“หมอล็อต” ลุยจับ “ค้างคาวมงกุฎ” ในถ้ำกลางป่าจันทบุรี ตรวจหาเชื้อโควิด

0

เพจเฟซบุ๊ก “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” รายงานว่า นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

พร้อมด้วย ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คนไทยคนแรกที่ค้นพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ร่วมตรวจหาค้างคาวมงกุฎ ภายในถ้ำสะดอ หมู่ 2 ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี โดยมีแผนจับมาจำนวนกว่า 100 ตัว มาเก็บตัวอย่างเลือด น้ำลาย และอุจจาระ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด 19 ในห้องปฏิบัติการ

โดย ดร.สุภาภรณ์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องเริ่มมีการตรวจสอบค้างคาวมงกุฎ เนื่องจากมีรายงานจากประเทศจีนว่าไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรค COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในคน มีลักษณะเดียวกันกับไวรัสที่พบในค้างคาวมงกุฎ ซึ่งพบค้างคาวชนิดนี้ในไทยด้วย และในเมืองไทยมีค้างคาวมงกุฎถึง 23 สายพันธุ์ โดยนี่เป็นครั้งแรกของไทยที่มีการหาเชื้อไวรัสในค้างคาวมงกุฎอย่างเป็นระบบ หลังมีการวิจัยเรื่องโรคจากค้างคาวที่เมืองไทยทำมาเกือบ 20 ปี แต่ยังไม่เคยมีการตรวจสอบค้างคาวมงกุฎแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ถ้ามองการพบเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด 19 ในค้างคาวมงกุฎ แบบเดียวกับที่พบค้างคาวสายพันธุ์นี้ในประเทศจีน เมืองไทยก็มีโอกาสจะพบเชื้อไวรัสนี้ แต่อัตราการติดเชื้อจะมีโอกาสมากหรือน้อยต้องตรวจสอบกันต่อไป ส่วนเชื้อโควิด 19 ที่จะหมดไปจากเมืองไทย ไวรัสเดียวกันนี้จะกลับเกิดขึ้นในไทยจากค้างคาวมงกุฎหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทย หากไม่กินค้างคาวก็ยากที่จะได้รับเชื้อ แต่ที่เป็นห่วงคือยังมีคนไทยที่ยังนิยมกินค้างคาวเป็นอาหารอยู่

ด้าน นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า เป็นที่น่ากังวลที่ยังมีคนนิยมกินค้างคาว เพราะมีความเชื่อผิด ๆ เพราะไม่ว่าการกิน การจับ มีโอกาสจะได้รับเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคอื่น ๆ ได้ จึงจำเป็นต้องทำคู่มือว่าด้วยเรื่องการอยู่ร่วมกับค้างคาวอย่างปลอดภัยแจกจ่ายให้ประชาชน ซึ่งขณะนี้กลุ่มนักวิจัยกำลังศึกษาเส้นทางการอพยพ เส้นทางการหากินของค้างคาว โดยเน้นไปที่ค้างคาวมงกุฎ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสหรือโรคที่มาจากค้างคาวในอนาคต เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับไวรัส

แต่ยืนยันว่า วิธีป้องกันที่ง่ายที่สุด คือการไม่ไปทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติหรือบุกรุกป่า ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่า เชื้อโรคใด ๆ จากสัตว์ป่าก็ไม่สามารถมาสู่คนได้

ที่มา : เฟซบุ๊ก “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช