จากที่เมื่อวันที่ 2มิ.ย.63 เฟซบุ๊ก ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้าและอดีตเลขาฯพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อความถึงการบรรยายของนายปิยบุตร ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจและพิจารณาถึงการปลุกระดมปลุกเร้าประชาชน???
รำลึก 59 ปี ครูครอง จันดาวงศ์ นักสู้เพื่อประชาธิปไตย บรรยายพิเศษ “การต่อต้านขัดขืนและการปฏิวัติ”
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า บรรยายออนไลน์หัวข้อ “การต่อต้านขัดขืนและการปฏิวัติ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ รำลึก 59 ปี ครูครอง จันดาวงศ์” จัดโดย กลุ่มรัฐศาสตร์ราษฎร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และ คณะก้าวหน้า สกลนคร – Progressive Movement Sakonnakhon เพื่อรำลึกการจากไปของครูครอง จันดาวงศ์ นักสู้ต่อเพื่อประชาธิปไตย ผู้กล้าท้าทายต่อเผด็จการอย่างไม่เกรงกลัวต่อภัยใดๆ ณ ศูนย์การเรียนรู้ครูครอง จันดาวงศ์ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
ภายในงานมีการบรรเลงบทเพลงปฏิวัติ อ่านบทกวีเพื่อการเปลี่ยนแปลง และพิธีสดุสดี ครูครอง จันดาวงศ์ วีรบุรุษสว่างแดนดิน โดยได้รับเกียรติจาก ลุงวิทิต จันดาวงศ์ บุตรชายคนโตของ ครูครอง จันดาวงศ์ ร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย ลุงวิทิตเล่าเรื่องประวัติชีวิตการต่อสู้ของนักสู้เพื่อประชาธิปไตยและนักปฏิวัติผู้ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจเผด็จการอย่าง ครูครอง จันดาวงศ์ และกล่าวให้กำลังใจเยาวชนคนหนุ่มสาวให้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไปจนกว่าประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
สำหรับการบรรยาย “การต่อต้านขัดขืนและการปฏิวัติ” ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวบางช่วงว่า เมื่อพูดถึงการเมืองเรามักจะพูดถึงการเมืองในประเด็นปัญหาว่าใครครองอำนาจ ? ใครใช้อำนาจ ? และรักษาอำนาจอย่างไร ? แต่ “การเมือง” ยังเชื่อมโยงกับเรื่อง “ความยุติธรรม” ด้วยซึ่งให้ความสำคัญกับอำนาจที่เป็นธรรม และจะทำอย่างไรให้อำนาจนั้นเป็นธรรมด้วย เราต้องทำให้ความยุติธรรมเข้าไปเชื่อมโยงกับอำนาจ เพื่อเอาอำนาจเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นธรรม ความยุติธรรมต้องไปเชื่อมโยงกับอำนาจก็เพื่อให้อำนาจนั้นเป็นธรรม เอาอำนาจทำให้ความเป็นธรรมได้เกิดขึ้นจริงได้ในสังคม
ในขณะเดียวกันความยุติธรรมก็เข้าไปขัดแย้งกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ก่อน หากผู้ปกครองที่ครองอำนาจอยู่นั้นใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกดขี่เข่นฆ่า ข่มเหงรังแกประชาชน เมื่อนั้นความยุติธรรมก็จะขัดแย้งกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ก่อนหน้านั้น (Contradiction) และต่อสู้ช่วงชิงเพื่อสถาปนาอำนาจใหม่ที่เป็นธรรม ลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องปกติในสังคมการเมืองที่จะเกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน และจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ
ผู้ปกครองมักใช้กลไกรัฐ เช่น กฎหมาย ศาล ทหาร คุก ตำรวจ และใช้กลไกทางอุดมการณ์ผ่านความเชื่อ ผ่านศาสนา ผ่านโรงเรียน หรือสื่อมวลชน เข้าไปจัดการเพื่อปราบปรามและครอบงำทำให้คนสยบยอมต่ออำนาจ และไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่กล้ารุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องความเป็นธรรม ทำให้คนไม่รับรู้ไม่สนใจความเป็นไปหรือเห็นปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น แต่กลับเลือกที่จะเงียบและอดทนอยู่กับสังคมแบบนี้ต่อไป เพื่อความสุขสบายและความอยู่รอด
การจะทำให้คนในสังคมตื่นตัวลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง ปิยบุตรนำอุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ หรือ Allegory of the cave ของ Plato ซึ่งตีความใหม่โดยนักปรัชญาเมธีชาวฝรั่งเศส อแลง บาดิยู (Alain Badiou) เขาอธิบายว่า คนที่อยู่ในถ้ำทั้งชีวิตเห็นเพียงเงาจากกองไฟและเชื่อว่านี่คือความจริงสำหรับพวกเขา เมื่อวันหนึ่งที่เขาออกจากถ้ำแล้วพบว่าโลกที่เขาเห็นมาทั้งชีวิตนั้นเป็นเพียงเงาสะท้อนจากกองไฟเท่านั้น
