ทูตUSAออกบทความ! ชมไทยปลอดภัยเหมาะลงทุนหลังโควิด ยึดมั่นเสรีภาพ ระบบตุลาการ

0

จากที่วันนี้(24พ.ค.63) เว็บไซต์ สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความ ไทยเหมาะเป็นที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ มั่นคง และคุ้มค่าการลงทุน โดย เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี

ทั้งนี้บทความดังกล่าวของทูตสหรัฐ เป็นบทความขนาดค่อนข้างยาว ดังนั้นจึงขอสรุปเนื้อหาบางช่วงที่น่าสนใจมานำเสนอต่อดังนี้ โชคร้ายที่ต้นปี 2563 สำหรับบรรดาบริษัทระดับโลกที่ถูกถาโถมด้วยการล็อกดาวน์เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่จีนและลุกลามไปสู่การปิดหรือจำกัดการดำเนินกิจการของบริษัทในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก วิกฤตการณ์นี้เผยให้เห็นจุดอ่อนของห่วงโซ่อุปทานในบริษัทระดับโลกจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี วิกฤตการณ์มักกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในโลกธุรกิจ หลายกิจการในสหรัฐอเมริกา ไทย และทั่วโลกกำลังมองไปยังอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้น และวางแผนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจและกลับมาแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมหลังช่วงวิกฤตนี้ผ่านพ้นไป ส่วนสำคัญของกระบวนการดังกล่าวคือ บริษัทต่าง ๆ กำลังทบทวนการดำเนินธุรกิจ การลงทุน และการจัดการห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และมั่นคง รวมทั้งคุ้มทุนในเวลาเดียวกัน

ห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัย มีอยู่ในนานาประเทศที่เป็นมิตร และพันธมิตรซึ่งต่างยึดมั่นในความโปร่งใส โอกาสที่เป็นเอกเทศ และตลาดเสรีที่ปราศจากการครอบงำของรัฐ ห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อถือได้มีอยู่ในนานาประเทศที่สื่อมีเสรีภาพและความเข้มแข็ง พร้อมทั้งมีระบบศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ ซึ่งต่างยึดถือหลักนิติธรรมและหลักความศักดิ์สิทธิ์ของสัญญา และห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงมีอยู่ในนานาประเทศที่บริษัทต่าง ๆ ปลอดภัยจากการโจรกรรมทางไซเบอร์หรือการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา

ความยึดมั่นในเสรีภาพ หลักนิติธรรม และระบบตุลาการที่เป็นอิสระทำให้สหรัฐอเมริกามีบรรยากาศการลงทุนที่ดีและน่าสนใจ ซึ่งดึงดูดบริษัทจากทั่วโลก ทว่าบริษัทที่ต้องการเข้าถึงตลาดต่างประเทศให้มากขึ้นมีตัวเลือกที่เด่นชัดเพื่อขยายการลงทุนในภูมิภาค ทั้งนี้ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก บริษัทอเมริกันกำลังให้ความสนใจประเทศสมาชิกอาเซียนมากกว่าที่อื่น ๆ เนื่องด้วยตำแหน่งที่ตั้งของอาเซียนที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีความคุ้มทุน

โอกาสในอนาคตดูสดใสยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากอาเซียนจะกลายเป็นตลาดระดับภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมดมีอายุต่ำกว่า 30 ปี ใจกลางของอาเซียนคือประเทศไทย อันเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ตลอดจนเป็นพันธมิตรด้านสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย และเป็นพันธมิตรหลักนอกสนธิสัญญานาโตเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป

ในปีนี้นับเป็นวาระครบรอบ 187 ปีที่ราชอาณาจักรไทยลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ของสหรัฐฯ อันเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเราสองประเทศ ซึ่งงอกงามมาจนถึงทุกวันนี้ บริษัทอเมริกันหลายร้อยบริษัทได้ลงทุนในไทย โดยสร้างงานให้คนไทยหลายหมื่นคนและยังประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับทั้งสหรัฐฯ และไทย ธุรกิจของเราที่ชื่อคุ้นหูมีมากมาย ทั้งซิตี้แบงก์ เชฟรอน และฟอร์ด ซึ่งต่างก็ดำเนินการในไทยมาหลายทศวรรษและยังคงเชื่อมั่นว่าไทยเป็นที่ตั้งที่เหมาะสม

“เมื่อผมสอบถามบริษัทเหล่านี้ว่าเหตุใดจึงเลือกประเทศไทย พวกเขาต่างตอบว่า ลักษณะการผลิตในไทยมีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และมั่นคง ในขณะเดียวกันก็ยังมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ทั้งด้านต้นทุนที่ดิน ค่าแรง และค่าครองชีพ ตัวอย่างเช่น ค่าแรงเฉลี่ยรายเดือนสำหรับภาคการผลิตในไทยต่ำกว่าจีนมากกว่าร้อยละ 50 โดยอ้างอิงจากข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่”

นอกจากนี้ การเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจในไทยยังไม่ซับซ้อนอีกด้วย ในเดือนกุมภาพันธ์ U.S. News and World Report จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศที่เหมาะกับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดจากการสำรวจประจำปี 2563 โดยมีเกณฑ์การตัดสิน 5 ประการ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล ระเบียบราชการ ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ความเชื่อมโยง และการเข้าถึงเงินทุน

ไทยเป็นที่รู้จักดีในด้านคุณภาพของระบบการสาธารณสุข ซึ่งรับมือกับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ได้อย่างน่ายกย่อง เช่นเดียวกับโรงเรียนนานาชาติระดับแนวหน้าของโลกที่มีให้เลือกมากมาย ทั้งยังมีสถานที่ทางวัฒนธรรมและท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและงดงามที่สุดในโลกหลายแห่ง ตลอดจนมีอาหารที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเลิศรส ไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะอยู่แบบเพียงคนเดียวหรือเป็นครอบครัว

ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงกฎระเบียบที่เป็นมิตรกับธุรกิจผ่านการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 กิจการของสหรัฐฯ ในไทยชื่นชมรัฐบาลไทยเป็นเสียงเดียวกันว่ามีความยืดหยุ่นในการอนุญาตให้โรงงานผลิตสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่น ในขณะที่อีกด้านก็บังคับใช้มาตรการสาธารณสุขที่เข้มข้นเพื่อชะลออัตราการติดเชื้อ ธุรกิจอเมริกันยังแสดงความประทับใจที่รัฐบาลไทยได้แจ้งข้อบังคับใหม่ล่วงหน้า ส่งผลให้สามารถวางแผนสำรองได้อย่างเหมาะสม ราชอาณาจักรไทยดำเนินการในแง่มุมเหล่านี้ได้อย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับชาติอื่นในเอเชีย

“ผมขอชมเชยรัฐบาลไทยที่ให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนต่าง ๆ ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทั้งยังมอบสิทธิประโยชน์ที่สร้างแรงจูงใจสำคัญให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งนี้บรรดาบริษัทในโครงการดังกล่าวมีข้อได้เปรียบในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของทวีปเอเชีย

นับตั้งแต่ที่ผมได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่มาจากภาคเอกชนเป็นคนแรก ผมได้หารืออย่างกว้างขวางกับธุรกิจทั้งของสหรัฐฯ และไทย เพื่อหาวิธีที่เราจะสามารถกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของสองประเทศได้ ณ ช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์นี้ ขณะที่ทั่วโลกต่อสู้กับผลที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 สหรัฐฯ ต้องการเห็นไทยคว้าโอกาสที่จะได้ส่วนแบ่งในห่วงโซ่อุปทานโลกที่ไทยสมควรจะได้รับ”

ที่มา (อ่านฉบับเต็ม เว็บไซต์ https://th.usembassy.gov/th/safe-reliable-secure-and-cost-effective-supply-chains-belong-in-thailand-th/)