แพทย์เตือนอุทาหรณ์โรค “มะเร็งตับ” เปิดสถิติเจอในชายไทยสูงเป็นอันดับ 1 ยอดเสียชีวิตยังน่ากลัว

0

จากกรณีข่าวเศร้าสะเทือนใจวงการบันเทิง เมื่อต้องสูญเสียอดีตพระเอกชื่อดัง นักแสดง และผู้กำกับคนเก่ง สำหรับ “ตั้ว ศรัณยู” ที่เสียชีวิตในวัย 59 ปี ด้วยโรคมะเร็งตับ ท่ามกลางความเสียใจของครอบครัว และเพื่อนร่วมวงการ ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง ภรรยา “เปิ้ล หัทยา” ก็ได้โพสต์ข้อความในอินสตาแกรมส่วนตัว พร้อมกับข้อความว่า “อยากให้เวลาเดินช้าช้า ขอเวลาสักหน่อย” ก่อนที่จะมีข่าวการเสียชีวิต

 

ต่อมามีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญจากคนใกล้ชิดด้วยว่า เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา “ตั้ว ศรัณยู” ล้มในกองถ่าย และมีอาการปวดหลัง ก่อนจะเข้ารับการรักษาที่รพ.จุฬาฯ และพบว่ากระดูกหักและลักษณะของกระดูกหักเหมือนเกิดจากมะเร็ง แพทย์ได้เจาะกระดูกไปตรวจพบว่าเป็นมะเร็งจากตับและพบก้อนที่ตับ เริ่มให้การรักษาโดยวิธีเคมีบำบัด และพบว่าอาการปวดหลังและอาการโดยทั่วไปดีขึ้น

จนเวลาผ่านไป 1 เดือนก่อนมีอาการเบื่ออาหาร ปวดหลังมากขึ้น และเมื่อวานนี้มีความดันโลหิตต่ำ แล้วความดันตกลงมาเรื่อย ๆ ทีมแพทย์ได้ยากระตุ้นความดันโลหิต แต่ช่วยไม่ได้ และได้เสียชีวิตในที่สุด ซึ่งเป็นการเสียชีวิตที่เร็วกว่าที่คาดเอาไว้

 

ทั้งนี้การจากไปอย่างกะทันหันของ “ตั้ว ศรัณยู” ก็ได้สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้กับภรรยาและครอบครัวอย่างมาก อีกทั้งบรรดาแฟน ๆ ละครก็ต่างอาลัยต่อการจากไปครั้งนี้ รวมทั้งผู้คนในสังคมก็ตื่นตัวมากขึ้นกับอาการป่วย “โรคมะเร็งตับ” ที่ถือเป็นภัยเงียบ และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุด ตามสถิติของประเทศไทย

 

ล่าสุดนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญ ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ปีละ 122,757 ราย มะเร็งตับและท่อน้ำดีถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย (ปี 2558) พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตับ

พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สาเหตุของมะเร็งตับเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากพยาธิใบไม้ตับร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ฯลฯ

 

นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซีก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้

ขณะที่ทางด้านนพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเกี่ยวกับอาการของมะเร็งตับว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง

 

 

หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจเลือดดูความผิดปกติการทํางานของตับ การตรวจระดับอัลฟาฟีโตโปรตีน การอัลตราซาวด์เพื่อดูก้อนที่ตับ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก

อย่างไรก็ตามผู้ที่เสี่ยงต่อโรคนี้ มักไม่ค่อยแสดงอาการในตอนแรกมากนัก และเฉพาะผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังหรือมีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ ควรรับการตรวจหามะเร็งอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับได้