ขอน้อมกราบถวายความอาลัย หลวงพ่อสุดใจ ทันตมโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด สู่แดนพระนิพพาน
หลวงพ่อสุดใจ ทันตมโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด ละสังขารเมื่อศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2563 เวลา 14.10 น. ด้วยเหตุอัคคีภัย ณ กุฏิวัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี สิริรวมอายุ 75 ปี พรรษา 74
ล่าสุด 20 พ.ค.63 มีควมเคลื่อนไหวจากแฟนเพจ THE TRUTH ได้เผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุดังกล่าว ระบุว่า.. หลวงพ่อสุดใจละสังขาร ท่านแสดงให้เห็นธรรมว่านิพพานมีจริง #thetruth
จงเปล่งวาจาสาธุการเถิด สิ่งที่เกิดขึ้นมิใช่โศกนาฏกรรม แต่คือการแสดงธรรมครั้งสุดท้ายว่านิพพานมีจริงด้วยวาระสุดท้ายของตัวท่านเอง
ถามกันก่อนว่าเมื่อรู้ตัวว่าต้องตายแน่ๆ เราเป็นแบบนี้หรือไม่
“…ตอนที่ความตายเคลื่อนเข้ามาหาเรา ตรงนั้นแหละนาทีทอง สามารถเปิดใจของเราให้เห็นแจ้งในความจริง ได้เข้าใจโมงยามแห่งสัจธรรม พระอรหันต์หลายท่านบรรลุธรรม พ้นทุกข์ตอนที่กำลังจะตาย บางคนป่วยหนัก มีทุกขเวทนา บางท่านถูกไฟคลอก บางท่านเห็นสัจธรรมตอนที่เอามีดปาดคอตัวเอง ตอนนั้นเองความตายได้เผยสัจธรรม ในยามที่เรามีสติเปิดใจรับรู้สัจธรรม โอกาสที่จะเกิดปัญญาเพื่อบรรลุธรรมมีสูงมาก คนที่เข้าใจเรื่องความตายจะเห็นโอกาสตรงนี้…” (พระไพศาล วิสาโล)
หรือเป็นแบบนี้”…มือเท้าเย็น เขียวซีด ผิวเป็นจ้ำ ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเข้ม เนื่องจากการไหลเวียนของโลหิตลดลง ส่งผลให้ความดันเลือดตก ชีพจรเต้นเร็ว หายใจผิดปกติ อาจหายใจตื้นๆ หยุดหายใจเป็นช่วงๆ หรือหายใจเร็วกระชั้น เนื่องจากภาวะความเป็นกรดด่างในเลือดผิดปกติ (สยมพร รัตนดิลก ณ ภูเก็ต พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ซึ่งดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย)
นั่นไม่ต้องพูดถึงวินาทีที่ต้องเผชิญหน้ากับความตายในภาวะคับขับ ไม่คาดคิด และรู้ตัวว่าต้องตายแน่ๆ คนส่วนมากจะดิ้นรนหาทางเอาตัวรอด หรือ กระเสือกกระสนทุรนทุราย ตื่นกลัว เจ็บปวด ทรมาณจนกระทั่งเสียชีวิต
ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อหลวงพ่อสุดใจ ทันตมโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด ที่ท่านมรณภาพจากเหตุอัคคีภัย ณ กุฏิวัดป่าบ้านตาด เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา
โดยผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า “…ไปถึงกุฏิไฟก็ไหม้ด้านหน้า มีทั้งไฟและควันมองอะไรไม่เห็น พอรู้ว่าเจ้าอาวาสยังอยู่ในกุฏิ พระเณรก็เร่งเอาน้ำสาดดับไฟ แล้วบุกเข้าไปช่วยหลายครั้ง ครั้งแรกพบว่าท่านนั่งขัดสมาธิ ยังมีสติหันหน้าไปหน้าต่าง และก้มฟุบลงไปกับที่นอน แต่ไฟแรงมากช่วยท่านออกไม่ได้ ครั้งที่สองพบท่านนั่งอยู่ท่าเดิม หน้าผากเริ่มรอยดำแล้ว เราก็ยังช่วยท่านไม่ได้ ครั้งที่สาม รถดับเพลิงมา ฉีดน้ำจนไฟเบาลงมาก พบท่านตัวเอนลงมาแล้ว แต่พาออกด้านหน้าไม่ได้ ต้องงัดลูกกรงออกทางหน้าต่าง…” (พระนรา กะตะระโข พระลูกวัด)
ลองคิดถึงสภาพคนทั่วไปเมื่อเจอสถานการณ์แบบเดียวกันจะเป็นอย่างไร ไร้สติ ตกใจกลัวสุดขีด สัญชาติญาณเอาตัวรอด ดิ้นรน ทุรนทุรายหาทางออก กรีดร้องขอความช่วยเหลือ หวาดผวา กลัวความตายที่จะมาเยือน เจ็บปวด ทรมานจากความร้อนของเปลวไฟ ก่อนที่จะหมดสติไปเพราะควันไฟและเสียชีวิตจากการขาดอ็อกซิเจน หรือกระทั่งเสียชีวิตเพราะเจ็บปวดมากที่สุดจากการถูกไฟครอกตาย
แต่หลวงพ่อสุดใจ มิได้เป็นเช่นนั้น ในยามที่ท่านรู้แน่ว่าวาระสุดท้ายของชีวิตกำลังมาเยือน สิ่งที่ท่านทำและทำจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายคือ การมีสติและตั้งมั่นอยู่ในสติ ดังที่พระลูกวัดเห็นว่า หลวงพ่อท่านนั่งอยู่ในท่าสมาธิ แม้ล้มฟุบลง(เพราะธรรมชาติของร่างกายที่ค่อยๆขาดอ็อกซิเจน) ท่านพยายามประคองสติให้นานที่สุด โดยกลับมานั่งอยู่ในท่าเดิม จนกระทั่งท่านหมดสติไปก่อนที่จะมีคนเข้ามาช่วยทำร่างท่านออกมา นำส่งโรงพยาบาล และมรณภาพในเวลาต่อมา
การมรณภาพของหลวงพ่อสุดใจ ไม่เพียงเป็น “ปริศนาธรรม” แห่งการละสังขารของเหล่าอริยสงฆ์เท่านั้น (“ปริศนาธรรม..การละสังขาร นั่งสมาธิของหลวงพ่อสุดใจ สู่แดนพระนิพพาน”. 23 พ.ค.2563) แต่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ประจักษ์ชัดถึงความจริงของจิต
ความจริงของจิตที่ได้ฝึกมาดีแล้ว กับ จิตที่มิได้ฝึก ความจริงของจิตที่ก้าวพ้นไปแล้ว กับ จิตแห่งปุถุชนที่ยังอยู่ในวังวนโลภ โกรธ หลง
คนปกติจะกลัวความตาย นั่นไม่ต้องพูดถึงความตายอย่างเจ็บปวดและทรมาน แต่สำหรับผู้ที่ได้ฝึกจิตมาแล้ว ท่านถือว่าความตายคือ “นาทีทองของชีวิต” (พุทธทาสภิกขุ) และกล่าวย้ำคำของพระไพศาลอีกครั้งว่า “…(เมื่อ)ความตายเคลื่อนเข้ามาหาเรา ตรงนั้นแหละนาทีทอง สามารถเปิดใจของเราให้เห็นแจ้งในความจริง ได้เข้าใจโมงยามแห่งสัจธรรม…”
ในพระไตรปิฏก พระพุทธเจ้าสรรเสริญ มรณานุสติ อยู่เหนือการมีสติทั้งปวง และ บอกกับพระอานนท์ว่า พระองค์ได้เจริญมรณานุสติอยู่ตลอดเวลา
กรณีหลวงพ่อคำเขียนเป็นอีกกรณีที่ชัดเจนในเรื่องนี้ หลวงพ่อคำเขียนท่านเป็นมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง เนื้อบวม จนปิดหลอดอาหาร ช่วงหลังเริ่มปิดหลอดลม ก็ประทังชีวิตได้ด้วยการเจาะคอ เพื่อช่วยหายใจ
เช้าวันหนึ่งท่านปลุกพระที่ดูแลเพราะหายใจได้ยากขึ้น ลูกศิษย์ก็ช่วยกันฉีดยา แต่ไม่สำเร็จ ระหว่างนั้นหลวงพ่อขอเข้าห้องน้ำ พอออกมา ท่านขอดินสอและกระดาษแล้วเขียนว่า “พวกเรา…ขอให้หลวงพ่อตาย” เพราะท่านรู้ว่าไม่มีประโยชน์ แล้วท่านก็พนมมือ ลูกศิษย์ก็นึกว่า ท่านขอบคุณ สักพักก็คอพับ หมดลม ลูกศิษย์มารู้ทีหลังว่า ท่านพนมมือลาตาย แน่นอนว่า เป็นคนธรรมดาที่หายใจไม่ออก ก็จะทุรนทุราย แต่ท่านนิ่งมาก เป็นตัวอย่างของคนที่ยอมรับความตาย ใช้ชีวิตฝึกฝนอบรมตนเองในเรื่องนี้ (พระไพศาล วิสาโล)
มรณานุสติ มีสติก่อนตาย พูดง่าย แต่เอาเข้าจริงๆมีใครที่ทำได้อย่างที่พูดหรืออย่างที่ตำราบอกไว้ เพราะการพูด บรรยาย เสวนาธรรม ก็ยังสื่อสารกันใน “สมมุติ” ทั้งภาษาและสถานการณ์ ไม่ใช่การเผชิญกับความจริง
ความจริงคือเมื่อเจอกับสถานการณ์จริงใครจะทำได้จริง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับหลวงพ่อสุดใจ แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดยิ่งกว่ากรณีของหลวงพ่อคำเขียน และในสถานการณ์เช่นนี้เองที่สิ่งที่ท่านทำโดยธรรมชาติแห่งจิตของท่าน คือการเผชิญหน้ากับสิ่งที่มนุษย์ส่วนใหญ่ต้องหวาดกลัว ด้วยความสงบ ตั้งมั่น เข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต โลก และจักรวาล ตามกฏแห่งไตรลักษณ์ และแน่นอนว่านั่นคือเรื่องเดียวกันกับผู้ที่สามารถละวางอัตตา ตัวตน ได้จนถึงที่สุดแล้ว ในเหตุการณ์ที่ต้องทุกข์และทรมานถึงที่สุด ท่านจึงมิได้ทุกข์เลยแม้แต่น้อย ท่านคือผู้ถึงนิพพาน ดับแล้วซึ่งกองทุกข์
จงเปล่งสาธุการเถิด สิ่งที่เราเห็นมิใช่ โศกนาฏกรรมของพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาทั้งชีวิต แต่นี่คือการแสดงให้เห็นว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นคือความจริง ไม่มีเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น
หลวงพ่อสุดใจท่านละสังขารในกองไฟนั้น ท่านแสดงให้เราเห็นธรรมว่า นิพพานนั้นมีจริง