(1) ถามกันเยอะว่าถ้าอนาคตใหม่ถูกยุบแกนนำพรรคโดยเฉพาะธนาธร-ปิยบุตร จะทำอย่างไร รวมทั้งจะต้องหาพรรคใหม่ หัวหน้าและเลขาฯคนใหม่ด้วยหรือไม่ ที่สำคัญสองคู่หูจะเดินทิศทางการเมืองของตนเองอย่างไร หากโดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วย?!?
(2) 19 ม.ค.63 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้พูดถึงความพร้อมคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญคดีอิลลูมินาติวันที่ 21 มกราคมไม่ว่าคำวินิจฉัยจะเป็นอย่างไร พร้อมเดินหน้าร่วมกับประชาชน
(3) เมื่อถามย้ำว่ามีการเตรียมพรรคการเมืองให้ ส.ส.ย้ายไปหากมีการยุบพรรคการเมืองนั้นเป็นพรรคการเมืองลักษณะไหน ธนาธร กล่าวว่า “เดี๋ยวคอยดูดีกว่า ได้เตรียมความพร้อมสำหรับทุกความเป็นไปได้เรียบร้อยแล้ว ยุบพรรค อุดมการณ์ยังอยู่ ผู้คนยังอยู่ ส.ส.ยังอยู่ แถมยังได้ธนาธรและปิยบุตรไปรณรงค์ทั่วประเทศ
(4) 18 ม.ค. 63 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงเรียกร้องให้ส.ส.อนาคตใหม่ทั้งหมด เมื่อศาลสั่งยุบพรรคขอให้ส.ส.ทุกคนย้ายไปอยู่พรรคการเมืองที่มีแนวทางเดียวกับอนาคตใหม่โดยพร้อมเพียงกัน และขอให้สมาชิกพรรคกว่า 6 หมื่นคน ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่
“เขายุบพรรคเพื่อหวังให้ธนาธรและปิยบุตรหายไปจากการเมืองไทย แต่เราคุยกันแล้ว ธนาธรจะรณรงค์การเมืองต่อเนื่อง จะไม่กลับไปทำธุรกิจ ส่วนตนจะเดินสายอภิปรายทั่วประเทศ บ้านใหม่ของเราจะเดินตามแนวทางพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด”
(5) จากนั้นเป็นช่วง “ถามแรงตอบตรง” ที่มีสุทธิชัย หยุ่น เป็นพิธีกร ซึ่งธนาธร กล่าวว่า ไม่ว่าจะยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ ความแน่วแน่ในการทำงานการเมืองยังคงเดิม แม้จะยุบพรรคไปก็ยังทำงานการเมืองในรูปแบบอื่น
(6) เมื่อถาม ตอนนี้หลายคนสงสัยว่าพรรคใหม่ชื่ออะไร ปิยบุตร กล่าวว่า ในสถานการณ์นี้การเตรียมพรรคเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่แผนบี เป็นแผนหากเกิดอุบัติเหตุ ให้เปลี่ยนรูปจากพรรคหนึ่งไปเป็นอีกพรรคหนึ่ง เปลี่ยนบทบาทของตนและธนาธร แต่เป้าหมายและปลายทางยังเหมือนเดิม
(7) ถามว่า หากยุบแล้วจะพาคนลงถนนหรือไม่ ปิยบุตร กล่าวว่า เสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง
(8) ด้านธนาธร กล่าวว่าเคยร่วมชุมนุมหลายครั้ง เสื้อเหลืองเสื้อแดงตนเข้าร่วมหมด คนที่มาชุมนุมไม่ได้อยากออกมา การชุมนุมที่จะพาสังคมไปสู่ทางตันหรือเกิดความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นจากการนำของตน ถ้าประชาชนชุมนุมเรียกร้องรธน.ฉบับใหม่ ทหารยังจะยิงประชาชนอยู่อีกหรือไม่ ยืนยันว่าการชุมนุมเพื่อนำไปสู่การแตกหักม้วนเดียวจบ ไม่เคยอยู่ในกระบวนทัศน์ของเรา
(9) 16 ธ.ค.62 ธนาธร ให้สัมภาษณ์กกต. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องพรรคอนาคตใหม่ กู้เงิน 191 ล้านบาท เป็นความผิดตามมาตรา 72 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่
(10) โดยเมื่อถามว่าหากมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ มีแผนสำรองอย่างไรบ้าง ธนาธร กล่าวว่า ไม่มีอะไรมาก แค่เปลี่ยนบ้านใหม่ ซึ่งต้องมีพรรคสำรองไว้ แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนเราพร้อมจะสู้ต่อ
(11) 14 ธ.ค.62 ปรากฏรายงานข่าว พรรคการเมืองที่ธนาธร เตรียมไว้รองรับ ส.ส. อาจเป็นพรรคใดพรรคหนึ่งใน 3 พรรค คือ 1. พลเมืองใหม่ 2. สามัญชน และ 3. วิสัยทัศน์ใหม่ ส่วนหัวหน้าพรรคมีความเป็นไปได้มากสุดที่จะเป็น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หลานผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ คนใกล้ชิดทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
(12) นั่นคือข้อมูลเพียงเบื้องต้น หากมีการยุบพรรคอนาคตไหม้เกิดขึ้น ซึ่งตอนนั้นก็คงต้องหาพรรคใหม่ หัวหน้าพรรคคนใหม่ รวมทั้งเลขาฯพรรค แล้วคนเก่าอย่างธนาธร-ปิยบุตร จะอยู่ตรงไหน ทำอะไร???
(13) 13 ก.พ. 62 อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พูดถึงกรณีพรรคการเมืองใดถูกยุบจะมีผลทางกฎหมายต่อกรรมการบริหารพรรคอย่างไร โดยหากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดจะทำให้กรรมการบริหารพรรคนั้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตด้วย ซึ่งจะไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ได้อีก
(14) ทั้งนี้เนื่องจากใน มาตรา 92 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง วรรคท้ายระบุว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น”
(15) จะเห็นว่ากฎหมายกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญตัด “สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง” ของคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งสิทธิ์ในการสมัครรับเลือกตั้งไม่มีการกำหนดอายุไว้ ต่างจาก “สิทธิ์เลือกตั้ง” ที่กำหนดจำนวนปีไว้
(16) และหากดูใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 94 วรรค 2 ที่เขียนว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดํารงตําแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าว ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกําหนดสิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ”
(17) ถ้าดูแค่นี้อาจจะเกิดความสับสนเรื่องของระยะเวลาในการถูกตัดสิทธิ์ แต่ในทางความเป็นจริงการยื่นจัดตั้งพรรคการเมืองหรือไปยื่นเป็นกรรมการบริหารพรรคจะไปสัมพันธ์กับการมี “สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง” ทั้งสิ้น
(18) ซึ่งสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งกำหนดอยู่ใน รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 98 ที่กำหนดผู้มีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ใน (5) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง
(19) ดังนั้นถ้าดูในส่วนนี้จะไม่มีเรื่องระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเป็นลักษณะต้องห้ามถาวร ถ้าเมื่อไรถูกตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งจะเป็นข้อห้ามในการดำเนินการอื่นๆด้วย
(20) อดีตกรธ. ยังชี้ให้เห็นว่า การเขียนกฎหมายแบบนี้ต่างไปจากเดิม เพราะมองว่าผู้ที่จะถูกตัดสิทธิ์ในการรับสมัครเลือกตั้ง ต้องมีพฤติกรรมรุนแรง ไม่ควรจะอยู่ร่วมในการทำกิจกรรมทางการเมืองโดยเฉพาะการมาเป็นผู้นำของสังคมการเมือง เรื่องการใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นสิทธิพลเมือง แต่สิทธิ์ในการสมัครรับเลือกตั้งถือเป็นผู้แทนของคนอื่นในการทำหน้าที่ ถ้าถูกตัดคือมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ
(21) อย่างไรก็ตามเมื่อมาดูที่ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องกล่าวหาพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ทั้งคณะ ผู้ถูกร้องที่ 1-4 กรณีกล่าวหาว่า ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(22) โดยทั้งสองคำร้องของณฐพร ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่ระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
(23) ทั้งในคำร้องเพิ่มเติมของณฐพร นอกจากการอ้างใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 แล้ว ยังอ้างขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งธนาธร นายปิยบุตร และกรรมการบริหารพรรคด้วย
(24) โดยอ้างถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 (1) (2) ว่าด้วยพรรคการเมือง กระทำการตามวรรคหนึ่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
(25) ซึ่งหากพิจารณาตามนี้นั่นก็หมายความว่า ธนาธร-ปิยบุตร รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดอาจโดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตเลยใช่หรือไม่???
(26) และถ้าเป็นเช่นนั้น ทั้งปิยบุตร-ธนาธร ก็ไม่อาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆกับพรรคที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ได้เลยใช่หรือไม่???ดังนั้นจึงน่าจับตาต่อไปว่า แล้วทั้งคู่จะเคลื่อนไหวอะไร บทบาทไหน???
(27) ธนาธร-ปิยบุตร จะไปเป็นผู้นำม็อบหรือไม่ เพราะทั้งสองก็ยืนยันแล้วว่าจะเดินหน้าทางการเมืองต่อไป หรือจะมีการตั้งสถาบัน หรือ มูลนิธิใดมารองรับเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน-เคลื่อนไหว?!? นี่เป็นประเด็นที่ต้องจับตาเพราะย่างก้าวนี้ ส่งผลต่อทิศทางสถานการณ์ทางการเมืองไทยแน่นอนไม่มากก็น้อย?!?
#ปอกเปลือก#ปอกให้เห็นความจริง