บทเรียนคดี “เบญจา หลุยเจริญ”ผลกรรมของผู้ร่วมกันช่วยเหลือ”ทักษิณ ชินวัตร”
อ.ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
….วันนี้ที่ 26 ธันวาคม 2562 เวลา 10:30 นาฬิกาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางเบญจา หลุยเจริญ อดีต อดีตรองอธิบกรมสรรพากร และ รมช.คลัง สมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ 1 นางสาวจำรัส แหยมสร้อยทอง ที่ 2 นางสาวโมรีรัตน์ บุญญาศิริ ที่ 3 นายกริช วิปุลานุสาสน์และ นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ที่ 5 จำเลย ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
…..กรณีพวกจำเลยได้ช่วยเหลือนายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพินทองทา ชินวัตร เลี่ยงเสียภาษีอากรหรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย ในการซื้อหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ซึ่งถือเป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท
…..ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 3 ปี จำเลยที่ 5 จำคุก 2 ปี
…..ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
…..จำเลยทั้งห้าฎีกา
…..ศาลฏีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในการ ตอบข้อหารือประเมินภาษี การซื้อขายหุ้น ชินคอร์ปฯ ระหว่างแอมเพิลริช กับนายพานทองแท้ และ นางสาวพิณทองทา ให้จำเลยที่ 5 รับทราบนั้นแอบแฝงเจตนาที่จะช่วยให้นายพานทองแท้ และ นางสาวพิณทองทาไม่ต้องแจ้งรายได้ที่เป็นส่วนต่างการซื้อขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่าทุน ซึ่งมีมูลค่า 15,883,900,000 บาท ซึ่งแนวการตอบข้อหารือนั้นก็ไม่ตรงกับข้อหารือที่กรมสรรพากร เคยวินิจฉัยเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นบางประการไว้
…..ทั้งยังฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งถามข้อหารือมายังกรมสรรพากรก็เป็นการวางแผนที่เตรียมไว้ในการขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปฯ ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยวินิจฉัยว่า เจ้าของหุ้นที่แท้จริง คือนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ระดับสูง เคยวินิจฉัย ข้อกฎหมายต่างๆมา และถือเป็นมันสมองของกรมสรรพากร
…..ขณะที่จำเลยที่ 5 ก็เคยทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีและตรวจสอบการประเมินภาษี จึงย่อมรู้ดีว่าการมีหนังสือถามข้อหารือดังกล่าว นายพานทองแท้และ นางสาวพิณทองทาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ในการยื่นแบบรายได้ประเมินภาษีได้ และหากมีคดีความเกิดขึ้น ทั้งอาญาหรือแพ่งก็สามารถนำหนังสือตอบข้อหารือนี้ไปใช้อ้างเพื่อเป็นประโยชน์ได้ โดยที่ข้อสงสัยในการประเมินภาษีลักษณะดังกล่าวยังไม่เคยมีแนวคำวินิจฉัย
…..ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษว่าจำเลยทั้งกระทำความผิดนั้น ศาลฎีกา เห็นพ้องด้วยในผล
…..ส่วนที่จำเลยทั้งห้า ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 5 คน ตามที่วินิจฉัยมาถือว่ามีพฤติการณ์ร้ายแรง จึงไม่สมควร ให้รอการลงโทษ แต่เมื่อพิเคราะห์จากคำให้การของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แล้ว เห็นว่า ยังมีประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้คนละ 1 ใน 3
…..พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 จำคุก 2 ปี
…..นี่คือผลกรรมของผู้ร่วมกันช่วยเหลือนายทักษิณ ชินวัตร และบุตร จนเป็นผลให้ต้องเข้าไปรับผลกรรมอยู่ในเรือนจำ ในขณะที่นายทักษิณและบุตรดำรงชีวิตอยู่อย่างสุขสบายไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆ เลย