จากที่วันนี้(8มิ.ย.63) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 แถลงมีผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย ทั้งหมดอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย มาจากปากีสถาน 2 ราย เป็นนักศึกษาชาย อายุ 28 ปีทั้งสองคน เดินทางถึงไทยวันที่ 6 มิ.ย. เข้าพักในสถานกักตัวของรัฐที่ กทม.ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. อีก 4 ราย มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นเพศหญิง 3 ราย เป็นพนักงานนวด อายุระหว่าง 39-43 ปี และเด็กนักเรียนชาย อายุ 11 ปี เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. เข้าพักในสถานกักตัวของรัฐที่ กทม. ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. รายสุดท้ายเป็นหญิงไทย อายุ 37 ปี เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกาถึงไทยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. เข้าพักในสถานกักตัวของรัฐที่ กทม. ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ทุกรายไม่มีอาการ
“14 วันแล้วที่เราไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศ พร้อมยืนยันว่าเรายังมีการค้นหาเชิงรุกอยู่ แต่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และจนถึงขณะนี้ตรวจไปแล้ว 468,175 ตัวอย่าง ทั้งนี้ สัปดาห์นี้ยังต้องลุ้น ถ้าปลายสัปดาห์นี้ทุกอย่างเรียบร้อยจะเข้าสู่การผ่อนคลายระยะที่ 4 ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมากขึ้น แต่ทุกคนต้องช่วยกัน”
ต่อมารศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวว่า รัฐควรประกาศรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นขั้นตอน ที่มีรายละเอียดดังนี้ หนึ่ง บรรยายให้เห็นจำนวนรายวัน ที่มา และสถานะอาการ พร้อมให้กำลังใจผู้ติดเชื้อให้หายป่วยโดยเร็ว
สอง วิเคราะห์สถานการณ์การติดเชื้อนั้นๆ และนำมาชี้ให้เห็นบทเรียน หรือข้อพึงระวังสำหรับประชาชน และข้อพึงระวังสำหรับหน่วยงานระดับนโยบายด้านสุขภาพ ขนส่ง ท่องเที่ยว เศรษฐกิจ แรงงาน สังคมและวัฒนธรรม จำแนกตามภาคส่วนงานหลักของประเทศ
ข้อสองที่กล่าวมานั้นสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการแลกเปลี่ยน ให้ความรู้ความเข้าใจ ทั้งแก่ประชาชนและแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานของตัวเอง ให้ได้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ และเอาไปวางแผนวางนโยบายที่เห็นหลายแง่มุม มิใช่แค่มุมที่ตัวเองทำอยู่
ที่สำคัญอีกประการคือ ประโยค/ถ้อยคำที่จะใช้สื่อสารสู่สาธารณะนั้นจำเป็นต้องไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อนจะนำมาใช้ประกาศจริง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ตามมา ตัวอย่างเช่น การประกาศย้ำมาเป็นเวลากว่าสิบวันว่า “ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ภายในประเทศ” หรือ “เราไม่มีมีผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศมา 13 วันแล้ว”นั้น
แม้จะเป็นไปด้วยเจตนาที่ดี มุ่งให้กำลังใจ หวังให้ทุกคนใจชื้น ดีใจกับผลที่เห็น และหวังจะให้ประพฤติปฏิบัติตัวอย่างดีไปเรื่อยๆ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราจะเห็นในสื่อสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ามีคนเอื้อนเอ่ยวาทกรรมจากความคิดของตนเองว่า “จะไปกลัวอะไร ไม่มีติดเชื้อในประเทศแล้ว มีแต่มาจากต่างประเทศ” หรืออีกหลายคำพูดที่เป็นไปในลักษณะเดียวกัน
ข้อความข้างต้นบ่งถึงความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการสื่อสารสาธารณะ เพราะอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ประการแรกคือ การไม่มีเคสใหม่ภายในประเทศ มิได้แปลว่าไม่มีเชื้อโรค COVID-19 แล้วในประเทศ เพราะเราไม่ได้จับทุกคนมาตรวจ และคนที่ติดเชื้ออาจไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ เพราะไม่มีอาการใดๆ ได้ถึงร้อยละ 20 และอาการเล็กน้อยคล้ายหวัดได้อีกถึงร้อยละ 60-65
ประการที่สองคือ ความเข้าใจของคนที่ได้รับการสื่อสารสาธารณะย้ำๆ บ่อยๆ นั้น มิใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจประโยคนั้นไปในทางเดียวกันทั้งหมด หลายคนแทนที่จะเข้าใจตามที่ต้องการสื่อให้ฟัง กลับจะกลายเป็นเข้าใจแบบอุปมาอุปมัยไปจนเกินเลย โดยมิได้สนใจฟังคำเตือนเรื่องการ์ดอย่าตก จนเป็นความเชื่อฝังใจ มั่นใจ และนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยอัตโนมัติตามความคุ้นชิน
เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและพฤติกรรมศาสตร์ ที่อธิบายได้ถึงพฤติกรรมของคนเราว่า อิทธิพลของอารมณ์ ความคุ้นชิน และสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมถึงการประชาสัมพันธ์นั้น จะส่งผลต่อการตัดสินใจและพฤติกรรมของคนมากถึงร้อยละ 80 ในขณะที่ความรู้ ตรรกะเหตุผล จะมีผลต่อการตัดสินใจและพฤติกรรมประจำวันเพียงร้อยละ 20
นี่คือสิ่งที่รัฐพึงระวังให้ดี ในช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ปลดล็อคเป็นระยะ และอาจกำลังเสี่ยงขึ้นเรื่อยๆ “ไม่ประมาท…การ์ดอย่าตก” คือสิ่งที่ต้องช่วยกันทำอย่างพร้อมเพรียง เราเห็นแล้วว่า เผลอเมื่อไหร่ ก็เป็นต้องเห็นการแอบละเลยกันจนต้องเสียวสันหลังวาบ ไม่ว่าจะที่ชายหาด หรือแม้แต่ปาร์ตี้แฟนคลับดาราที่ห้างก็ตาม
วันนี้รัฐประกาศว่ามี 8 คน มาจากต่างประเทศ สิ่งที่ทีมศบค.ควรทำตามที่แนะนำข้างต้นคือ แทนที่จะพรรณนาสถานการณ์ตามปกติ ก็ควรจะต้องนำมาวิเคราะห์ต่อ สองคนที่เคยตรวจพบติดเชื้อในต่างประเทศ จนต่อมาตรวจไม่พบเชื้อ ก่อนเดินทาง แล้วพอเดินทางกลับมาไทย ตรวจพบเชื้อนั้น ให้บทเรียนและข้อควรระวังอย่างไรบ้างกับทั้งประชาชน รวมถึงรัฐและหน่วยงานนโยบาย
ถ้าเราตามข่าว จะเห็นแนวคิดการเสนอแบบ Green Belt policy คือทำสัญญากันระหว่างประเทศที่คิดว่าโรคระบาดคุมได้ดีแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดการท่องเที่ยวและลงทุนธุรกิจระหว่างกัน โดยอาจให้ประเทศต้นทางตรวจสถานะสุขภาพและรับรองให้เดินทางได้ โดยไม่ต้องถูกข้อจำกัดต่างๆ ในประเทศที่กำลังจะเดินทางไป
สิ่งที่ควรเตือนกันคือ โรค COVID-19 นี้เป็นโรคใหม่ที่เรายังไม่รู้จักมันดีนัก ที่แน่ๆ คือมันรุนแรงร้ายกาจจนทำให้คนตายไปกว่าสี่แสนคนทั่วโลก ติดไปกว่าหกล้านคนแล้ว นโยบายสาธารณะใดๆ ที่เรากำลังคิดวางแผน และจะผลักดันให้เกิดขึ้น ต่อจากนี้นั้น จึงควรคำนึงถึงความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศให้จงหนัก และควรทำทุกทางที่จะ maximize safety โดยดำเนินกิจการไปได้พอหอมปากหอมคอ
มิใช่มุ่งหน้า maximize profits แต่ compromise safety ให้ปลอดภัยแบบพอหอมปากหอมคอ
เพราะหากแจ็คพอตขึ้นมา แม้จะได้มาส่วนหนึ่ง แต่อาจเสียอีกนับไม่ถ้วนครับ ด้วยรักต่อทุกคน
ที่มา : เฟซบุ๊กThira Woratanarat