ส.ส.กดบัตรแทนกัน!?! ปัญหาคนหรือเครื่องมือ??? เนรมิตสภาฯ1.2หมื่นล้านแต่ไม่พอใช้!?!

0

ยังไม่รู้ว่าร่างพรบ.งบฯปี63จะเป็นโมฆะหรือไม่ นั่นคือเรื่องที่จะต้องจับตากันต่อไป แต่ปัญหาใหญ่อีกเรื่องก็คือ เครื่องไม้เครื่องมือของส.ส.ในการกดบัตร???

นับแต่ 20 ม.ค.63 นิพิฏฐ์ พบการลงมติร่างพรบ.งบของสภาฯ มี ส.ส.กดบัตรแทนกัน คือฉลอง พรรคภูมิใจไทย

ต่อมา 22 ม.ค. 63 มีการเผยแพร่คลิปทีวีช่องหนึ่ง อ้างเป็นเหตุการณ์การลงมติพ.ร.บ.งบฯ เป็นภาพ ส.ส.ชาย พรรคภูมิใจไทย สมบูรณ์ ซารัมย์ ถือบัตรลงคะแนนในมือหลายใบ ก่อนเสียบบัตรมากกว่าหนึ่งครั้งเมื่อวันที่ 8 ม.ค.63

อีกภาพเป็นคลิปประชุม10 ม.ค. ของ ส.ส.หญิงพรรคพลังประชารัฐ คือ ภริม พูลเจริญ ที่วางบัตรลงคะแนนบนโต๊ะ 2 ใบ ก่อนจะหยิบบัตรลงคะแนนบนโต๊ะทีละใบเสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนนมากกว่า 1 ครั้ง

23 ม.ค.63 ชัยวุฒิ ส.ส.พลังประชารัฐ แถลงกรณีภริม อ้างช่องลงคะแนนพรรคมี 68 ช่องแต่พรรคมีส.ส.117 คน ในหนึ่งช่องย่อมมีการเสียบสองสามใบเป็นปกติ ส.ส.เสียบกันเอง แต่ภาพที่เกิดขึ้นอาจเป็นอุบัติเหตุ

น.ส.ภริม อ้างเหตุการณ์ในวันนั้นตนลงคะแนนไปแล้ว แต่ทวิรัฐ ส.ส.พลังประชารัฐ ที่อยู่ในห้องประชุมนำบัตรมาให้ตนกดลงคะแนน เพราะไม่สามารถเข้าไปที่นั่งเพื่อกดบัตรคะแนนด้วยตัวเองได้

น.ส.รังสิมา ส.ส.ประชาธิปัตย์ เรียกร้องใช้การสแกนม่านตาและลายนิ้วมือ อ้างสภามีช่องกดบัตร 300 ช่อง แต่มีส.ส.500 คน ทำให้ต้องการมีดึงบัตรออกและเสียบบัตรเข้าไปใหม่

23 ม.ค. 63 ชวน หลีกภัย ชี้ไม่ว่าเสียบบัตรแทนกันกรณีใดก็ทำไม่ได้ แม้เครื่องลงคะแนนไม่เพียง  ส.ส.ไม่สามารถฝากบัตรเสียบแทนกันได้ รอส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

หากพ.ร.บ.งบฯปี 63 เป็นโมฆะมีทางออกอย่างไร นายชวนตอบว่า  ให้ใช้งบฯเดิมไปก่อน เงินเดือนข้าราชการเป็นไปตามปกติ แต่โครงการพัฒนาต่างๆไม่สามารถเดินหน้าได้

การแก้ไขปัญหาเสียบบัตรแทนกันในอนาคต ยอมรับสภาฯยังไม่พร้อมประชุม ส.ส.ยังไม่มีที่นั่งประจำ ต้องยืมห้องประชุมวุฒิสภาใช้ แต่เหนืออื่นใดขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบแต่ละบุคคล

สรศักดิ์ เลขาธิการสภาฯ ตรวจสอบสอบแล้ว อ้างเหตุเกิดขึ้นได้ 3 กรณี

บาง ส.ส.เสียบบัตรค้างไว้ มีคนมากดลงมติแทน

บาง ส.ส.เบิกบัตรสำรองไปให้คนอื่นเสียบบัตรลงมติแทน ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้เข้าร่วมการประชุม

เสียบบัตรแทนกัน เนื่องจากเครื่องลงคะแนนไม่พอ ปัจจุบันส.ส.ใช้ห้องส.ว.มีเครื่องลงคะแนน 318 เครื่องไม่ครบตามจำนวน ส.ส. 498 คน ขาดไป 180 เครื่อง ทำให้ ส.ส.ต้องใช้เครื่องในการลงคะแนนซ้ำกัน

รัฐสภาแห่งใหม่ถูกออกแบบแก้ปัญหากดบัตรแทนกัน ตั้งใจใช้เครื่องสแกนลายนิ้วมือแทนเสียบบัตร แต่เมื่อตั้งงบจัดซื้อกลับถูก รัฐบาลตัดขอไป 8 พันล้านบาท เหลือเพียง 3 พันล้านบาท

สำหรับสัปปายะสภาสถาน ใช้งบสร้างราว 12,000 ล้าน มีโถงรับรอง ส.ส. และ ส.ว., ห้องประชุมส.ส. ห้องประชุม ส.ว.  โถงรัฐพิธี, พิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตย, ห้องอาหาร ส.ส., ห้องอาหาร ส.ว.ฯลฯ

นั่นคือข้อมูล-ข้อเท็จจริงบางส่วนที่อยากให้ประชาชนผู้ลงคะแนนเลือกส.ส.ได้นำมาพิจารณา ถึงเรื่องราวและสาเหตุที่เกิดขึ้น??? ว่าข้ออ้างและการชี้แจงเชื่อถือ-ฟังได้มากน้อยแค่ไหน!?!

ซึ่งเรื่องนี้ ดร.กิตติธัช คณาจารย์สถาบันทิศทางไทย ได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า การเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน

ไม่ว่าในกรณีใด ถือเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะ ส.ส.คือตัวแทนประชาชน

ผู้แทนมีหน้าที่มาประชุมสภาฯ และทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เหมาะสมกับเงินเดือนจากภาษีประชาชน

ทั้งนี้นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย ยังเสนอสภาควรพิจารณานำระบบสแกนนิ้วมาใช้ พร้อมทั้งบทลงโทษ

ทำครั้งแรกตัดเงินเดือนและอภิสิทธิพิเศษ ส.ส. 3-6 เดือน หากทำผิดครั้งที่ 2 ให้สิ้นสภาพความเป็นผู้แทนทันที

ก่อนที่ดร.กิตติธัช จะเปรียบเทียบว่าการลงคะแนนแทนกันนั้นก็คือคอรัปชั่นประเภทหนึ่งนั่นเอง

หากนำเหตุผลมาพิจารณา ต้องแยกเป็นกรณีๆ เช่น ที่นิพิฏฐ์ นำหลักฐานส.ส.ภูมิใจไทย มาเปิดเผยถือว่า มีความชัดเจนด้วยเจตนาทุจริต ส่วนจะเป็นใครมีความผิดก็ต้องสอบให้ชัดเจนลงไป!?!

ส่วนกรณีทีวีถ่ายตอน ส.ส.กดบัตรแล้วนำสรุปว่าที่ “กดหลายใบ” คือทุจริต “กดบัตรแทนกัน” น่าจะต้องตรวจสอบกันถี่ถ้วนก่อน เพราะยังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างกรณีนิพิฏฐ์

ซึ่ต้องดูเหตุผล เพราะส.ส.มีมากกว่าเครื่องลงคะแนน บางที่นั่งไม่มีเครื่อง ต้องลุกมากดตรงจุดที่มีเครื่องพร้อมกันหลายคนจึงให้คนเดียวกดแทน โดยพิสูจน์ให้ชัดว่า เจ้าของบัตรอยู่ที่นั้นด้วยหรือไม่

ดังนั้นแล้วประชาชนจึงต้องวินิจฉัยโดยมองเจตนาของส.ส.ให้ชัด เพื่อความเป็นธรรม แต่ทั้งนี้ความรับผิดชอบของคนคือปัจจัยสำคัญมากกว่าเครื่องมืออุปกรณ์ใดๆ!?!

 

#ปอกเปลือก#ปอกให้เห็นความจริง