นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย เตือนทุกฝ่ายเอาจริง “มหันตภัยร้ายไวรัส” กรณีอู่ฮั่น หวั่นอาจสายเกินแก้
รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา อาจารย์ด้านเวชสารสนเทศ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิชาการสถาบันทิศทางไทย
จากกรณีที่มีการติดเชื่้อไวรัสจนมีการแพร่ระบาดที่ตรวจพบล่าสุดกรณีของ การติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ซึ่งองค์การอนามัยโลกหวั่นว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจเป็นเชื้อโคโรนาไวรัสชนิดใหม่ และมีผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยายืนยันเป็นโรคอุบัติใหม่ มีความใกล้เคียงกับไวรัสโรคซาร์สและเมอร์ส จากเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีน (ไทยรัฐออนไลน์, 14 มกราคม 2563)
จากการศึกษาการแพร่กระจายโดยการติดต่อของไวรัสสู่คนนั้นจะพบความน่ากลัวเป็นอย่างมากเมื่อมีการระบาดลุกลามออกไป ซึ่งถ้าย้อนไปเมื่อประมาณ 2460 ที่เริ่มมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากไวรัส A ชนิด H1N1 ที่เรียกว่า Spanish Flu ทำให้เกิดการล้มตายของผู้ติดเชื้อแทบประเมินไม่ได้เพราะตายไปหลายล้านคนมาก จากการประเมินตอนนั้นว่าประมาณ 20 ล้านคน แต่อาจมากกว่านั้นถึงเกือบครึ่งร้อยล้านคนเนื่องจากความล่าช้าและตกหล่นของข้อมูลด้านเวชสารสนเทศ (ข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์) ในยุคนั้น แต่มีข้อมูลว่ามีการป่วยเป็นหลักเกือบถึงพันล้านคนอย่างแน่นอน รวมถึงมีการระบาดของโรคชนิดนี้อีกตอนปี 2500-2501 คือ Asian flu จากไวรัส A(H2N2) โดยเริ่มตรวจพบในประเทศจีน ต่อมาอีกทุก 10 ปีก็จะพบการระบาดอีก 2 ครั้งโดยเชื้อไวรัสที่ต่างกันทุกครั้ง คือ ระหว่าง พ.ศ. 2511-2512 Hong Kong flu จากไวรัส A(H3N2) เริ่มตรวจพบในฮ่องกง และ ระหว่าง พ.ศ. 2520-2521 Influenza A (H1N1) กลับมาระบาดใหญ่อีกครั้ง แยกได้จากผู้ป่วยในสหภาพโซเวียต จึงเรียก Russian flu แต่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน
(Otis Historical Archives Nat’l Museum of Health & Medicine, 1918)
ซึ่งจะพบว่าการเกิดขึ้นและแพร่กระจายโรคมาจากกลุ่มประเทศจีนมากกว่าบริเวณอื่น จากที่เคยศึกษาการแพร่กระจายของโรคจากไวรัสโดยอาศัยข้อมูลรายเดือนจำนวนเกือบ 30 ปีพบว่าการแพร่กระจายของโรคที่เกิดจากไวรัสนั้นจะส่งผลต่อประชาชนที่อยู่เลียบชายฝั่งทะเลมากกว่าบริเวณภูเขา โดยพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการกระจายของไข้หวัดใหญ่จากไวรัสนั้นจะเกิดกับประชาชนในแถบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยมากกว่าบริเวณอื่น แม้จะเป็นชายฝั่งทะเลด้วยกันอย่างฝั่งอันดามัน โดยปัจจัยทางภูมิอากาศที่ส่งผลมากที่สุดพบว่าเป็นความเร็วของลม ซึ่งเข้ากันได้กับแรงลมที่มาปะทะชายฝั่งอ่าวไทยจะรุนแรงกว่าอันดามันจากลมมรสุม และพบว่าช่วงมิถุนายน – กรกฏาคม จะเป็นช่วงที่มีการป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สูงสุด เมื่อมีการระบาดเข้าสู่ประเทศไทยอาจส่งผลต่อการเจ็บป่วยและกลายพันธุ์จากที่เคยติดต่อกันระหว่าง คนสู่คน โดยเชื้อชนิดเดิมที่เคยรักษาได้แล้วก็อาจเป็นได้
จากกรณีตัวอย่างผลการศึกษาของผู้เขียนดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า การแพร่กระจายของโรคมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่สภาพภูมิอากาศ การระบาดของโรคที่น่ากลัวมากๆ ก็คือการ “ระบาดจากสัตว์สู่คน” จากกรณีไข้หวัดนกที่เกิดจากเชื้อไวรัส H5N1 ที่มีการระบาดเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มเห็นความน่ากลัวของโรคอย่างชัดเจนขึ้นมีการดำเนินการที่หลากหลายขึ้นเพื่อแก้ปัญหา มีการสั่งฆ่าไก่กันเป็นจำนวนมากโดยล้อมกรอบพื้นที่ของการตรวจพบการติดเชื้อ มีการติดตามนกโดยหน่วยวิจัยต่างๆ เช่น ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยามหิดล แต่ในปัจจุบันก็หายไปจากความสนใจต่อการเกิดของโรคไข้หวัดนกไปแล้ว เมื่อมีการเกิดขึ้นอีกรอบหนึ่งของโรคที่ติดเชื้อไวรัสจากเมืองอู่อั่นในครั้งนี้จึงเหมือนต้องกลับมาเริ่มดำเนินการในหลายๆ อย่างกันใหม่ ทำความเข้าใจกันใหม่
จากที่เคยศึกษาเรื่อง สุขภาพหนึ่งเดียว (ONE Health) ซึ่งเป็นการรวมกันโดยอาศัยหลักการที่จะต้องเกี่ยวพันกันในการดำเนินการด้านสุขภาพ ทั้งแพทย์ สัตวแพทย์ และนักสิ่งแวดล้อม แต่จากการศึกษาก็พบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับด้านอื่นๆ อีกจำนวนมาก ถ้าพิจารณาจากที่ผ่านมาสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค ได้กำหนดแผนมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ที่จะดำเนินการโครงการความร่วมมือเพื่อป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่แบบบูรณาการ ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) เพื่อให้หน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้านสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม โดยมีการพัมนาและส่งเสริมความร่วมมือด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการ ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว มีการเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2558 อยุู่หลายโครงการเช่น
1.การเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดสัตว์ที่ติดต่อถึงคนหรือที่กระทบรายได้ชาวบ้าน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ 75 แห่งร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายอีโคเฮลท์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ บริษัทโอเพ่นดรีมจำกัด โดยการสนับสนุนของ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัดเชียงใหม่และคณะกรรมการสุขภาพหนึ่งเดียวจังหวัดเชียงใหม่
2.การดำเนินการจัดทำ “สระแก้วโมเดล วันเฮลท์ วันฮาร์ท” โดยมีการบูรณาการหน่วยงานทางสาธารณสุข ปศุสัตว์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองกำลังบูรพา ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) และมีการขยายความร่วมมือกับจังหวัดบันเตียเมียนเจยประเทศกัมพูชา
3.การดำเนินการโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังโรคไข้วหัดสัตว์ปีกในพื้นที่ชายแดน ที่เป็นการขยายความร่วมมือในกรอบการทำงานด้านเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวลงในพื้นที่ 10 อำเภอชายแดน ของจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวังโรคที่เข้มแข็งและยั่งยืน
4.การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานเด่นภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) สู่เมืองสุขภาวะ ขับเคลื่อนวาระจังหวัดมหาสารคาม
5.การดำเนินการโครงการ Development of One Health Workforce of Thai University Network for Communication Based Learning on Infectious Diseases Prevention (FVM-KKU) โดยได้รับกาสนับสนุนจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN) ภายใต้การดูแลของ USAID โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางแผนในการสร้างกำลังคนสำหรับการทำงานด้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Workforce)
6.การจัดประชุม Side meeting ในการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในหัวข้อสุขภาพหนึ่งเดียว
7.การดำเนินการจัดทำ หมู่บ้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Village) ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยการดำเนินการของคณะสัตว์แพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
8.การพัฒนารูปแบบจังหวัดสุขภาพหนึ่งเดียว และขยายพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นไปตามรูปแบบแนวคิดนี้ ที่มีการดำเนินการโดยมีศูนย์การการดำเนินงานคือ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว
นี่เป็นตัวอย่างของการดำเนินการและมีอีกหลากหลายโครงการในการผลักดันสุขภาพหนึ่งเดียวในประเทศ โดยเฉพาะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการดำเนินงานด้านสุขภาพหนึ่งเดียวเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศ (MOU) ระหว่าง 8 หน่วยงานสำคัญ ประกอบด้วย
1) กระทรวงสาธารณสุข
2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4) กระทรวงศึกษาธิการ
5) กระทรวงมหาดไทย
6) กระทรวงแรงงาน
7) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
8) สภากาชาดไทย
แต่การดำเนินการดังกล่าวประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐในหลายภาคส่วนยังไม่เข้าใจเรื่องของระบบที่จะต้องดำเนินการแบบบูรณาการ แม้จะมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพในการดูแลเรื่องสุขภาพ แต่สุขภาพและการดำเนินการในดูแลเรื่องโรค การระบาดของโรค และระบบสุขภาพมันซับซ้อนมากกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่มีการเข้าไปในบริเวณกลางป่าลึกใกล้ชิดกับสัตว์ป่า ซึงอาจเป็น “รังโรค” ที่ไม่เคยได้ถ่ายทอดมายังสัตว์เลี้ยงหรือมนุษย์มาก่อน
กรณีของ โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นตัวอย่างที่จะชี้ให้เห็นว่าแพทย์ที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลไม่สามารถดำเนินการเกี่ยวกับโรคนี้ได้แล้ว ต้องอาศัยหลายส่วนของสุขภาพหนึ่งเดียวที่จะต้องอาศัย สัตวแพทย์ การจัดการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยที่มีผู้ว่าดูแลในแต่ละจังหวัด พฤติกรรมของผู้เลี้ยงสัตว์ที่เปลี่ยนไปจากการเปลี่ยนไปของสังคมที่มีการนำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงภายในบ้าน นอนบนที่นอนเดียวกัน การกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสุนัข การให้ความรู้ของหน่วยงานต่างๆ หรือความเกี่ยวข้องอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับการเกิดขึ้น การป้องกัน และการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า เป็นตัวอย่างที่ดีมากของการบูรณาการของสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งทางสถาบันจะได้นำบทความที่เกี่ยวกับสุขภาพหนึ่งเดียวเพื่อการปฏิรูปร่วมกันของระบบการพัฒนาสุขภาพไทยในโอกาสต่อไป
จากการศึกษาที่ผ่านมาทางสถาบันทิศทางไทยขอเรียกร้องไปยังทุกภาคส่วนที่จะต้องไม่เห็นว่ากรณีของการติดเชื้อโคโรน่า ที่ทำให้เกิดโรคปวดบวม (Pneumonia) ที่มีการระบาดมาจากเมืองอู่ฮั่นนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป และคนที่จะมาบัญชาการในการดำเนินการนั้นถ้าจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขก็คงไม่น่าจะเหมาะสมต้องดำเนินการในฐานะของ “รองนายกรัฐมนตรี” เพราะต้องดำเนินการให้หน่วยงานที่ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการดำเนินงานด้านสุขภาพหนึ่งเดียวเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศ (MOU) ทั้ง 8 หน่วยงาน มาดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อดำเนินการเฝ้าระวังและบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วนในการยับยั้งทั้งโรคที่เกิดจากเชื้อชนิดใหม่ที่เรียกว่า อุบัติใหม่ หรือที่เคยเป็นมาแล้วแต่มาระบาดอีกที่เรียกว่า อุบัติซ้ำ
ไม่เช่นนั้นโรคระบาดอาจคร่าชีวิตของประชาชนในชาติและส่งผลต่อประเทศซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มิอาจประเมินค่าความเสียหายได้ ยิ่งกว่าการเกิดภัยใดๆ ทางธรรมชาติ เพราะภัยร้ายจาก “มหันตภัยร้ายไวรัส” ที่รุนแรงเสมอเมื่อมีการระบาดจากสัตว์สู่คน หรืออาจมีการกลายพันธุ์จนอาจสายเกินแก้