เนาวรัตน์เห็นแย้งถอดศิลปินแห่งชาติ ชี้กระเทือนพระเกียรติยศ ทั้งถูกใช้เป็นเรื่องการเมือง?

0

จากที่มีระเบียบกระทรวงวัฒนธรรมให้ถอดถอนตำแหน่งศิลปินแห่งชาติได้ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน กระทั่งผู้เป็นศิลปินแห่งชาติเองต่างก็ออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้เพราะส่วนหนึ่งได้มีการลากโยงให้เป็นประเด็นทางการเมืองด้วย

ล่าสุดวันนี้(24พ.ค.63) พินิจ นิลรัตน์ นักเขียนและคอลัมนิสต์วรรณกรรมชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเปิดเผยถึงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความคิดเห็นที่น่าสนใจและชวนรับฟังอย่างยิ่งว่า

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เรื่อง # ศิลปินแห่งชาติ ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ขณะนี้ แม้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เปราะบาง และอาจโดนกล่าวหาว่าปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเอาได้ แต่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็กล้าแสดงความ #ไม่เห็นด้วย ด้วยมุมองอันเป็นหลักการที่น่ารับฟัง ดังนี้…

กรณีมีกฎใหม่เกี่ยวกับการให้อำนาจถอดถอนศิลปินแห่งชาติได้นั้น มีสื่อมวลชน (มติชน) ถามความเห็นมา ผมได้ให้ความเห็นด้วยวาจาไปแล้ว จึงขอแสดงความคิดเห็นยืนยันความ “ไม่เห็นด้วย” กับมาตรการนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

๑. เป็นเกียรติคุณที่มีพระราชวงศ์ทรงเป็นองค์พระราชทานโดยเฉพาะการถอดถอนภายหลังจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระองค์ท่านด้วยโดยปริยาย

๒. การกำหนดมาตรการถอดถอนหลังการประกาศยกย่องในทุกเกียรติคุณ เป็นการหลู่เกียรติตำแหน่งนั้นๆ เสียแต่ต้น สร้างความไม่แน่นอนมั่นคงให้กับตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งไม่เคยมีกติกาทำนองนี้กับการยกย่องเกียรติคุณใดๆ มาก่อน

๓. ความผิดพลาด บกพร่องของศิลปินแห่งชาติ หรือผู้ได้รับยกย่องเกียรติคุณใดๆ ย่อมถือเป็นกรณีส่วนตัวโดยเฉพาะ หาใช่หน่วยงานหรือสถาบันผู้มอบเกียรติคุณนั้นไม่ กล่าวคือเป็นความผิดต่อภายหลังซึ่งย่อมเป็นไปตามเฉพาะกรณีแห่งความผิดนั้นๆ เอง เช่น สังคมจะประณามเป็นส่วนตัว หรือ ตามกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดต่อการกระทำนั้นๆ

๔. มาตรการนี้จะถูกใช้เป็นประเด็นทางการเมืองนำมาอ้างโจมตีกันได้ ดังที่กำลังเป็นกระแสข่าวอยู่ในขณะนี้

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เสาร์ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าคือเมื่อวันที่ 23 พ.ค.63 สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ ก็โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงเรื่องราวดังกล่าวด้วยซึ่งระบุว่า “ศิลปินแห่งชาติ” มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง อันเนื่องมาจาก “การสังหารหมู่ประชาชน” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

ที่มา : เฟซบุ๊ก พินิจ นิลรัตน์