ประชาธิปไตยในธรรมศาสตร์
ดร. เวทิน ชาติกุล นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ชื่อว่าก่อตั้งโดยรัฐบุรุษประชาธิปไตยปรีดี พนมยงค์
ด้วยเหตุผลข้างต้น ถ้าจะคาดหวังความเป็นประชาธิปไตยจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัย คงไม่ผิดที่สังคมจะคาดหวังว่านักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะต้องมีสำนึกของประชาธิปไตยมากกว่าที่อื่น
ว่าแต่ว่า สำนึกของความเป็นประชาธิปไตย ที่ว่านั้นคืออะไร นั่นคือประเด็นคำถาม
ที่ต้องถามเพราะปรากฏเรื่องราวในโซเซียลมีเดีย เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2562 นายกฯองค์กรนักศึกษาธรรมศาสตร์และทีมงานให้เกียรติมาเป็นแขกในงานเปิดตัวของสถาบันทิศทางไทย
แต่เพียงไม่ทันข้ามคืนก็ถูกเพื่อนนักศึกษาที่สนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ที่เชิดชูประชาธิปไตยเอาไปโพสต์ประจานทำนองว่า “เอาชื่อธรรมศาสตร์ไปแสดงความโง่เขลา” (ในข้อความจริงคือ ignorance) ราวกับว่าไปสนับสนุนพวกที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายประชาธิปไตยกระนั้น
เพียงเพราะมีรูปน้องนักศึกษาผู้นั้น นั่งติดกับ คุณกรณ์ จาติกวนิช และ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แค่นั้น…
แล้วบรรดานักศึกษาคนอื่นก็เข้าไปรุมถล่ม ด่าว่า ประชดประชัน ต่างๆนานา
ซึ่งก็แปลกดี เพราะถ้าแค่บอกว่านั่งติดกัน โอเค น้องธรรมศาสตร์อาจไม่ชื่นชอบคุณสุเทพในฐานะที่เคยเป็นแกนนำ กปปส. แต่สำหรับคุณกรณ์นั้นต้องบอกว่าถ้าใครติดตามความคิดของคุณกรณ์มาโดยตลอดก็จะชัดเจนว่าคุณกรณ์นั้นเปิดหน้าชัดเจนว่าเป็นผู้สนับสนุนหลักการประชาธิปไตย และแทบจะเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมด้วย แต่ไฉนการอยู่ใกล้คุณกรณ์จึงถูกนักศึกษาธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยไปเสียนี่
ตรงนี้แหละที่เป็นที่สงสัยว่า ประชาธิปไตย ของน้องนักศึกษาธรรมศาสตร์คืออะไรกันแน่?
การไปกากะบาด คาดหัว ติดฉลากตรา ว่าคนนี้เป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ตกลงแล้วเป็นประชาธิปไตยตรงไหน?
ทีนี้มาดูภายในงาน สถาบันทิศทางไทยไม่ใช่องค์กรการเมือง แต่พร้อมยินดีสนับสนุนแลกเปลี่ยน พูดคุยกับพรรคการเมืองทุกพรรค หรือนักการเมืองทุกคน ที่มีความคิดและความเข้าใจทิศทางของประเทศไทยตรงกัน แม้จะเพียงเสี้ยวส่วนเดียวก็ตาม ดังปรากฏในข่าวที่ พี่ต้อย สนธิญาณ ประธานกรรมการสถาบันทิศทางไทย บอกว่า
“…วันนี้ไม่อยากเห็นประเทศไทยนำไปสู่การปะทะ หลังๆได้พูดคุยกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ บ่อยขึ้น คุยเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่าบ้านเมือง ควรจะเป็นไปในทิศทางไหน นี่ก็เป็นแรงบันดาลใจอันหนึ่ง…”
และที่ “ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา” องค์ปาฐกในวันนั้นระบุว่า
“…การพัฒนาประเทศไทย สำหรับค่อนข้างยินดีสถาบันทิศทางไทย ซึ่งปัจจุบันการบริหารการปกครองของไทยใช้เอกลักษณ์ของรัฐไทย คือการปกครองที่มีบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นการปกครองที่มีลักษณะแบ่งออกเป็น3ด้าน คือการบริหารภายใต้รัฐบาล พัฒนาประเทศ อาศัยการออกกฎหมาย ส่วนที่2รัฐสภา และส่วนที่การให้เกิดความยุติธรรมผ่านศาล เราต้องยึดมั่น สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่สูงสุดแต่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่าแล้วสอดคล้องกับสถาบันทิศทางไทย…
