จากที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านฎีกา คดี ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร , น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย
น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตผอ.สำนักกฎหมาย , นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และน.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157
กรณีพวกจำเลย ได้ช่วยเหลือนายพานทองแท้ หรือโอ๊ค และน.ส.พินทองทา ชินวัตร หรือ เอม บุตรชายและบุตรสาวของนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เลี่ยงเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย ในการซื้อหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท
ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ซึ่งถือเป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท
คดีนี้ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขณะที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนให้จำคุกจำเลยที่ 1- 4 คนละ 3 ปี ต่อมาจำเลยยื่นฎีกาสู้คดี
ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการตอบข้อหารือประเมินภาษี การซื้อขายหุ้น ชินคอร์ปฯ ระหว่างแอมเพิลลิช กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ให้กับจำเลยที่ 5 รับทราบนั้นแอบแฝงเจตนา ที่จะช่วยให้ นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ไม่ต้องแจ้งรายได้ที่เป็นส่วนต่างการซื้อขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่าทุน
ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 5 คน มีพฤติการณ์ร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษ แต่คำให้การยังมีประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงเหลือ ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุก จำเลยที่ 1-4 คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 คงจำคุกไว้ 2 ปี
ประเทศไทยมีนักการเมือง กอบโกยผลประโยชน์ ทุจริตที่ถูกดำเนินคดีทุจริตในหลายคดี หรือ กระทั่งบางคดีศาลก็พิพากษาสั่งจำคุกไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ทำงานรับใช้นายที่ต้องประสบชะตามกรรมติดคุก?!?
คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว บางคนถูกศาลตัดสินให้จำคุกหลายสิบปี เช่น นายภูมิ 36 ปี นายบุญทรง 42ปี(ศาลเพิ่มเป็น 48 ปีหลังขออุทธรณ์) นายมนัส 40ปี นางทิฆัมพร 32 ปี นายอัครพงศ์ 24 ปี นายอภิชาติ 48 ปี ขณะน.ส.ยิ่งลักษณ์ หนีเอาตัวรอดไปเสวยสุข???
ไม่เพียงเท่านั้นยังพบอีกหลายกรณีอย่าง ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ในคดีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ขณะเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดฯ มหาดไทย ได้ใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ในการพิจารณาอุทธรณ์ และ สั่งเพิกถอนคำสั่ง ของอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีเจตนาช่วยเหลือ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด , บริษัท กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด
โดยในช่วงปี 2545 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังนายทักษิณ ชินวัตร ได้ซื้อสนามกอล์ฟอัลไพน์ ต่อจากนายเสนาะ เทียนทอง ซึ่งหลังจากนั้น ก็พบว่าจำเลยได้รับดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยจนเกษียณราชการ และยังได้รับตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ในยุครัฐบาลนายทักษิณ รวมทั้งการขึ้นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ซึ่งที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลย 2 ปี โดยไม่รอลงอาญานั้น เหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน
และเมื่อไม่นานมานี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้วินิจฉัยคดีออกหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ มีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นจำเลย
องค์คณะฯ มีมติเสียงข้างมาก พิพากษาให้จำคุกจำเลย 2 ปี โดยโทษจำคุกนั้นรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ให้มีโทษปรับในความผิดนี้ด้วยเป็นเงิน จำนวน 100,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีนายพิชิต ชื่นบาน ขณะเป็นหัวหน้าทีมทนายความของ ทักษิณ ชินวัตร กรณีหิ้วถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาทไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาลระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯของศาลฎีกาฯ ศาลมีคำสั่งจำคุกพิชิต 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล
คนสุดท้ายที่จะหยิบมาเป็นตัวอย่างสำหรับชีวิตข้าราชการที่ทำงานรับใช้นักการเมือง จากคดีศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
กรณีกล่าวหา “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ส่อทุจริต ในโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง ที่ก่อสร้างไม่เสร็จทันตามกำหนดเวลา เมื่อปี 2556
ยุค รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายธาริต ได้เป็นอธิบดีดีเอสไอ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2552 ยาวนาน 5 ปี
มาถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายธาริต รื้อคดีสลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 ให้นายอภิสิทธิ์ เละนายสุเทพ ตกเป็นจำเลย
แต่เมื่อคสช. เข้ามานายธาริตถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ หลัง ป.ป.ช.มีมติว่านายธาริต ร่ำรวยผิดปกติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ รวมมูลค่า 346.65 ล้าน
2 มี.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 2 ปี กรณีย้าย พ.อ.ปิยะวัฒน์ กิ่งเกตุ อดีตผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยมิชอบ แต่ลดโทษเป็นรอลงอาญา 2 ปี
นี่คือชะตากรรมของบรรดาผู้รับใช้ที่สุดท้ายต้องประสบเคราะห์กรรมติดคุกติดตะรางแทนนักการเมืองบางคน ทั้งหญิงและชาย ที่ปล่อยให้ลูกน้องรับโทษแทนแต่ตัวเอง-พรรคพวกลูกหลานอยู่อย่างสุขสบาย!?!
#ปอกเปลือก#ปอกให้เห็นความจริง