โลกข้างนอกต่างหากคือความจริง เราจะกลับเข้าไปในถ้ำหรือไม่ ? หรือจะอยู่นอกถ้ำกับชีวิตสุขสบายกว่าเดิม บาดิยูเสนอให้เรากลับเข้าไปในถ้ำอีกครั้ง เพราะการกลับเข้าไปในถ้ำคือการยืนยันความเป็นไปได้ใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า
ปิยบุตร ยังกล่าวว่า รัฐหรือผู้ปกครองเป็นผู้ผูกขาดและทำลายความเป็นไปได้และมักจะบอกว่าสิ่งที่เป็นอยู่เป็นเพียงความเป็นไปได้เดียวเท่านั้น ไม่มีความเป็นไปได้แบบอื่น เช่น เอาทหารออกจากการเมืองไม่ได้ เพราะทหารคือผู้รักษาความสงบเรียบร้อย ยกเลิกเกณฑ์แบบบังคับเป็นไปไม่ได้ เพราะจะขาดแคลนกำลังพล แก้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นไปไม่ได้ รัฐสวสัดิการเป็นไปไม่ได้ นี่คือสิ่งที่รัฐหรือผู้ปกครองกำหนดความเป็นไปได้ให้เราเห็นได้เท่านี้ และทำให้เราเชื่อว่ามันเป็นได้แค่นี้
อแลง บาดิยู เสนอข้อความคิดเรื่อง “Evénement” หรือ Event ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า “เหตุการณ์” ว่าคือ บางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ความเป็นไปได้บังเกิดขึ้น ความเป็นไปได้นี้คือความเป็นไปได้ที่เราไม่เคยมองเห็นมันมาก่อน มันเป็นความเป็นไปได้ที่เราไม่เคยคาดหมายมันมาก่อน เป็นความเป็นไปได้ที่ดำรงอยู่ก่อนแล้ว แต่เราอาจจะละเลยหลงลืมมัน มองไม่เห็นมัน
“Evénement” หรือ Event จึงเป็นการทลายการผูกขาดการกำหนดความเป็นไปได้ของรัฐหรือผู้ปกครอง และเปิดพรหมแดนความเป็นไปได้ใหม่ๆ ปลุกเร้าให้มนุษย์จินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า ความเป็นไปได้เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น ความเป็นไปได้ต้องอาศัยการทำงานการจัดตั้งการรณรงค์เชื่อมโยงทางความคิดต่างๆ และต้องมีความคิดหรือ Idea กำกับอยู่เพื่อให้ความเป็นไปได้เกิดขึ้นจริง
เมื่ออำนาจที่เป็นอยู่นั้นไม่ชอบธรรม เราจึงต่อต้านขัดขืน สิ่งที่เป็นอยู่ทำให้ผู้คนเกิดความคับแค้นใจ แต่การต่อต้านขัดขืนอาจไม่เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าได้ เมื่อสิ่งที่เป็นอยู่ไม่ยุติธรรม เราต้องระเบิดความโกรธแค้นเข้าไปทำลายมันพร้อมๆ กับนำความหวังไปสรรสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นได้ นี่คือการปฏิวัติ หรือ Revolution
นอกจากนี้ ปิยบุตร ยังทิ้งท้ายการบรรยายว่าประวัติการต่อสู้และวาทะอันหาญกล้าของ ครูครอง จันดาวงศ์ ที่เปล่งออกมาก่อนถูกประหารที่สว่างแดนดินที่ว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” แสดงให้เห็นถึงการเป็นบุคคลที่ต่อต้านขัดขืนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม และเป็นคนที่เชื่อมั่นในความเป็นไปได้ต้องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมใหม่ที่ดีกว่าจนวินาทีสุดท้ายของชีวิตโดยไม่เกรงกลัวต่อภัยใดๆ
ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามท้าทายต่ออำนาจทุกชนิดที่ดำรงอยู่ด้วยคำถามที่ว่า “มีไว้ทำไม” นี่เป็นคำถามแห่งยุคสมัยคือการตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่และถามว่าสิ่งที่เป็นอยู่มีไว้ทำไม หากตอบได้ก็ดำรงอยู่ต่อไป หากตอบไม่ได้มันก็จะนำพาไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ นั่นคือการเปลี่ยนแปลง
เราอาจจะออกจากถ้ำด้วยความเจ็บปวดและยากลำบากจนได้ไปเห็นความจริง เมื่อได้เห็นความจริงแล้ว ณ วันนี้ถึงเวลาที่ต้องกลับไปยังถ้ำแห่งนั้นที่เราเคยอยู่ เพื่อที่จะปลุกคนที่อยู่ในถ้ำนั้นให้ออกมาเห็นความจริงที่แท้จริงด้วยกัน
นี่คือห้วงเวลาประวัติศาสตร์ของพวกเราทุกคนกุมความโกรธแค้นออกไปทำลายสิ่งที่ไม่ยุติธรรม และสรรสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมขึ้นมาด้วยความหวังและความเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ โลกใหม่จะต้องเป็นของเรา
ที่มา : เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล