เลิกโทษคนอื่น ทรัมป์หยุดขู่WHOได้แล้ว USAเอาเวลาไปทบทวนตัวเอง

0

ทรัมป์ เลิกขู่ WHO องค์กรของคนทั้งโลก ได้แล้ว! USA เอาเวลาไปทบทวนตัวเอง โดย รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชระเบียน และประธานยุทธศาสตร์วิจัย สถาบันทิศทางไทย

จากกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศระงับเงินอุดหนุนองค์การอนามัยโลก 1 สัปดาห์หลังจากผู้นำสหรัฐฯ วิจารณ์การทำงาน WHO ว่าเป็นองค์กรด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศที่ล้มเหลวในการรับมือกับการระบาดของCOVID-19  (CNN and NBC, 2020) โดยขู่จะดำเนินการระงับเงินช่วยเหลือองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นเงินอุดหนุดที่ดำเนินการผ่านคองเกรสและให้มีการปฏิรูปองค์กรภายใน 30 วัน (เดลินิวส์, May23,2020) มีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ถูกตั้งคำถามถึงการรับมือการระบาดของCOVID-19 ในประเทศที่ไม่เพียงพอและเพิกเฉยต่อคำเตือนจากคณะทำงานในทำเนียบขาวในการควบคุมการระบาดของCOVID-19

แต่ที่ผ่านมาผู้นำสหรัฐฯ หันมากล่าวโทษหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะองค์การอนามัยโลกและสื่อมวลชนแทน (VOA Thai, 2020) โดยเมื่อพิจารณาจำนวนเงินที่ประเทศสหรัฐอเมริกาให้เงินอุดหนุนองค์การอนามัยโลกราว 12,500-16,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ เช่น จีนที่ให้เงินอุดหนุนองค์การอนามัยโลกประมาณ 1,300 ล้านบาทต่อปี แต่ก็ได้บริจาคเพิ่มอีก เกือบ 1,000 ล้านบาทสำหรับเพื่อนำไปใช้ต่อสู้ COVID-19 และเสริมสร้างระบบสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนา โดยในภาพรวมจะเห็นว่าประเทศอืนๆนั้น ก็ได้ให้การสนับสนุนต่อWHO แม้จะน้อยกว่า ไม่เท่ากับสหรัฐฯก็ตาม

สำนักงานใหญ่ องค์การอนามัยโลก เจนีวา (สำนักข่าวไทย, 2020)
สำนักงานใหญ่ องค์การอนามัยโลก เจนีวา (สำนักข่าวไทย, 2020)

องค์การอนามัยโลก (อังกฤษ: World Health Organization ตัวย่อ WHO) เป็นทบวงการชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งรับผิดชอบการประสานงานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ก่อตั้งเมื่อ 7 เมษายน ค.ศ. 1948 (ตั้งมา 72  ปีแล้ว) โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีสำนักงานส่วนภูมิภาคตั้งอยู่อีกใน 6 เมือง ได้แก่บราซาวีล, วอชิงตัน ดี.ซี., ไคโร, โคเปนเฮเกน, นิวเดลี และ มะนิลา

เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ของ องค์การอนามัยโลก ที่สำคัญคือ

  • -อำนวยความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ตามความต้องการเมื่อได้ร้องขอมา
  • -จัดให้บริการด้านสุขภาพอนามัยแก่ประเทศต่างๆทั่วโลก
  • -ส่งเสริมและประสานงานด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระหว่างชาติเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพต่างๆ อันไม่อาจดำเนินไปได้โดยลำพังของแต่ละประเทศ
  • -ทำหน้าที่แก้ปัญหาโรคที่ยังไม่สามารถรักษาได้ เช่น ซาร์ส ไข้หวัดนก รวมถึงCOVID-19

การดำเนินการเกี่ยวกับCOVID-19 ของ WHO ก็ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เป็นศูนย์กลางการนำเสนอข้อมูล การแจ้งข่าวสารของทั้งโลกมาอย่างต่อเนื่อง

(WHO, May23,2020)

การทำงานของ WHO เป็นการทำงานให้กับคนทั้งโลก องค์กรระดับโลก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ จะมาข่มขู่ต่อองค์กรของคนทั้งโลกได้อย่างไร การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะมาโทษองค์กรของคนทั้งโลกได้อย่างไร ประเทศอื่นก็ไม่มีใครมาโทษ WHO แม้แต่ประเทศเดียว ควรหันกลับมามองตนเอง การจัดการของตนเองที่หลายประเทศเริ่มเห็นความผิดพลาดและไม่มีประเทศใดยกย่องหรือนำไปเป็นแบบอย่าง การโทษคนอื่นทั้งประเทศจีน ทั้ง WHO ควรจะหยุดได้แล้ว

ที่ผ่านมาการดำเนินการทางการแพทย์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ดำเนินการตามแนวนโยบายขององค์การอนามัยโลก การจัดการทางด้านข้อมูลในประเทศไทย เราก็มีผู้เชี่ยวชาญจาก WHO คือ Dr. Lowell A. Woodbury มาวางรากฐานไว้ที่ศิริราชมาเกือบ 60 ปีแล้วทำให้เกิดการพัฒนางานเวชระเบียน เวชสถิติ การให้รหัสโรคและหัตถการ ที่ประเทศไทยพัฒนาตามแนวทางของ WHO มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการพัฒนาเรื่องข้อมูลการแพทย์ การจัดการเรียนการสอนด้านนี้ก็เกิดมาจากความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญจาก  WHO ทำให้การพัฒนาด้านข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์ในประเทศไทยเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง

คุณูปการของ WHO ต่อประเทศต่างๆ ทางการแพทย์จึงมีมากมาย ประเทศที่มีความพร้อมก็จักต้องช่วยเหลือโลกนี้ด้วย เพราะประเทศยักษ์ใหญ่จะอยู่โดยไม่สนใจประเทศเล็กๆ อื่นเลย ก็เห็นแก่ตัวมากไป การที่ให้ความช่วยเหลือแล้วจะมากำหนดหรือบังคับให้ WHO เป็นไปตามที่ตนต้องการคงไม่สามารถทำได้

จึงขอเรียกร้องไปยังทุกคนให้ลุกขึ้นมาปกป้อง WHO ซึ่งเป็นองค์การของทุกประเทศ ทุกคนบนโลกใบนี้  ที่จะมาสู้กับ “ภัยพิบัติทางสุขภาพ” สร้างสุขภาพที่ดีให้กับทุกคน อย่าให้ใครมาขู่ กดดันต่อองค์กรนี้และทำตามอำเภอใจได้ต่อไป