จากกรณีการเสียชีวิตของ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ หรือ “อาจารย์โต้ง” บุตรชายของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เสียชีวิตด้วยวัย 72 ปี หลังจากรักษาตัวจากโรคมะเร็งมานานกว่า 5 ปี ต่อมาในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ธิษะณา ชุณหะวัณ (Tisana Choonhavan Marchal)บุตรสาวของนายไกรศักดิ์ ที่ระบุว่า “คุณพ่อ Kraisak Choonhavan ได้จากโลกนี้ไปแล้ววันที่ 11 มิถุนายน 2563 เวลา 19:10 น. หนูภูมิใจที่สุดที่ได้เกิดเป็นลูกพ่อ ถ้าชาติหน้ามีจริง ขอให้เกิดเป็นลูกพ่อทุกชาติไป”
สำหรับประวัติของนายไกรศักดิ์ หรือ อ.โต้ง เริ่มจากการลาออกจากอาจารย์ ม.เกษตร เพื่อมารับหน้าที่ทีมที่ปรึกษานายกฯ สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ซึ่งอยู่ในกลุ่มบ้านพิษณุโลก ประกอบบุคคลที่มีชื่อเสียงทางการเมืองซึ่งยังโลดเล่นในการเมืองขณะนี้ อาทิ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ , นายสุรเกียรติ เสถียรไทย ,นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นต้น
ภายหลังรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย อ.โต้ง ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองเต็มตัว โดยรับสมัครเลือกตั้ง ส.ว. จังหวัดนครราชศรีมา และเข้าสู่สนามเลือกตั้งทั่วไปในเวลาต่อ กระทั่งมีตำแหน่งสูงสุดในพรรคประชาธิปัตย์คือตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ซึ่งระยะหลังนายไกรศักดิ์ ได้หันมาทำงานด้านภาคประชาสังคมเต็มตัว
ทั้งนี้อ.โต้ง ยังมีบทบาทสำคัญทางด้านการต่างประเทศ โดยสมัยที่เป็นที่ปรึกษานายกฯ เป็นทีมผู้แทนรัฐบาลไทย ร่วมการประชุมแก้ไขกรณีพิพาทในกัมพูชา ร่วมเจรจาสันภาพในกัมพูชา ลาว เวียดนาม ด้วยและในช่วงท้ายของชีวิต อ.โต้ง มีโอกาสให้สัมภาษณ์พิเศษและจัดทำเป็นหนังสือชื่อ “ชีวิต มุมมอง ความคิด ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” เขียนโดย กุลธิดา สามะพุทธิ หนังสือเล่มนี้เริ่มสัมภาษณ์ช่วงปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งที่อาการของอ.โต้ง ทุเลาลงและสามารถพูดคุยสนทนาได้ ก่อนที่อาการจะกลับมาทรุด
การจากไปของของอ.โต้ง ได้สร้างความโศกเศร้าให้กับครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนพ้องทุกคน และยังเป็นอุทาหรณ์ให้หลายคนตระหนักถึงอาการป่วยโรค “มะเร็งโคนลิ้น” ที่ถือเป็นภัยเงียบ อันตรายโรคหนึ่งเลยทีเดียว
ล่าสุดนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงเรื่อง “โรคมะเร็งโคนลิ้น” ทางการแพทย์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมะเร็งคอหอยส่วนปากหรือที่เรียกว่ามะเร็งคอหอยหลังช่องปาก แม้ขณะนี้จะพบมะเร็งดังกล่าวได้น้อยในคนไทย
โดยในปี 2558 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนปากรายใหม่ 674 ราย ซึ่งถือว่าน้อยถ้าเทียบกับจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีปีละ 122,757 ราย แต่ก็พบว่ามีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยชนิดของมะเร็งคอหอยส่วนปากที่พบบ่อยที่สุด คือ มะเร็งชนิด Squamous Cell Carcinoma ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับมะเร็งศีรษะและลำคอที่พบมากที่สุด
ส่วนสาเหตุของการเกิดมะเร็งคอหอยส่วนปากนั้น เกิดจากการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการติดเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus (HPV) ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การมีคู่นอนหลายคนและการมีเพศสัมพันธ์ทางปากจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ด้วย
ขณะที่ทางด้านนพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึง อาการของมะเร็งคอหอยส่วนปากว่า ผู้ป่วยมักมีอาการกลืนลำบาก เจ็บคอเวลากลืนอาหาร มีเลือดออกทางช่องปาก ปวดหู พูดเสียงเปลี่ยน มีก้อนที่คอ หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ส่องกล้องทางหูคอจมูกเพื่อตรวจในลำคอ หากจำเป็นแพทย์จะสั่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กเพิ่มเติม
“การรักษามะเร็งคอหอยส่วนปากระยะเริ่มต้นเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนควรตระหนัก เพราะหากพบระยะเริ่มต้นจะสามารถรักษาอย่างทันท่วงทีและมีโอกาสหายสูง วิธีการรักษา ได้แก่ การให้รังสีรักษา และการผ่าตัด ส่วนการรักษากรณีเป็นมะเร็งระยะลุกลามที่ผ่าตัดไม่ได้ คือ การให้รังสีรักษาควบคู่กับเคมีบำบัด ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากมีปัจจัยที่ต้องคำนึงหลายประการ”
อย่างไรก็ตาม สำหรับการป้องกันโรคนี้ ทำได้โดยการงดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา รวมถึงมีการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ที่สำคัญหากมีอาการหรือสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งคอหอยส่วนปาก ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งคอหอยส่วนปากได้