จากกรณีที่มีสาวรายหนึ่งลางานไปคลอดลูก แต่พอคลอดลูกได้เพียง 2 วัน บริษัทก็ไล่ออกจากงาน ทำให้เกิดความเดือดร้อน เพราะลูกน้อยที่เพิ่งเกิดมาลืมตาดูโลกก็ต้องใช้เงิน จนมีหลายเสียงในโซเชียลต่างวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
โดยเรื่องราวดังกล่าวได้รับการเปิดเผยผ่านทาง ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “เสาร์ ฟิชชิ่ง” ซึ่งมีการโพสต์ภาพกำลังอุ้มลูกน้อยกับแฟนสาว พร้อมระบุข้อความว่า “แฟนเพิ่งคลอดลูกได้สองวัน ได้รับโทรศัพท์ว่าให้ไปเซ็นรับทราบ รับเงิน 12,000 คือเลิกจ้างอ่ะ ลาคลอดอยู่แท้ ๆ แฟนทำโรงงานนี้มา 8 ปี ซัพเถื่อน หรือโรงงานเถื่อนคับ #มีใครโดนแบบนี้บ้าง” จนมีชาวเน็ตแห่ให้กำลังใจมากมายและแนะนำให้หาวิธีต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ที่จะได้รับ
ทั้งนี้นางสาววิลัยลักษณ์ มิลาวรรณ อายุ 27 ปี ได้เปิดใจเล่าว่า ตนเองนั้นได้ลาคลอดกับบริษัทเป็นเวลา 98 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม และคลอดลูกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน แต่วันที่ 2 มิถุนายน 2563 บริษัทก็โทรมาตามไปเซ็นรับเงิน 12,000 บาท กับการให้พ้นสภาพการเป็นพนักงาน
ยอมรับว่ารู้สึกตกใจมากและช็อกมาก เพราะทำงานที่นี่มา 8 ปี จู่ ๆ ให้ไปเซ็นใบลาออก ทั้งที่ลาคลอดอยู่ ซึ่งตอนนั้นตนเองเพิ่งคลอดจึงยังไม่สามารถไปเซ็นได้ จากนี้เตรียมจะปรึกษาสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานถึงเรื่องสิทธิที่จะได้รับต่อไป เพราะว่าเงิน 12,000 บาท คงไม่พอเลี้ยงลูกแน่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:สาวแม่ลูกอ่อนลาคลอดไม่ถึงเดือน โดนบริษัทไล่ออก ทำงานมา 8 ปี ให้เงินชดเชยแค่หมื่นนิด ๆ
ล่าสุดนางสาววิลัยลักษณ์ มิลาวรรณ อายุ 27 ปี ได้เล่าถึงกรณีนี้เพิ่มเติมด้วยว่า ตัวเองเป็นพนักงาน QC ของโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์แห่งหนึ่ง ทำงานมา 8 ปี ได้ค่าแรงวันละ 349 บาท เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ได้ลาคลอด และเพิ่งคลอดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. แต่วันที่ 2 มิ.ย. ทางบริษัทโทรมาตามให้ไปเซ็นลาออก
ภายหลังมารู้ว่า ตนเพิ่งทราบภายหลังว่าถูกปลดพร้อมพนักงานคนอื่น 200 คน โดยที่ไม่แจ้งล่วงหน้า ตอนนี้เครียดกลัวเงินจะไม่พอเลี้ยงลูก จึงวอนบริษัทเห็นใจและชดเชยเงินตามสิทธิ์การทำงาน 8 ปี ไม่ได้จะขออะไรมาก
นอกจากนี้ก็มีเพื่อนร่วมงานในบริษัทเดียวกัน เปิดเผยว่า ตัวเองก็ทำงานมา 9 ปี เพิ่งรู้ว่าจะถูกเลิกจ้างตอนเที่ยง ทั้งที่ตอนเช้าก็มาทำงานปกติ บริษัทชี้แจงว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ไม่มีออร์เดอร์งาน
ขณะที่ทางด้านทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้กล่าวถึงกรณีของเคสแม่ลูกอ่อนว่า การเลิกจ้างโดยอ้างว่าขาดทุน ต้องเลิกจ้างทั้งบริษัท ไม่ใช่คัดออกเป็นกลุ่ม ๆ
ต้องนำบัญชีผลประกอบการ และกำไรสะสมมาแสดงว่าขาดทุนจริงหรือไม่ หรือแค่ขาดทุนกำไร ซึ่งการเลิกจ้างพนักงาน ต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน หรือ 1 งวดค่าจ้าง และกฎหมายแรงงานเขียนไว้ชัดว่า ห้ามเลิกจ้างหญิงมีครรภ์ ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ดังนั้น พนักงานที่ลาคลอดบุตรแล้วถูกเลิกจ้าง สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายแรงงานได้