น บรรลุอรหัตผลที่ควรบรรลุหยั่งลงสู่อมตนิพพานได้ซึ่งความดับกิเลส โดยเปล่าเสวยผลอยู่ สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้…”

 

ในรัตนสูตรกล่าวอย่างชัดเจนว่าพระรัตนตรัยนั้นประเสริฐเหนือรัตนะอื่นๆ​ แม้ว่าจะยังจะเป็นผู้ประมาท​ หรือยังคงมีบาป​ ไม่ใช่ผู้บรรลุมรรคผลขั้นสูงสุดก็ตาม

 

“…เสาเขื่อนที่ฝังลงดิน ไม่หวั่นไหวเพราะลมทั้งสี่ทิศ ฉันใด ผู้ใดพิจารณาเห็นอริยสัจทั้งหลาย​ เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นสัตบุรุษ ผู้ไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรม​ มีอุปมาฉันนั้น สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้…”

 

“…พระอริยบุคคลเหล่าใด ทำให้แจ้งซึ่งอริยสัจทั้งหลาย อันพระศาสดาทรงแสดงดีแล้ว ด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง พระอริยบุคคลเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประมาทอย่างแรงกล้าอยู่ก็จริง​ ถึงกระนั้นท่านย่อมไม่ยึดถือเอาภพที่ ๘ สังฆรัตนะแม้นี้เป็​น​ รัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้…’

 

“…พระอริยบุคคลนั้น ยังทำบาปกรรมด้วยกายด้วยวาจา หรือด้วยใจก็จริง ถึงกระนั้น ท่านก็ไม่ควรเพื่อจะปกปิดบาปกรรมอันนั้น ความที่บุคคลผู้มีธรรมเครื่องนิพพานอันตนเห็นแล้ว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อปกปิดบาปกรรมนั้น​ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้…’

 

4.​ สรุป

พุทธศาสนา​มองเรื่องภัยพิบัติในเชิง​”ธรรมชาตินิยม” (พระวีระพงษ์ อธิจิตฺโต, 2554; Dhammika, 2015) มากกว่าคริสต์ศาสนา​ โดยที่​

 

(1) ภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่ภายใต้กรอบของ​ “ไตรลักษณ์” ของความเปลี่ยนแปลง​ คงอยู่ไม่ได้​และมีเหตุปัจจัยสืบเนื่องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว​ พุทธศาสนาและศาสนาฮินดูมองธรรมชาติและเวลาอย่างเป็นวัฏฏะ​ คือแม้จะเกิดการทำลายล้างจักรวาลหรือโลกธาตุด้วยธาตุต่างๆตามยุคตามสมัย​ หรือด้วยเทพเจ้าผู้สูงสุด​ แต่จักรวาลหรือโลก​ หรือ​ ธรรมชาติก็จะกำเนิดขึ้นมาใหม่​  ต่างจากคริสต์ศาสนาที่มองจักรวาลในฐานะสิ่งที่มีเป้าหมาย​ มีจุดสุดท้าย​ และการมองเวลาที่เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเป็นเส้นตรง​ มีจุดเริ่มต้น​ มีจุดสิ้นสุด​ ซึ่งทำให้เข้าใจและเห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ(โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับ​ “การสิ้นโลก”, “การสิ้นยุค” หรือ​ การตัดสินครั้งสุดท้าย”)​เป็นเรื่องสำคัญ​ น่ากลัว​ น่าตื่นตระหนก​

 

(2) แม้พุทธศาสนาจะมองว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติจะมีสาเหตุที่ไม่ได้มาจากตัวธรรมชาติเอง(เช่น​ เกิดจากผู้มีฤทธิ์​ หรือ​ เหตุการณ์สำคัญในช่วงชีวิตของพระพุทธเจ้า)​ แต่พุทธศาสนามีคำอธิบายเชิงสาเหตุของภัยธรรมชาตินั้นว่าเป็นความแปรปรวนในธรรมชาตินั่นเอง​ ไม่ใช่การดลบันดาลของพระเจ้า​ เทพเจ้า​ แต่เพียงอย่างเดียว

 

(3) ภัยธรรมชาติที่เป็นไปตามกฏหรือนิยามของธรรมชาติ​ “อุตุนิยาม” สัมพันธ์และแยกไม่ได้กับ​กฏธรรมชาติอื่นๆ​ เช่น​ “พีชนิยาม” หรือ​ “จิตนิยาม” หรือ​​ “กรรมนิยาม” เช่น​ แผ่นดินไหว​ ทำให้เกิดทุกข์ภายนอก​ ทุกข์ทำให้เกิดความลำบาก​ ความยากลำบากถ้าไม่จัดการให้อยู่ในครรลองคลองธรรมจะทำให้เกิดการเบียดเบียน​ เกิดการแย่งชิง​ เกิดการก่อกรรมต่อกัน​ เกิดเป็นทุกข์ภายในใจฯลฯเป็นต้น​ นิยามและกฏธรรมชาติแต่ละข้อจะผูกร้อยกันดุจห่วงโซ่สืบเนื่องกันไป

 

(4) พุทธศาสนาไม่ได้มองว่าภัยพิบัติเป็นสิ่งชั่วร้ายโดยตัวมันเอง​ ต่างจากคริสต์ศาสนาที่มองปัญหาภัยพิบัติว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย​ ดังที่พระพุทธเจ้าใช้ภัยพิบัติแก้ปัญหาภัยพิบัติที่เมืองเวสาลีเป็นต้น​ แต่ปัญหาความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่พุทธศาสนาอาจต้องเจอก็คือความเชื่อในลัทธิ​ “กรรมเก่า” ที่ว่าคนที่ตายเพราะภัยพิบัติเป็นเพราะกรรมเก่า​ หรือเมืองที่ถูกทำลายล้วนเป็นเพราะเวรกรรมรวมหมู่ของชาวเมืองซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจที่ผิด​ เพราะดังที่กล่าวมาแล้วว่า​ “กรรมนิยาม” คือหนึ่งในกฏธรรมชาติเท่านั้น​ (O’Brien,​ 22​ Jan​ 2018)

 

(5) การรับมือกับภัยพิบัติตามหลักพุทธศาสนาคือ​ เข้าใจว่าภัยพิบัติเป็น​ “ธรรมชาติ” อย่างหนึ่ง​ และการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทในธรรมชาติ​ มีสัมมาทิฐิต่อธรรมชาติ​ ไม่ยึดในมิจฉาทิฐิต่อธรรมชาติ​ดังในทัศนะ​วัตถุนิยม​ ทุนนิยม​และลดทอนนิยม​ (ศิริวรรณ​ โอสถานนท์, 2535)​ หรือ

 

“…มนุษย์เชื่อกันว่าตัวเองเป็นนาย ผู้ถืออาญาสิทธิ์เหนือโลกและสิ่งแวดล้อม มนุษย์เชื่อกันว่ามีสิทธิที่จะช่วงใช้โลกนี้อย่างไรก็ได้ตามใจฉัน มนุษย์หลงตัวเองเชื่อมั่นว่าจะสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ซึ่งเรียกว่า มิจฉาทิฐิต่อโลก และส่งผลให้เกิด มิจฉาปฏิบัติ คือ อยู่กับโลกด้วยท่าทีที่เป็นศัตรู มองว่าโลกนี้ รวมทั้งทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ และประมาท เชื่อว่าสามารถจัดการกับธรรมชาติได้ เชื่อว่าสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติได้โดยสิ่งหนึ่งที่ตามมาจากความเชื่อมั่นผิดๆ ก็คือ อหังการจากผลลัพธ์ที่ยับเยินหลังเผชิญภัยธรรมชาติ ซึ่งมีบทเรียนสำคัญเกิดขึ้นให้เห็นชัดเจนมากมายในระยะนี้ ทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย…” (ว.วชิรเมธี​ อ้างใน​ Thaihealth.or.th., 31​ มี.ค.​ 2554)