…ถ้าเราแก้ปัญหาในแนวทางที่ถูกต้อง ให้พลเมืองเรารวมตัวกันที่จะเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง เรามีศักยภาพที่จะทำอะไรดีๆให้กับประเทศเราได้แน่นอน คือ ประเทศไทยได้ก้าวหน้ามาเยอะ อย่างเช่น ผมได้เคยศึกษาถึงธนาคารโลก มี 13 ประเทศในโลกและไทยเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศ ที่ได้ก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารโลกศึกษามา 13 ประเทศมีความเจริญก้าวหน้ามองในแง่ความเติบโตของจีดีพี เว้นปี 2540 แต่เราก็มีปัญหาใหญ่ที่ยังอยู่กับเรา คือ 1.ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 2.ปัญหาสิ่งแวดล้อม 3.ปัญหาความเสื่อมทางจริยธรรมของคน อันนี้ผมคิดว่าตรงกับสิ่งที่สถาบันทิศทางไทยที่ต้องการ นี่คือจิตใต้สำนึกและแรงบันดาลใจในการมาแก้ปัญหาของประเทศในปัจจุบันเพื่อเดินไปสู่อนาคต อย่างยั่งยืนและมั่นคง…”
ในวันนั้นไม่มีการพูดเรื่องประเด็นการเมือง การแบ่งแยกฝักฝ่าย พวกมึง พวกกู มีแต่พูดถึงความร่วมมือที่จะนำพาประเทศชาติไปให้รอดจากมรสุมที่ใหญ่โตกว่าที่จะคิดแก้ได้ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ หรือ เรียกร้องประชาธิปไตยไล่เผด็จการ
เพราะสถาบันทิศทางไทยเน้นย้ำการสร้างปัญญาที่เป็นสัมมาทิฐิ ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฐิ คือ ปัญญาที่จุดประกายความคิด เพื่อให้เกิดต่อยอดความคิด ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ
หรือดังที่ ดร.สุวินัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการของสถาบันบอกว่า
“…การต่อสู้ทางความคิดกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกัน…
…เราเป็นคู่ต่อสู้ทางความคิดกันนั้นเรื่องจริงแน่นอน แต่ทางเรา(สถาบันทิศทางไทย)ไม่มองว่าทางคุณเป็น”ศัตรู” มันคนละเรื่องกัน และอย่าให้พวกเราต้องทำตัวเหมือนเป็นศัตรูกันเลย การต่อสู้กันทางความคิดเป็นสิ่งดี ถ้าสู้กันทางความคิดอย่างแฟร์ๆทั้งสองฝ่าย…
…นี่มิใช่สิ่งที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยดอกหรือ…
…แต่การเป็นศัตรูกันมันไม่ใช่มันจะล้ำเส้นไปกว่านั้นอย่างมากมายเลย ซึ่งเราไม่ควรเลยเถิดไปสู่จุดนั้น…”
หรือถ้าเพื่อนมาฟังแบบนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยอีก ต้องทำเรื่องแบบไหนถึงจะเป็นประชาธิปไตย
แบบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์โดยกลุ่มนักศึกษาที่ได้ชื่อว่าทำกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยทำกันเองหรือ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย เหมือนกรณีซ้ำซาก
22 สิงหาคม 2560 กรณีนักศึกษาคณะ นิติศาสตร์ ออกมาร้องเรียนต่อมหาวิทยาลัยและสื่อว่าถูกนักกิจกรรมใน “กลุ่มนักกิจกรรมธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” ข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งรุ่นพี่ที่ออกมาปกป้องน้องกลับถูกมองอย่างรังเกียจเดียดฉันท์ราวกับทำผิดเสียเอง เพราะไม่ปกป่องเพื่อนด้วยกัน(ที่ทำเลว)
หรือ
29 กันยายน 2562 มีข่าวนักศึกษาสาว ม.ธรรมศาสตร์ ถูกข่มขืน โดยเธอออกมาเปิดโปงว่าตนเองถูกนักศึกษาชายผู้ก่อเหตุเป็นสมาชิกพรรคโดมปฏิวัติข่มขืน ซึ่งพรรคนี้เป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย จนเป็น#อันดับหนึ่ง #จับโป๊ะโดมปฏิวัติ ซึ่งเมื่อเธอไปแจ้งกับพรรค ทางพรรคกลับไม่มีการดำเนินการอะไร เพราะฝ่ายชายที่ก่อเหตุทำงานในพรรคดี
อยากอัญเชิญวิญญาณของรัฐบุรุษประชาธิปไตยอย่าง อาจารย์ปรีดี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมาตัดสินเหมือนกัน ว่า
แบบที่กล้าออกมารับฟัง “ความเห็นต่าง” จากนักศึกษาธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ เพื่อเข้าใจสังคม ให้ถ่องแท้ แม้จะถูกมองจากเพื่อนๆด้วยกันว่า ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม
หรือ
แบบที่อ้างทำกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยไป ข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อนด้วยกัน
แบบไหนที่ควรเป็น ประชาธิปไตยในธรรมศาสตร์