หลังจากที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้หน่วยงานราชการหลายส่วนต้องปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงาน และปรับรูปแบบการบริการให้ตอบโจทย์ วิถีชีวิตใหม่ New Normal สำหรับกรมการขนส่งทางบก ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ราชการ ที่ต้องมีประชาชนมาจำนวนมาก เพราะต้องต่อใบขับขี่ รวมทั้งต้องติดต่อกับงานที่เกี่ยวข้องกับรถต่าง ๆ
แน่นอนว่าหลายท่านคงยังมีข้อสงสัยว่า กรมการขนส่งทางบก จะเปิดให้บริการเมื่อไหร่ จองคิวอะไร แล้วเปลี่ยนเวลา รูปแบบการบริการอย่างไรบ้าง วันนี้เราก็มีคำตอบมาฝาก
โดยล่าสุดทางด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้ประกาศแจ้งให้สำนักงานขนส่งทุกแห่งในประเทศ กลับมาเปิดให้บริการด้านใบอนุญาตขับรถและผู้ประจำรถ หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพิจารณาผ่อนปรนประเภทของกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับประชาชนในระยะที่ 3 เพิ่มขึ้นแล้ว ซึ่งจะมีการปรับรูปแบบการดำเนินการเป็นแบบ New Normal ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เบื้องต้นได้มีการประเมินกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อจัดกลุ่มเปิดให้บริการ ดังนี้
ต่อใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ เปิดให้บริการ วันไหน ?
1. ช่วงแรก เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป เฉพาะกระบวนงานที่ไม่มีการอบรมที่สำนักงาน
2. ช่วงที่ 2 เปิดให้บริการทุกกระบวนงาน ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
หากต้องจองคิวต่อใบขับขี่ ทำยังไง ?
โดยจะมีการให้สิทธิแก่ประชาชนที่จองคิวผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ไว้ก่อนหน้านี้ จะได้สิทธิในการดำเนินการก่อน แต่จะมีการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละช่วงเวลา เพื่อบริหารจัดการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ซึ่งผู้ที่จองคิวไว้แล้วสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่เว็บไซต์ gecc.dlt.go.th/checkbooking/ ได้ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน เวลา 09.00 น. จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน นี้ หากผู้จองคิวไม่พบข้อมูลหรือไม่สะดวกตามวัน เวลาที่นัดหมายเข้ารับบริการ สามารถดำเนินการจองคิวใหม่ตามวัน เวลาที่สะดวก
วันที่ 8 มิถุนายนนี้ เปิดให้บริการในส่วนไหนบ้าง ?
ช่วงแรก : เปิดให้บริการในวันที่ 8 มิถุนายน เป็นต้นไป ประกอบด้วย กระบวนงานที่ไม่มีการอบรมที่สำนักงาน ได้แก่
1. การขอใบแทน กรณีใบอนุญาตขับรถ ใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถ และบัตรประจำตัวผู้ขับรถ ชำรุดหรือสูญหาย
2. การขอแก้ไขรายการในใบอนุญาตขับรถ และใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถ
3. การขอรับใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ
4. การขอหนังสือรับรองใบอนุญาตขับรถ และใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถ เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
5. ผู้ที่มีหนังสือรับรองจากโรงเรียนการขนส่ง หรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งฯ ให้การรับรอง และสถาบันการศึกษาที่ทำ MOU กับกรมการขนส่งทางบก
6. การดำเนินการต่อเนื่อง สำหรับการขอรับและต่อใบอนุญาตขับรถสาธารณะ และใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ประเภท ท. ที่ผ่านการอบรมทดสอบแล้วก่อนหน้านี้ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งผลตรวจสอบไม่พบประวัติอาชญากรรม
7. การขอคัดและรับรองสำเนาใบอนุญาตขับรถ และใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถ
8. การขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นนายตรวจ ผู้เก็บค่าโดยสาร และผู้บริการ
9. การเปลี่ยนประเภท จากใบอนุญาตขับรถชั่วคราว เป็นส่วนบุคคล เฉพาะใบอนุญาตที่หมดอายุไม่เกิน 1 ปี
10. การดำเนินการต่อเนื่อง สำหรับการขอรับใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต ที่ผ่านการอบรมแล้ว แต่ไม่ผ่านข้อเขียนหรือการทดสอบขับรถ อยู่ระหว่างการสอบแก้ตัวใหม่ ในช่วงที่มีการงดดำเนินการก่อนหน้านี้
11. การต่ออายุใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ล่วงหน้า 90 วัน หรือหมดอายุไม่เกิน 1 ปี ที่อบรมผ่านระบบ e-Learning ของกรมการขนส่งฯ เรียบร้อยแล้ว
วันที่ 22 มิถุนายน เปิดให้บริการส่วนไหนบ้าง ?
ช่วงที่ 2 : เปิดให้บริการทุกกระบวนงาน ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน เป็นต้นไป สำหรับคนที่จองคิวผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการเปิดเพิ่มเติมสำหรับกิจกรรมที่ต้องมีการอบรมที่สำนักงาน เช่น การขอรับใบอนุญาตขับรถใหม่ หรือผู้ติดปัญหาไม่สามารถอบรมผ่านระบบ e-Learning
รวมถึงเปิดการเรียน การสอน หรือการทดสอบ ของโรงเรียนสอนขับรถ ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก หรือสถาบันการศึกษาที่ MOU กับกรมการขนส่งทางบก
สำหรับผู้ที่ไม่เคยเข้าระบบจองคิวมาก่อน ให้เริ่มจองคิวได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ผ่านทางแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ gecc.dlt.go.th ของกรมการขนส่งทางบก
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกได้มีมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้ที่ใบอนุญาตขับรถหมดอายุ ในช่วงกรมการขนส่งฯ งดให้บริการ ดังนี้
1. ยกเว้นการทดสอบข้อเขียน สำหรับผู้ที่ใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ หมดอายุเกิน 1 ปี ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 30 กันยายน 2563
2. ยกเว้นการทดสอบขับรถ สำหรับผู้ที่ใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ หมดอายุเกิน 3 ปี ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 30 กันยายน 2563
3. ยกเว้นการทดสอบขับรถ สำหรับผู้ที่ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก หมดอายุเกิน 3 ปี ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 30 กันยายน 2563
อย่างไรก็ตามต้องเตรียมเอกสารประกอบคำขอรับหรือต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือผู้ประจำรถมาด้วย เช่น
– ใบรับรองแพทย์
– หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ
– คำขอที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
– ผลผ่านการอบรมผ่านระบบ e-Learning ที่หมดอายุในระหว่างที่กรมการขนส่งฯ งดให้ดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถ
กรมการขนส่งฯ จะอนุโลมให้ใช้ประกอบการดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถ ได้ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างภาระส่งผลกระทบต่อประชาชน