จากกรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2563 ในส่วนงบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหมจำนวน 125,918,522,500 บาท โดยส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายท้วงติงพร้อมกับเสนอให้ปรับลดงบประมาณลงบางส่วน
ทั้งนี้นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เลขานุการกมธ.ฯ อภิปรายว่า ตนขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมออกไปทั้งหมดแบบ 100 % เพราะที่มาของ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 มีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่อว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ เพราะพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ออกโดย สนช. ที่ขณะนั้นมีเสียงโหวตผ่านพ.ร.บ.ดังกล่าว 85 เสียงเท่ากับเป็นเสียงแค่ 1 ใน 3 ของ สมาชิกสนช.ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเสียงทั้งหมด
ขณะที่นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายประเด็นการจัดซื้อเรือดำน้ำ ว่าในปี 2560 สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุมัติจัดซื้อแล้ว 1 ลำ และในปีนี้ขอจัดซื้ออีก 2 ลำ ซึ่งหากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ จะเกิดงบผูกพันจำนวน 22,500 ล้านบาท
“สภาฯจึงเป็นความหวังสุดท้ายของประชาชนที่จะทำให้งบประมาณเป็นไปอย่างเหมาะสมคุ้มค่า ซึ่งเรือดำน้ำจากจีนที่ไทยสั่งซื้อ คือ รุ่น s – 26 t yuan class ไม่มีความเหมาะสม เพราะเรือดำน้ำรุ่นดังกล่าวระยะปลอดภัยอยู่ที่ระดับความลึก 60 เมตร แต่อ่าวไทยมีความตื้นเขินมีความลึกอยู่ที่ 40 – 50 เมตร เราจึงไม่ควรซื้อเรือดำน้ำมาปักเลนด้วยมูลค่าที่สูงขนาดนี้ จึงขอเชิญชวนสมาชิกจากทุกพรรคมาช่วยกันยับยั้ง อย่าปล่อยให้งบเรือดำน้ำผ่านสภาฯ”
ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายงบที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหารที่ตั้งไว้ 14,990 ล้านบาท โดยเสนอปรับลดลงจำนวน 3,122 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันกองทัพมีทหารเกณฑ์ประจำการประมาณ 1.2 แสนนาย ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศต้องมีทหารเกณฑ์ปีหนึ่งจำนวนมากขนาดนี้ ภาพที่ประชาชนคิดคือการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกันประเทศ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น เพราะมีการนำทหารเกณฑ์ไปใช้เป็นพลทหารบริการหรือพลทหารรับใช้ ที่น่าตกใจคือแม้แต่ระดับพันตรีก็ได้พลทหารรับใช้ด้วย
“ปัจจุบันพบว่า มีทหารบริหารทั้งสิ้น 24,956 นาย จากจำนวนทหารเกณฑ์ 1.2 แสนนาย คิดเป็น 20.83 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องไปทำหน้าที่บริการแทนที่จะไปถือปืน กลับต้องไปถือถาด ถือผ้าชาร์มัวขัดรถ ปลอกทุเรียน เลี้ยงนกเลี้ยงไก่ วันนี้ถ้าปรับลดไม่เอาพลทหารบริการแล้วให้นายพลที่โตแล้วควรซักผ้าเองได้แล้ว ก็จะช่วยประหยักงบได้ 3,122 ล้านบาท”
นอกจากนี้นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายด้วยว่า เสนอปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับ จำนวน 10 % เนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารราชการในกระทรวงกลาโหม เนื่องจากไม่สามารถปราบปรามยาเสพติด, แก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ หรือ ทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม การดูแลเลือกตั้งไม่ใช่หน้าที่ทหาร แต่ใช้ทหารทำหน้าที่จึงต้องตรวจสอบ
“การเสนอปรับลดงบประมาณของกองทัพที่ตนเสนอ เพราะมีส.ส.บางคนเสนอให้ปรับลดอัตรานายพล เพราะปัจจุบันอัตรานายพล 1 ตำแหน่งเท่ากับนายทหาร 600 นาย ขณะที่สหรัฐอเมริกา นายพล 1 คน เท่ากับนายทหาร 1,600 นาย ทั้งนี้ มีนิตยสารประเทศญี่ปุ่นเขียนบทความระบุว่ากองทัพของไทยแม้จะเก่ง ทำทุกอย่างได้ แต่กลับแพ้การทำสงคราม และตนขอให้กองทัพที่ได้รับงบประมาณปี 2563 ทำหน้าที่เอาชนะสักแนวรบให้ได้”
อย่างไรก็ตาม นายสันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า การซื้อเรือดำน้ำเป็นการดำเนินแบบจีทูจี ลักษณะของอ่าวไทยและอันดามัน จะพบว่าอ่าวไทยมีความลึกเฉลี่ย 50 เมตร โดยจุดที่ลึกที่สุด คือ 80 เมตร ดังนั้น เรือดำน้ำมาอยู่แถวอ่าวไทยไม่ได้หมุดโคลนหรือเลนทั้งสิ้น ส่วนอันดามันต่างจากอ่าวไทย โดยอันดามันจะมีชายฝั่งที่หักลงทันที
สำหรับการที่มีเรือดำน้ำนั้นยุทโธปกรณ์ต้องเป็นลักษณะอำพราง เพื่อไม่ให้ข้าศึกจอดอยู่ที่ใดบ้าง จึงจำเป็นต้องมีมากกว่าหนึ่งลำ สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีเรือดำน้ำนั้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำประจำการเป็นส่วนใหญ่แล้ว ถ้าประเทศไทยไม่เตรียมแสนยานุภาพให้ทัดเทียมเพื่อนบ้าน จะทำให้เจรจาต่อรองทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นไม่ได้
“งบประมาณของกระทรวงกลาโหมมีสัดส่วน 1.3%ของจีดีพี ส่วนประเทศอื่นๆมีงบประมาณ 2%ต่อจีดีพี สำหรับเป็นงบประมาณทางการทหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการเล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดทำงบประมาณด้านอื่นๆเช่นกัน จึงไม่ได้ทำงบประมาณกลาโหมไปให้ถึงค่าเฉลี่ยที่ 2% ขอยืนยันว่าแสนยานุภาพทางทหารไม่ได้มีเพื่อรบกับใครเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อความพร้อม หากไม่มีความพร้อมและความมั่นคงทางการทหาร ความมั่นคงในเรื่องอื่นๆอาจมีปัญหาตามมาอย่างที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้” นายสันติ กล่าว
ต่อมาที่ประชุมสภาฯมีมติเสียงข้างมาก 247 ต่อ 195 คะแนน เห็นชอบการจัดทำงบประมาณของกระทรวงกลาโหม โดยมีส.ส.งดออกเสียงจำนวน 11 คน ซึ่งรายงานข่าวด้วยว่าการลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหม โดยเสียงฝ่ายค้านส่วนใหญ่โหวตไม่เห็นด้วย แต่ปรากฏว่ายังมีเสียงฝ่ายค้านลงคะแนนงดออกเสียงคือ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และนายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย อีกทั้งยังมีพรรคเสรีรวมไทยที่ก่อนหน้านี้ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมอยู่แล้ว 8 คน ได้แก่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช นายเพชร เอกกำลังกุล นายเรวัติ วิศรุตเวช นายวัชรา ณ วังขนาย นายวิรัตน์ วรศสิริน พล.ต.ท.วิศณุ ม่วงแพรศรี นายอำไพ กรองมณี และน.ส.ธนพร โสมทองแดง ส่วนอีกหนึ่งเสียง คือ นายศุภชัย โพธิ์สุ จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม